อินโดนีเซียกล่าวว่าจะใช้บทบาทใหม่ในฐานะสมาชิกชั่วคราวของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ ในการทำงานบรรเทาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์
รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย เรตโน มาร์ซูดิ กล่าวว่า อินโดนีเซียกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับการเปลี่ยนจุดยืนของประเทศในความขัดแย้งนี้ ซึ่งขัดกับมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติบางมติว่าด้วยแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์
ในเวลาเดียวกัน ผู้สันทัดกรณีเเนะนำว่ารัฐบาลกรุงจาการ์ตาควรใช้โอกาสนี้ผลักดันประเด็นที่เกี่ยวกับชาวมุสลิมและประเทศกำลังพัฒนาให้มีความเด่นชัดขึ้น
รัฐมนตรีมาร์ซูดิ กล่าวถึง 'สี่ประเด็นหลัก' ที่อินโดนีเซียต้องการให้เกิดความคืบหน้า
ประการแรกคือ เรื่องการสร้างสันติภาพและความมั่นคง สองคือ ส่งเสริมงานที่สามารถร่วมกันทำได้ระหว่างองค์กรในภูมิภาคและคณะมนตรีความมั่นคง ประการที่สาม เกี่ยวกับแผนจัดการภัยก่อการร้ายข้ามชาติ และท้ายสุด คือการสร้างเครือข่ายการเป็นหุ้นส่วนกันระดับนานาชาติ
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ บินตัง ทีมอร์ จาก Center for Strategic and International Studies หรือ CSIS เห็นว่าอินโดนีเซียควรใช้โอกาสนี้ขยายผลงานไปสู่เรื่องที่มีความสำคัญกับประเทศที่มีผลประโยชน์ทางการเมืองคล้ายกับอินโดนีเซีย
ทั้งนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา อินโดนีเซียพร้อมกับอีก 4 ประเทศคือ แอฟริกาใต้ เบลเยียม สาธารณรัฐโดมินิกัน และะเยอรมนี จะได้เป็นสมาชิกชั่วคราวคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ
อาจารย์ ฮิกมาฮานโต จูวานา จาก University of Indonesia กล่าวว่า อินโดนีเซียควรใช้บทบาทใหม่นี้ช่วยสะสางปัญหาวิกฤตการณ์ชาวโรฮิงจะในเมียนมา
เขากล่าวว่า สมาชิกสมาคมประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยพยายามช่วยแก้ไขปัญหานี้ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นอินโดนีเซียควรจะลองผลักดันในเวทีที่ใหญ่กว่าอาเซียน ต่อเนื่องจากงานด้านนี้ที่สหประชาชาติทำอยู่ในปัจจุบัน
ตัวอย่างของแผนผลักดันการแก้ปัญหาชาวโรฮิงจะ คือการเสนอต่อคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติว่า การแทรกแซงใดๆ ในเมียนมาควรทำผ่านอาเซียน และรัฐบาลจาการ์ต้าสามารถโน้มน้าวให้เกิดทางออกด้านมนุยธรรมที่เป็นไปตามบริบทของอาเซียน
นักวิเคราะห์กล่าวว่า การที่อินโดนีเซียมีที่นั่งในคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ จะช่วยให้ทางออกที่อาจเกิดขึ้นในเรื่องนี้ ไม่บั่นบอนผลประโยชน์ของอาเซียน
บินตัง ทีมอร์ จาก CSIS กล่าวว่า อีกประการหนึ่งอินโดนีเซียอาจใช้บทบาทของตนเป็นเสียงสะท้อนมุมมองของมุสลิมที่เดินทางสายกลาง และนั่นอาจช่วยเพิ่มความสำคัญของอินโดนีเซียในการคลี่คลายปัญหาในโลกอิสลาม เช่น ความขัดแย้งในเยเมนขณะนี้
ท้ายสุด เป็นเรื่องการส่งเจ้าหน้าที่ของอินโดนีเซีย ร่วมกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ เพิ่มอีก 500 คนให้เป็นจำนวน 4,000 คน ภายในปีนี้
นักวิเคราะห์จาก CSIS ผู้นี้กล่าวว่า การที่อินโดนีเซียเตรียมส่งผู้หญิงจำนวนมากขึ้นให้ร่วมงานกับกองกำลังรักษาสันติภาพเป็นเรื่องที่ดี เพราะ ในดินแดนความขัดแย้งหลายแหงช่งในโลก เหยื่อจำนวนมากเป็นสตรีและเด็กหญิง