หน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เปิดเผยในวันศุกร์ว่า มีประชาชนราว 200,000 คนที่เดินทางลี้ภัยสงครามกลางเมืองในซูดานออกนอกประเทศไปแล้ว โดยประมาณ 60,000 คนเลือกที่จะหลบภัยไปยังประเทศแชดที่อยู่ติดกัน
ในการแถลงข่าวรายวันในวันศุกร์ โอลกา ซาร์ราโด โฆษกขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration - IOM) ระบุว่า ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา มีผู้คนราว 30,000 คนเดินทางออกจากซูดานไปยังแชด และมีคนเลือกลี้ภัยผ่านเส้นทางนี้เพิ่มมากขึ้นทุกวันด้วย
นอกจากกรณีผู้ลี้ภัยแล้ว IOM รายงานว่า ประชาชนจำนวน 700,000 คนกลายมาเป็นผู้พลัดถิ่นภายในซูดานในเวลานี้
รายงานสถานการณ์ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นนี้มีออกมาเพียง 1 วัน หลังกองทัพและกองกำลังเคลื่อนที่เร็ว (อาร์เอสเอฟ) ของซูดานลงนามในข้อผูกพันการจัดตั้งแนวทางปฏิบัติเพื่อเปิดทางให้มีการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปประเทศนี้
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ รายหนึ่งที่มีส่วนร่วมในการเจรจาดังกล่าวชี้ว่า ข้อผูกพันที่เพิ่งมีการลงนามไปไม่ได้มีเงื่อนไขการหยุดยิง
ขณะเดียวกัน โวลเกอร์ เพิร์ธส ผู้แทนพิเศษของยูเอ็นประจำซูดาน กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวผ่านระบบวิดีโอคอลล์ ว่า การเจรจาประเด็นหยุดยิงนั้นน่าจะเกิดขึ้นภายในวันเสาร์นี้ และว่า ส่วนที่สำคัญที่สุดของข้อตกลงที่เพิ่งจัดทำไปก็คือ การที่คู่กรณีในสงครามกลางเมืองนี้มุ่งมั่นที่จะเดินหน้าพูดคุยกันต่อไป
ส่วน เจมส์ เอลเดอร์ โฆษกของกองทุนเพื่อเด็กของยูเอ็น เปิดเผยว่า โรงงานแห่งหนึ่งในกรุงคาร์ทูมที่ผลิตอาหารพร้อมรับประทานเพื่อการรักษา (therapeutic food) สำหรับเด็กที่ประสบภาวะขาดสารอาหารขั้นรุนแรงที่สุดเพิ่งถูกเผามอดเป็นจุณไป โดยไฟนั้นยังได้ทำลายอาหารดังกล่าวจำนวน 14,500 หีบซึ่งเพียงพอที่จะช่วยชีวิตเด็กถึง 14,500 คนได้ 6-8 สัปดาห์
ข้อตกลงว่าด้วยความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
ข้อตกลงที่กองทัพและอาร์เอสเอฟลงนามในช่วงค่ำของวันพฤหัสบดีที่นครเจดดาห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความมั่นใจว่า พลเรือนจะได้รับการปกป้องคุ้มครอง โดย “จะมีการเปิดทางให้พลเรือนออกจากพื้นที่ที่มีการทำสงครามอยู่ด้วยความสมัครใจ ผ่านเส้นทางที่ตนเป็นผู้เลือก”
นอกจากนั้น ข้อตกลงนี้ยังบังคับให้ทั้งสองฝ่ายยอมรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เปิดทางให้มีการซ่อมแซมฟื้นฟูระบบไฟฟ้า น้ำประปา และสาธารณูปโภคอื่น ๆ รวมทั้ง ถอนกำลังออกจากโรงพยาบาลต่าง ๆ และยอมให้มี “การจัดงานศพที่ให้ความเคารพ” แก่ผู้เสียชีวิตด้วย
เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจากล่าวว่า “เรามีความหวัง อย่างระมัดระวัง ว่า การยินยอมลงนามในเอกสารนี้ของทั้งสองฝ่ายจะนำมาซึ่งพลวัตบางอย่างที่จะบีบให้พวกเขาต้องสร้างพื้นที่ว่าง” สำหรับการจัดส่งเสบียงความช่วยเหลือ แม้ว่า เจ้าหน้าที่รายนี้จะยอมรับว่า ทั้งสองฝ่ายยังคง “ยืนอยู่ห่างคนละฝั่งอย่างมาก”
กลุ่มแวกเนอร์ยัน ไม่ได้เข้าร่วมสงครามกลางเมืองซูดาน
และขณะที่การสู้รบระหว่างกองทัพและกองกำลังอาร์เอสเอฟเดินหน้าต่อไปอยู่นี้ หลายฝ่ายยังคงแสดงความกังวลว่า กลุ่มแวกเนอร์ องค์กรทหารรับจ้างที่กำลังช่วยรัสเซียทำการรบในยูเครนอยู่จะเข้ามามีส่วนร่วมในเหตุขัดแย้งในซูดาน หลัง แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ และเจ้าหน้าที่รัฐบาลอื่น ๆ หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดเมื่อไม่นานมานี้
แต่ในวันพฤหัสบดี เยฟเกนี พริโกชิน หัวหน้ากลุ่มแวกเนอร์ ได้ออกมายืนยันว่า ทางกลุ่มไม่ได้เข้าร่วมต่อสู้ในซุดาน โดยระบุในคลิปวิดีโอที่โพสต์ผ่านแอปพลิเคชั่นเทเลแกรมว่า “แวกเนอร์ไม่ได้เข้าไปในซูดาน” และว่า “แวกเนอร์เคยเข้าร่วมกิจการการเมืองภายในประเทศของซูดานตั้งแต่การลงจากตำแหน่งของโอมาร์ อัล-บะเชียร์”
อัล-บะเชียร์ คือ อดีตประธานาธิบดีซูดานที่ถูกโค่นอำนาจจากการก่อรัฐประหารโดยกองทัพในปี ค.ศ. 2019
แต่ไม่ว่ากลุ่มแวกเนอร์จะเข้าร่วมรบด้วยหรือไม่ สถานการณ์ในซูดานมีแต่จะย่ำแย่ลงทุกวัน โดยองค์การอนามัยโลกเปิดเผยว่า มีผู้เสียชีวิตเพราะความขัดแย้งนี้แล้วกว่า 600 คน และประชาชนอีกว่า 5,000 คนได้รับบาดเจ็บด้วย
- ข้อมูลบางส่วนมาจาก เอพี รอยเตอร์และเอเอฟพี