เสียงชาวอเมริกันที่ยังไม่ตัดสินใจ อาจกำหนดผู้ชนะการเลือกตั้งปธน.สหรัฐฯ

  • VOA

แฟ้มภาพ: ประชาชนติดตามการถ่ายทอดสดการโต้อภิปรายเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ และคามาลา แฮร์ริส เมื่อ 10 ก.ย. 2567

ในการนับถอยหลังเดือนสุดท้ายก่อนชาวอเมริกันจะเข้าคูหาเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทั้งโดนัลด์ ทรัมป์ และคามาลา แฮร์ริส ต่างพยายามพุ่งเป้าหาเสียงไปยังผู้มีสิทธิ์กลุ่มเล็ก ๆ ที่บอกว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจว่า จะเลือกผู้ใดในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้

ในเวลานี้ ชาวอเมริกันจำนวนหนึ่งได้ตัดสินใจแล้วว่า ต้องการเห็นใครก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทำเนียบขาวในการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าที่เริ่มขึ้นแล้วในพื้นที่หลายรัฐ

แต่ขณะเดียวกัน ยังมีผู้มีสิทธิ์ออกเสียงจำนวนหนึ่งที่เผยว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจว่า จะกาบัตรเลือกทรัมป์หรือแฮร์ริส

แฟ้มภาพ: คูหาลงคะแนนการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ เมื่อ 8 พ.ย. 2565

แมรีเบ็ธ จิโอวาคคินิ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในนครนิวยอร์ก บอกกับ วีโอเอ ว่า เธอต้องการเข้าใจตัวตนของตัวแทนของทั้งสองพรรคให้มากกว่านี้ และมองว่า ทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้ทำให้ประชาชนรู้จักมากดีพอภายใต้บรรยากาศทางการเมืองในปัจจุบันที่ต่างจากอดีตโดยสิ้นเชิง

ข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนระบุว่า ตัวเลขของผู้มีสิทธิ์ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกใครนั้นคิดเป็นสัดส่วนราว 3% ของคณะผู้แทนเลือกตั้งปธน.

จอห์น จอห์นสัน นักวิชาการจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมาร์เค็ต (Marquette University) ให้ความเห็นว่า ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงจำนวนมากยังไม่ได้หันมาสนใจการเลือกตั้งครั้งนี้มากนัก

จอห์น จอห์นสัน นักวิชาการจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมาร์เค็ต

จอห์นสันคิดว่า ถ้าจะมีการลองสุ่มเดินไปถามผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใครในตอนนี้ คำตอบที่จะได้กลับมาก็คือว่า ไม่ทราบ เพราะไม่ได้ติดตามการเมืองมากนัก ขณะที่ ผู้ที่อยู่ในแถบตะวันตกตอนกลางของสหรัฐฯ (มิดเวสต์) อาจไม่อยากบอกว่า จะเลือกใครและอาจเลี่ยงตอบด้วยการบอกว่า “ไม่รู้” ก็เป็นได้

ทาทิเช นเททา อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ (University of Massachusetts) ให้ความเห็นกับ วีโอเอ ด้วยว่า การหาเสียงเลือกตั้งของทั้งแฮร์ริสและทรัมป์นั้นต่างกำลังมุ่งหน้าไปยังกลุ่มที่บอกว่า “ยังไม่ตัดสินใจ” อย่างหนัก

ทาทิเช นเททา อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์

อาจารย์นเททากล่าวว่า จำนวนผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใครนั้นหดลงเรื่อย ๆ แล้ว และคนส่วนใหญ่น่าจะตัดสินใจได้ก่อนวันเลือกตั้ง ดังนั้นสิ่งที่จะส่งผลต่อทิศทางการเลือกตั้งก็คือ การเคลื่อนพลของทั้งพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อดึงคะแนนจากผู้มีสิทธิ์ในสภาพการณ์แข่งขันที่สูสีกันอย่างสุด ๆ ในครั้งนี้

อย่างไรก็ดี ดาร์เรลล์ เวสต์ นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันบรู๊กกิงส์ (Brookings Institution) กล่าวว่า ทั้งทรัมป์และแฮร์ริสต่างกำลังเผชิญความท้าทายที่ต่างกันในการทำให้ชาวอเมริกันเทคะแนนให้ตน

ภาพผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้า ในวันที่ 2 ของการเปิดให้มีการลงคะแนนล่วงหน้าสำหรับการเลือกตั้งปธน.ปี 2024 ที่นครชิคาโก เมื่อ 4 ต.ค. 2567

เวสต์บอกกับ วีโอเอ ว่า ทรัมป์ต้องทำให้ชาวอเมริกันเชื่อว่า ตนเป็นคนที่เคารพกฎหมาย ไม่ได้เป็นคนบ้าหรือชอบความวุ่นวาย ขณะที่ แฮร์ริสซึ่งมีประสบการณ์น้อยกว่าต้องทำให้ผู้มีสิทธิ์เชื่อว่า เธอผู้ที่นำเสนอนโยบายเสรีที่ไม่สุดโต่งมากนักเมื่อเทียบกับเมื่อตอนเข้ารับตำแหน่งรองประธานาธิบดีใหม่ ๆ คือ คน ๆ เดียวกับที่ชาวอเมริกันจะได้เห็น ถ้าเธอได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี

ส่วน จอห์น จอห์นสัน นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมาร์เค็ต กล่าวเสริมว่า ทรัมป์ที่ชาวอเมริกันรู้จักดีกว่านั้นก็มีทั้งข้อได้เปรียบและความเสียเปรียบในการดึงคะแนนเสียงจากผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจ

จอห์นสันกล่าวว่า เพราะโดนัลด์ ทรัมป์ หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ประชาชนส่วนใหญ่จึงจำภาพของเขาได้ดี ทำให้เหลือสัดส่วนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเพียงหลักเดียวที่ทั้งสองพรรคต้องเร่งทำงานอย่างหนักเพื่อดึงให้คนกลุ่มนี้ลงคะแนนให้

นั่นเป็นเพราะ ตัวเลขผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจที่ว่ากันว่า มีเพียงไม่มากนี้ คือ ปัจจัยที่อาจจะชี้ชะตาว่า ใครจะเป็นผู้ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลังวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ ในพื้นที่รัฐที่เรียกว่า swing state หรือรัฐที่ทั้งสองพรรคมีโอกาสคว้าชัยชนะซึ่งการแข่งขันระหว่างสองผู้ท้าชิงนั้นยังคู่คี่แบบหายใจรดต้นคอกันอยู่

  • ที่มา: วีโอเอ