ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รัฐสมรภูมิเลือกตั้งปธน.สหรัฐฯ กังวลหนัก หลังกต.สั่งเปลี่ยนกฎนับคะแนน


เวโรนิกา จอห์นสัน (ยืนกลางห้อง) ผู้อำนวยการเลือกตั้งและลงทะเบียนเขตลีเคาน์ตี ทำการฝึกอบรมการฝึกนับบัตรเลือกตั้ง เมื่อ 2 ต.ค. 2567
เวโรนิกา จอห์นสัน (ยืนกลางห้อง) ผู้อำนวยการเลือกตั้งและลงทะเบียนเขตลีเคาน์ตี ทำการฝึกอบรมการฝึกนับบัตรเลือกตั้ง เมื่อ 2 ต.ค. 2567

เหลือเวลาอีกไม่กี่สัปดาห์ ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2024 จะเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่จัดการเลือกตั้งของรัฐจอร์เจีย ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐสมรภูมิสำคัญที่อาจตัดสินว่า ใครจะเป็นผู้นำทำเนียบขาวคนใหม่ กำลังฝึกนับบัตรคะแนนด้วยมือ ท่ามกลางความกังวลว่า กระบวนการที่ว่าจะนำมาซึ่งผลเสียต่อความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้งยิ่งกว่าเดิม ตามรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี

เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา คณะกรรมการจัดการเลือกตั้งของรัฐจอร์เจียที่มีผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ควบคุมอยู่ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เขตทุกเคาน์ตีต้องทำการนับบัตรคะแนนเลือกตั้งด้วยมือ ซึ่ง เวโรนิกา จอห์นสัน ผู้อำนวยการเลือกตั้งและลงทะเบียนเขตลีเคาน์ตีที่เป็นผู้ดูแลการฝึกนับครั้งนี้ บอกว่า กระบวนการดังกล่าวไม่น่าจะเป็นปัญหาหนักด้านการทำงานในเขตของเธอ

แต่ในความเป็นจริง ประเด็นด้านโลจิสติกส์ไม่ใช่เรื่องเดียวที่หลายฝ่ายกังวล

เจ้าหน้าที่รัฐจอร์เจียทั้งที่สนับสนุนพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตต่างพูดเป็นเสียงเดียวว่า การนับบัตรลงคะแนนด้วยมือนั้นไม่ใช่เรื่องจำเป็นเลย เพราะมีเครื่องนับรอใช้งานอยู่แล้ว และการใช้วิธีนี้อาจยิ่งทำให้ประชาชนยิ่งไม่เชื่อใจเพราะเป็นกระบวนการที่ช้าและเปิดโอกาสทิ้งช่วงให้มีการกระพือข่าวสารข้อมูลปลอมได้ หากมีการนับผิดเกิดขึ้น

การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นประเด็นที่ถูกจับตาดูมากที่สุดในรัฐที่โดนัลด์ ทรัมป์ แคนดิเดตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกันถูกล่าวหาว่า พยายามเปลี่ยนผลการเลือกตั้งในปี 2020 เมื่อสั่งการให้เจ้าหน้าที่รัฐ “หา” คะแนนเสียงเพิ่มเพื่อมาพลิกผลให้ตนเป็นฝ่ายได้ชัย แทนที่จะเป็นประธานาธิบดีโจ ไบเดน

จอร์เจียมีเขตปกครองทั้งหมด 159 เคาน์ตี้ และผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งถึง 72% ของเขตลีเคาน์ตีลงคะแนนให้ทรัมป์เมื่อ 4 ปีที่แล้ว คล้าย ๆ กับกรณีของเขตที่อยู่ห่างไกลเมืองของรัฐนี้

เวโรนิกา จอห์นสัน ผู้อำนวยการเลือกตั้งและลงทะเบียนเขตลีเคาน์ตี ยืนพูดคุยที่หน้าเรื่องนับบัตรคะแนนเลือกตั้ง ขณะมีการฝึกอบรบการนับบัตรด้วยมือ เมื่อ 3 ต.ค. 2567
เวโรนิกา จอห์นสัน ผู้อำนวยการเลือกตั้งและลงทะเบียนเขตลีเคาน์ตี ยืนพูดคุยที่หน้าเรื่องนับบัตรคะแนนเลือกตั้ง ขณะมีการฝึกอบรบการนับบัตรด้วยมือ เมื่อ 3 ต.ค. 2567

ในส่วนของกระบวนการนับคะแนนด้วยมือนั้น เจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการเลือกตั้งที่เข้าร่วมการฝึกนับมือนั้นจะถูกส่งไปประจำเขตเลือกตั้งทั้งหมด 10 เขตของจอร์เจียในวันที่ 5 พฤศจิกายน

