ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์และเรื่องเกาหลีเหนือ ส่วนใหญ่เชื่อว่า นายคิม จอง อึน คงจะยอมยกเลิกโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของตนเพียงบางส่วน และมุ่งใช้ประโยชน์จากการเจรจาสุดยอดกับสหรัฐฯ เพื่อลดมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ
โดยนายเดวิด อัลไบรท์ อดีตเจ้าหน้าที่ตรวจสอบอาวุธของสหประชาชาติ ซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์เรื่องอาวุธนิวเคลียร์ของสถาบันวิทยาศาสตร์และความมั่นคงระหว่างประเทศ ชี้ว่า เกาหลีเหนือได้เข้าสู่โต๊ะเจรจาเรื่องนี้มาสองครั้งแล้ว แต่ไม่เคยตั้งใจจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวเลย
ส่วนนายดักลาส พาอับ จากสถาบันคาเนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ ก็เชื่อว่า เปียงยางอาจยอมตกลงในหลักการระหว่างการเจรจาเพื่อลดอาวุธนิวเคลียร์ของตนลงบางส่วน แต่ก็จะหาข้อแก้ตัวเพื่อถ่วงกระบวนการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการผ่อนคลายมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจแล้ว
ทางด้านนายฮาวเวิร์ด สโตเฟอร์ อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการต่อต้านการก่อการร้ายของสหประชาชาติ ให้ความเห็นว่า เกาหลีเหนืออาจยอมตกลงยกเลิกโครงการอาวุธนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์ในที่ประชุม แต่จุดยืนที่แตกต่างระหว่างวอชิงตันกับเปียงยางเรื่องช่วงเวลาของการลดอาวุธ จะเป็นปัญหาในการเจรจาได้
และว่าการเจรจาอาจต้องหยุดชะงักลง หากเปียงยางยืนยันเรื่องการลดอาวุธอย่างเป็นขั้นตอน และเรียกร้องให้สหรัฐฯ ต้องยอมทำตามเงื่อนไขจากฝ่ายตนเช่นกัน เพราะก่อนหน้านี้เกาหลีเหนือได้กล่าวว่าตนต้องการให้กระบวนการลดอาวุธนิวเคลียร์เป็นไปตามขั้นตอนและสอดคล้องกับการปฏิบัติจากฝ่ายสหรัฐฯ ด้วย
ในขณะนี้ กรุงวอชิงตันมีจุดยืนต้องการให้เกาหลีเหนือยกเลิกโครงการอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดโดยทันทีและอย่างรวดเร็วด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่นักวิเคราะห์คนอื่น เช่น นายไมเคิล ฟุคส์ อดีตนักการทูตด้านเอเชียสมัยประธานาธิบดีโอบามา เชื่อว่าคงเป็นสิ่งที่เกาหลีเหนือยอมรับได้ยาก
สำหรับคุณเคน กอส ผู้อำนวยการกิจการระหว่างประเทศของศูนย์วิเคราะห์กิจการกองทัพเรือ ชี้ว่า ผู้นำเกาหลีเหนือรู้ดีว่าการยกเลิกโครงการอาวุธนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์ในลักษณะที่สามารถตรวจพิสูจน์ได้นั้นอาจทำให้ระบบการปกครองของตนต้องล่มสลายลง ดังนั้น นายคิม จอง อึน จึงอาจพยายามซุกซ่อนโครงการส่วนหนึ่งไว้ ในขณะที่ประกาศต่อชาวโลกว่ามีการยกเลิกโครงการนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์แล้ว
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายราฟ คอสซ่า จากศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และการต่างประเทศ ก็มองเช่นกันว่า เกาหลีเหนือจะพยายามรักษาขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์ของตนไว้ส่วนหนึ่ง โดยจะยอมยกเลิกเพียงบางส่วน เพื่อแลกกับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากภายนอก
และเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกัน นายแกรี่ ซามัวร์ ผู้ประสานงานด้านการควบคุมอาวุธอานุภาพทำลายร้ายแรงสมัยประธานธิบดีโอบามา ก็เสริมว่าเราเคยเห็นยุทธศาสตร์การเจรจาแบบตั้งเงื่อนไขแลกเปลี่ยนของเกาหลีเหนือมาก่อนแล้ว ดังนั้นจึงยากที่จะเชื่อว่านายคิม จอง อึน ตั้งใจอย่างจริงจังในครั้งนี้ เพราะถึงแม้ผู้นำเกาหลีใต้จะบอกว่านายคิม จอง อึน ไม่เหมือนผู้นำเกาหลีเหนือรุ่นก่อนๆ ก็ตาม แต่เรายังไม่เคยเห็นหลักฐานอะไรอย่างจิงจังนอกจากคำพูดลอยๆ ของนายคิม จอง อึน เท่านั้นเอง
ส่วนนายอีแวนส์ รีเวียร์ อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ผู้เคยเจรจากับเกาหลีเหนือมาก่อน ก็เตือนว่า เป้าหมายของเกาหลีเหนือคือการเจรจาเรื่องเงื่อนไขการลดอาวุธอย่างคลุมเครือ และอาจยอมลดจรวดขีปนาวุธข้ามทวีปของตนลง
แต่เป้าหมายท้ายสุดนั้น คือเพื่อบ่อนทำลายความเป็นพันธมิตรระหว่างเกาหลีใต้กับสหรัฐฯ ลง โดยตนไม่เชื่อว่าเกาหลีเหนือมีความสนใจที่จะลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างจริงจัง