Your browser doesn’t support HTML5
เลขาธิการสหประชาชาติ แอนโตนิโอ กูเตียเรซ แสดงความกังวลต่อวิกฤตการณ์ชาวมุสลิมโรฮิงจาในรัฐยะไข่ของเมียนมาร์ และเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมาร์เร่งจัดการรากเหง้าของปัญหานี้ หลังจากที่มีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงจาราว 730,000 คนเดินทางมายังชายแดนบังกลาเทศตั้งแต่ปีที่แล้ว
นายแอนโตนิโอ กูเตียเรซ เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวต่อที่ประชุมผู้นำสมาชิกอาเซียนในวันอาทิตย์ เกี่ยวกับความกังวลของประชาคมโลกที่มีต่อสถานการณ์ความรุนแรงต่อชาวมุสลิมโรฮิงจา ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในรัฐยะไข่ของเมียนมาร์ รวมถึงสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบากของชาวมุสลิมโรฮิงจาหลายแสนคนซึ่งอพยพไปยังค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ
โดยเจ้าภาพการประชุมอาเซียนครั้งนี้ คือ ประเทศไทย มีแถลงการณ์ร่วมของอาเซียนเกี่ยวกับจุดยืนร่วมกันต่อสถานการณ์ในรัฐยะไข่ โดยที่มิได้ระบุโดยตรงถึงปัญหาความเดือดร้อนของบังกลาเทศในฐานะประเทศที่ต้องรับมือกับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงจาจำนวนมาก และอุปสรรคในการส่งคนเหล่านั้นกลับไปยังเมียนมาร์
แถลงการณ์ดังกล่าวชี้ถึงข้อตกลงแบบกว้าง ๆ ถึงความจำเป็นในการหาแนวทางแก้ไขรากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งที่นำไปสู่วิกฤตการณ์ในรัฐยะไข่ในระยะยาว และสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้ชุมชนต่าง ๆ สามารถกลับไปใช้ชีวิตที่นั่นได้อีกครั้ง
แถลงการณ์ประธานอาเซียนระบุด้วยว่า สมาคมอาเซียนต้องการให้รัฐบาลเมียนมาร์ตั้งคณะกรรมการสืบสวนเพื่อตรวจสอบตามข้อกล่าวหาที่ว่ามีการปราบปรามโดยใช้ความรุนแรงและละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮิงจาในรัฐยะไข่
อย่างไรก็ตาม ทางยูเอ็นและองค์กรสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ปฏิเสธข้อเสนอตั้งคณะกรรมการดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่ายากที่จะมีการตรวจสอบอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม
รายงานของผู้ตรวจสอบของสหประชาชาติ ระบุว่า ทหารเมียนมาร์ได้ใช้กำลังปราบปรามชาวโรฮิงจา รวมทั้งสังหารหมู่ ข่มขืน และเผาบ้านเรือนของพวกเขา ซึ่งเข้าข่ายการสังหารล้างเผ่าพันธุ์
นายแอนโตนิโอ กูเตียเรซ กล่าวว่า เป็นความรับผิดชอบโดยตรงของรัฐบาลเมียนมาร์ในการจัดการกับปัญหานี้ เพื่อให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยและมั่นคงในรัฐยะไข่สำหรับผู้ลี้ภัยเหล่านั้น และว่า รัฐบาลเมียนมาร์ควรอำนวยความสะดวกให้มีการเจรจากับตัวแทนของผู้ลี้ภัย และทำให้พวกเขาเกิดความมั่นใจที่จะกลับไปยังถิ่นที่จากมา นอกจากนี้ควรอนุญาตให้หน่วยงานด้านมนุษยธรรมสามารถเข้าไปในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือคนเหล่านั้นได้ด้วย
ที่ผ่านมา แม้ทางการเมียนมาร์และบังกลาเทศได้มีข้อตกลงส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับประเทศ แต่ชาวโรฮิงจาหลายแสนคนยังคงไม่เดินทางกลับไป เพราะไม่มั่นใจต่อความปลอดภัยของพวกตน ขณะที่มีเสียงวิจารณ์ว่ารัฐบาลเมียนมาร์มิได้แสดงความพร้อมในการรับตัวพวกเขากลับประเทศเช่นกัน
สำหรับมุมมองของสมาชิกอาเซียนที่มีต่อวิกฤตการณ์ในรัฐยะไข่นั้นแตกต่างกันไป โดยสมาชิกส่วนใหญ่ยังคงยึดมั่นในหลักการสำคัญของอาเซียน คือการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิกอื่น แต่มาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ต้องการให้อาเซียนแสดงจุดยืนที่ชัดเจนเพื่อให้แน่ใจว่าจะมีการปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในเมียนมาร์อย่างถูกต้องเหมาะสม