แต่ ซึ่ง เวโรนิกา จอห์นสัน ผู้อำนวยการเลือกตั้งและลงทะเบียนเขตลีเคาน์ตี ไม่แน่ใจว่า จะมีการบังคับใช้เจ้าหน้าที่ให้ทำการนับคะแนนด้วยมือจริงหรือไม่ หากพิจารณาความน่าจะเป็นของการฟ้องร้องที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเครื่องนับคะแนนนั้นจะทำการนับบัตรทั้งหมด 3 ครั้งอยู่แล้ว

จอห์นสัน กล่าวว่า “ด้วยความสัตย์จริงเลย ผู้อำนวยการการเลือกตั้งทุกคนที่ดิฉันรู้จักล้วนต้องการทำหน้าที่รับใช้ประชาชนและไม่ต้องการดึงไปร่วมประเด็นวุ่นวายทางการเมืองใด ๆ

แบรด ราฟเฟนสเปอร์เกอร์ เลขานุการรัฐจอร์เจียที่สังกัดพรรครีพับลิกัน กล่าวเสริมว่า “นักเคลื่อนไหวที่พยายามทำให้มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการเลือกตั้งในช่วงโค้งสุดท้าย” มีแต่จะ “บ่อนทำลายความเชื่อมั่นของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งและสร้างภาระให้กับเจ้าหน้าที่เลือกตั้ง” ขณะที่ อัยการรัฐจอร์เจียที่สังกัดพรรครีพับลิกันเช่นกันกล่าวไว้ว่า กฎใหม่ที่ว่านี่น่าจะผิดกฎหมาย

ทั้งคณะกรรมการแห่งชาติพรรคเดโมแครต (Democratic National Committee) และสำนักงานพรรคเดโมแครตประจำรัฐจอร์เจียได้ยื่นเรื่องฟ้องศาลให้มีคำสั่งห้ามบังคับใช้กฎใหม่นี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และทีมงานหาเสียงของคามาลา แฮร์ริส ผู้แทนพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็ออกโรงสนับสนุนการเคลื่อนไหวนี้ด้วย

กฎใหม่ที่ว่านี้ได้รับเสียงสนับสนุน 3 ต่อ 2 ในการลงมติของคณะกรรมการเลือกตั้งรัฐจอร์เจียที่มีผู้สนับสนุนทรัมป์กุมเสียงข้างมากอยู่ โดยก่อนหน้านั้นในเดือนสิงหาคม คณะกรรมการชุดนี้เพิ่งออกกฎใหม่ให้คณะกรรมการเลือกตั้งในระดับเคาน์ตีทำการ “ตรวจสอบอันสมเหตุสมผล” ก่อนจะรับรองผลนับคะแนนอย่างเป็นทางการด้วย

เจ้าหน้าที่เลือกตั้งเขตลีเคาน์ตีตรวจสอบหาลายน้ำบนบัตรเลือกตั้ง ระหว่างร่วมการฝึกอบรบเมื่อ 2 ต.ค. 2567
เจ้าหน้าที่เลือกตั้งเขตลีเคาน์ตีตรวจสอบหาลายน้ำบนบัตรเลือกตั้ง ระหว่างร่วมการฝึกอบรบเมื่อ 2 ต.ค. 2567

แต่กฎดังกล่าวก็กลายมาเป็นประเด็นฟ้องร้องในศาลเช่นกัน โดยผู้ที่ไม่เห็นด้วยแสดงความกังวลเกี่ยวกับนิยามของคำว่า “อันสมเหตุสมผล” ที่ว่ามีความคลุมเครือ

มิทเชลล์ บราวน์ ผู้อำนวยการโครงการบริหารการเลือกตั้งจากมหาวิทยาลัยออเบิร์น (Auburn University) ในรัฐแอละแบมา บอกกับเอเอฟพีว่า กฎที่ว่านั้นไม่มีความจำเป็นเลย เมื่อพิจารณาดูแล้วว่า เจ้าหน้าที่จัดการเลือกตั้ง “มีการประชุมกันเป็นประจำเพื่อทำการตรวจสอบเอกสารและข้อมูลทั้งหลายร่วมกับหน่วยงานรับรองผลการเลือกตั้งอยู่แล้ว” พร้อมชี้ว่า “คำถามที่น่าสนใจและสำคัญยิ่งกว่าสำหรับผมคือ จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหน่วยรับรองผลไม่ยอมรับรองผลเลือกตั้ง?”

  • ที่มา: เอเอฟพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG