ยูเอ็นเร่งเร้า 'ทรัมป์' หยิบประเด็นสิทธิมนุษยชน หารือ 'คิม จอง อึน'

Your browser doesn’t support HTML5

ยูเอ็นเร่งเร้า 'ทรัมป์' หยิบประเด็นสิทธิมนุษยชน หารือ 'คิม จอง อึน'

ผู้แทนด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ กล่าวว่า ควรมีการหยิบยกประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนขึ้นมาหารือในการเจรจาสุดยอดระหว่าง ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ กับผู้นำ คิม จอง อึน ที่สิงคโปร์ ในสัปดาห์หน้าด้วย ซึ่งจะช่วยให้เกาหลีเหนือสามารถแสดงให้ทั่วโลกได้เห็นถึงความตั้งใจที่แน่วแน่ที่จะกลับคืนสู่ประชาคมโลก

เวลานี้เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ ต่างกำลังทำงานหนักเพื่อวางโครงร่างของการประชุมสุดยอดครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ กับผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน ซึ่งจะมีขึ้นที่โรงแรมคาเปลลา บนเกาะเซนโตซาของสิงคโปร์ ในวันอังคารที่ 12 มิถุนายนนี้ โดยสิงคโปร์ ถือเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตทั้งกับสหรัฐฯและเกาหลีเหนือ

ประเด็นสำคัญของการหารือครั้งนี้ คือแนวทางในการปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ เพื่อลดความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีและแถบเอเชียแปซิฟิกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สืบเนื่องจากการทดสอบนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนืออย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ผู้ตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ โทมัส โอเจีย (Tomas Ojea) กล่าวกับ VOA ว่า ที่ผ่านมาสหรัฐฯ มีจุดยืนที่เข้มแข็งมาตลอดเกี่ยวกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือ ซึ่งทางสหประชาชาติต้องการเห็น ปธน.ทรัมป์ หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมากล่าวกับผู้นำคิม ระหว่างการเจรจาครั้งสำคัญนี้ด้วย

โทมัส โอเจีย ระบุว่า หากไม่มีการพูดถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือ ก็ถือเป็นความผิดพลาดในส่วนของการต่อรองเพื่อขอให้เกาหลีเหนือแก้ไขปัญหานี้พ่วงไปกับการปลดอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งอาจมีผลให้ข้อตกลงที่จะเกิดขึ้นนั้น ไม่สามารถจัดการกับปัญหาในเกาหลีเหนือได้ในระยะยาว

เจ้าหน้าที่สหประชาชาติผู้นี้ ชี้ว่า ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนไม่ได้ถูกนำมาพูดถึง ทั้งในการจัดทำโครงร่างข้อตกลงเพื่อระงับโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเมื่อ 25 ปีที่แล้ว และการเจรจาหกฝ่ายว่าด้วยนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเมื่อ 15 ปีก่อน ซึ่งทำให้การเจรจาที่ผ่านมานั้น ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

ผู้ตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ โทมัส โอเจีย ระบุว่า ประเด้นด้านสิทธิมนุษยชน ความมั่นคง และสันติภาพ ล้วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันและกัน ดังนั้นการเจรจาที่มุ่งเน้นไปที่สันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลีครั้งนี้จึงไม่ควรมองข้ามเรื่องสิทธิมนุษยชนไป

ที่ผ่านมา เกาหลีเหนือได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประวัติด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายที่สุดในโลก โดยทางยูเอ็นกล่าวหาว่า รัฐบาลกรุงเปียงยางได้สังหาร ทำทรมาน จับกุมคุมขัง และบังคับใช้แรงงานนักโทษทางการเมืองจำนวนมาก ซึ่งอาจมากกว่า 1 แสนคน ซึ่งบางกรณีอาจเข้าข่ายการก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติได้เช่นกัน

(ผู้สื่อข่าว Lisa Schlein รายงานจากนครเจนีวา / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)