องค์การอนามัยโลก หรือ WHO (World Health Organization) ได้ออกแนวทางใหม่เพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศโลก ที่อาจจะช่วยชีวิตผู้คนได้มากถึงเจ็ดล้านคน ที่ในแต่ละปีต้องเสียชีวิตเนื่องจากมลพิษทางอากาศ
ผู้อำนวยการ WHO เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส เผยว่าการหายใจเอาอากาศสกปรกเข้าไป เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคปอดอักเสบ หรือปอดบวม โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคที่ไม่ติดต่ออื่น ๆ เช่น โรคหัวใจ เส้นเลือดในสมองแตก และมะเร็ง
เกเบรเยซุสยังกล่าวว่า มลภาวะทางอากาศเป็นภัยสุขภาพในทุกประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางที่ประสบกับคุณภาพอากาศที่ย่ำแย่เนื่องจากความแออัดของเมือง การขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และมลพิษทางอากาศในครัวเรือนที่เกิดจากการหุงต้ม การทำความร้อนและการให้แสงสว่าง
ก่อนหน้านี้องค์การอนามัยโลกเคยออกรายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศโลกเมื่อปี ค.ศ.2005 แต่หลังจากนั้นมีหลักฐานใหม่ที่แสดงให้เห็นว่า สุขภาพของมนุษย์ได้รับอันตรายได้จากมลภาวะทางอากาศในปริมาณที่น้อยกว่าที่เชื่อกันในตอนแรก ดังนั้น องค์การอนามัยโลกจึงได้แนะนำให้ลดระดับคุณภาพอากาศสำหรับตัวก่อมลพิษที่สำคัญ 5 ประเภท เช่น ไนโตรเจนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และคาร์บอนมอนอกไซด์
มาเรีย เนรา ผู้อำนวยการแผนกสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และสุขภาพ กล่าวว่า การเปลี่ยนไปใช้พลังงานที่สะอาดให้มากขึ้นจะช่วยส่งเสริมสุขภาพของมนุษย์และช่วยลดผลกระทบของภาวะโลกร้อน เพราะการเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานที่สะอาดและหมุนเวียนได้ จะช่วยลดการปล่อยก๊าสเรือนกระจก แก้ไขต้นตอของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก และช่วยลดมลภาวะทางอากาศ
นอกจากจะช่วยพัฒนาสุขภาพและรักษาชีวิตผู้คนได้แล้ว การลดมลภาวะทางอากาศยังมีข้อดีอย่างมากต่อเศรษฐกิจอีกด้วย
ธนาคารโลก หรือ World Bank คาดการณ์ว่า ค่าใช้จ่ายทั่วโลกเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพที่เกิดจากมลภาวะที่อยู่ในอากาศทั่วไป อยู่ที่ประมาณปีละ 5.7 ล้านล้านดอลลาร์