'UN' ชี้การผลิตอาหารเพื่อสุขภาพจำเป็นสำหรับทุกคน

FILE - Crystal Dvorak shops at WinCo Foods, May, 7, 2021, in Billings, Mont. Dvorak was getting ingredients to make soup with potatoes and onions she got from a food bank after recently losing her job as an audiologist.

นายอันโตนิโอ กูเทียเรซ เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ หรือ UN (United Nations) กล่าวในการประชุมสูงสุดว่าด้วยระบบอาหาร ซึ่งเป็นการประชุมที่จัดเคียงข้างไปกับการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ว่าครึ่งหนึ่งของประชากรบนโลกไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ในขณะที่บางประเทศนั้นยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการอาหารของประชาชน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ ที่สำคัญในการดำรงชีวิตได้

การประชุมสูงสุดว่าด้วยระบบอาหารของสหประชาชาติ จัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการผลิตและการเข้าถึงอาหารของประชาคมโลก

นายกูเทียเรซยังเผยว่า มีประชากรประมาณ 3 พันล้านคนที่ไม่สามารถซื้อหาหรือจัดหาอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการได้ และมีคนหลายร้อยล้านคน โดยเฉพาะเด็กที่ต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างหิวโหย

ในขณะที่มีหลายร้อยล้านคนต้องหิวโหย และเกิดภาวะอดอยาก ขาดอาหารในบางส่วนของโลก เช่น ในประเทศเยเมน และเอธิโอเปีย แต่กลับพบว่ามีปริมาณอาหารถึงหนึ่งในสามจากการผลิตอาหารในโลกใบนี้ ที่ถูกทิ้งขว้างสูญเสียไป

การประชุมครั้งนี้ พยายามจะทำความเข้าใจทุกด้านของการผลิตอาหารเพื่อทำให้กระบวนการผลิตอาหารเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลอดภัย อุดมโภชนาการ และให้ทุกคนเข้าถึงได้มากขึ้น และยังเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของยูเอ็น 17 ข้อ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “zero hungry” หรือ การกำจัดความหิวโหย นั่นเอง

เลขาธิการยูเอ็นกล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ได้เพิ่มความท้าทายโดยการทำให้มีความไม่เท่าเทียมเพิ่มมากขึ้น โควิดยังได้ทำลายเศรษฐกิจ และทำให้คนหลายล้านคนต้องเผชิญกับสภาวะความยากจนที่รุนแรง

นอกจากนี้ ผู้นำประเทศหลายคนที่เข้าร่วมการประชุมในวันพฤหัสบดี ยังได้พูดถึงเรื่องโควิด-19 โดยเฉพาะผู้นำจากกลุ่มประเทศแอฟริกา ซึ่งหลายคนไม่ได้เดินทางมาด้วยตนเองแต่แถลงผ่านทางวีดีโอ

ประธานาธิบดีประเทศแอฟริกาใต้ นายไซริล รามาโฟซา กล่าวในการแถลงผ่านวีดีโอคอลว่า การที่กว่า 82% ของปริมาณวัคซีนในโลกนี้ถูกซื้อไปโดยประเทศร่ำรวย และมีน้อยกว่า 1% ที่อยู่ในมือของประเทศยากจน เป็นการฟ้องถึงการขาดมนุษยธรรมของโลก

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของอัฟริกันรายงานว่ามีประชาชนทวีปแอฟริกาเพียง 4% ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว

ส่วนประธานาธิบดีของซิมบับเว เอ็มเมอร์สัน มนันกากวา กล่าวว่า การกักตุนวัคซีนและการกระจายวัคซีนที่ไม่เท่าเทียมกัน จนนำไปสู่รูปแบบการฉีดวัคซีนที่ไม่สม่ำเสมอทั่วโลกนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ เขายังบอกด้วยว่า vaccine nationalism หรือ ชาตินิยมวัคซีนนั้น มีแต่จะแพ้ภัยตัวเองเพราะไปขัดกับความเชื่อที่ว่า “ไม่มีใครที่จะปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย” เขายังย้ำด้วยว่าทุกคนในโลกสมควรที่จะได้รับการเข้าถึงวัคซีนไม่ว่าจะมาจากประเทศใด ไม่ว่าจะยากจนหรือร่ำรวยก็ตาม