สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติออกแถลงการณ์แสดงความไม่สบายใจต่อการที่ศาลรัฐธรรมนูญไทยมีคำพิพากษายุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิ์ทางการเมืองของผู้บริหารพรรค ขณะที่ สมาชิกของพรรคเตรียมพร้อมเปิดตัวพรรคใหม่และทีมผู้บริหารใหม่แล้ว
ในแถลงการณ์ที่เผยแพร่ออกมาในเช้าวันพฤหัสบดี โวลเกอร์ เทิร์ค ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย “ทำให้รู้สึกไม่สบายใจอย่างมาก และบั่นทอนกระบวนการทางประชาธิปไตย และจำกัดความเป็นพหุนิยมทางการเมือง”
เทิร์ค กล่าวว่า กลไกด้านสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ได้แสดงความรู้สึกกังวลต่อการอ้างมาตรา 112 ของกฎหมายอาญาไทยในการสกัดกั้นข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมายดังกล่าวจนนำมาถึงการสั่งยุบพรรคและตัดสิทธิ์ทางการเมืองนั้น ไม่ได้สอดคล้องกับพันธกรณีของไทยภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) และชี้ว่า ควรมีการทบทวนจุดนี้
ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งยูเอ็น ระบุด้วยว่า “การตัดสินใจนี้มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเสรีภาพขั้นพื้นฐานต่อการแสดงออกและการสมาคม และแต่สิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะและชีวิตทางการเมืองในประเทศไทย” และว่า “ไม่มีพรรคหรือนักการเมืองใดควรต้องเผชิญกับบทลงโทษเช่นนั้น จากการเคลื่อนไหวผลักดันอย่างสันติเพื่อให้เกิดการปฏิรูปกฎหมาย โดยเฉพาะในส่วนของการสนับสนุนสิทธิมนุษยชน”
นอกจากนั้น เทิร์ค ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการส่งเสริมประชาธิปไตยในแบบที่เปิดทางให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมและมีความแข็งแกร่ง ทั้งยังสนับสนุนและเคารพต่อเสรีภาพในการแสดงออกและการสมาคม รวมทั้ง “ยุติการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพื่อปราบปรามเสียงวิจารณ์” และว่า “เสียงและความคิดที่หลากหลายคือพื้นฐานของการทำให้แน่ใจว่า เกิดการเคารพและการปกป้องสิทธิมนุษยชน และการบรรลุความสำเร็จที่จะทำให้เกิดพัฒนาการที่สันติทางเศรษฐกิจและสังคม”
ในวันพฤหัสบดี นายนิกรเดช พลางกูร โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกระทำไปตามกลไกและหลักการของรัฐธรรมนูญไทย ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถแทรกแซงได้ และไทยจะยังดำเนินตามค่านิยมประชาธิปไตยและสิทธิพลเมืองในฐานะรัฐภาคีในกติการะหว่างประเทศ
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศระบุว่า “เราเชื่อมั่นว่าประชาชนคนไทยทุกคนจะเคารพในคำพิพากษา และร่วมกันนำประเทศไปข้างหน้าตามวิถีทางประชาธิปไตยต่อไป”
Your browser doesn’t support HTML5
ขณะเดียวกัน รอยเตอร์รายงานว่า พรรคก้าวไกลที่เพิ่งถูกสั่งยุบไปได้ออกมาเรียกเสียงสนับสนุนจากประชาชนในวันพฤหัสบดีให้เตรียมรับพรรคการเมืองใหม่พร้อมทีมบริหารใหม่ที่จะเปิดตัวในศุกร์นี้ และให้ออกมาใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งเพื่อแสดงจุดยืนทางการเมือง แทนที่จะออกมาทำการชุมนุมเรียกร้องบนถนนดังเช่นที่เกิดขึ้นหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษายุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อปี 2563
พรรคก้าวไกลยืนยันด้วยว่า สมาชิกสภาทั้งหมด 143 คนจะย้ายเข้าสู่พรรคใหม่และจะไม่มีใครแยกตัวออกไป
อย่างไรก็ดี นักการเมืองปัจจุบันและในอดีตที่สังกัดพรรคนี้จำนวน 44 คนซึ่งรวมถึง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 26 คนในรัฐบาลปัจจุบัน ตกเป็นเป้าการสืบสวนโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ หลังนักเคลื่อนไหวหัวอนุรักษ์นิยมจำนวนหนึ่งยื่นเรื่องขอให้ตัดสิทธิ์ทางการเมืองกลุ่มนักการเมืองดังกล่าวตลอดชีพเนื่องจากการผลักดันการแก้กฎหมายมาตรา 112 ซึ่งยังต้องมีการติดตามดูกันต่อไป
- ที่มา: รอยเตอร์และสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