เป็นเวลาเพียงไม่นานมานี้เองที่เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของประเทศฝรั่งเศสพร้อมที่จะเข้าสู่การปลดระวาง โดยประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาคร็อง แห่งฝรั่งเศส ประกาศปิดเตาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ถึง 56 แห่งภายในปี 2035 เพื่อลดสัดส่วนของการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในประเทศ
อย่างไรเสีย สถานการณ์ช่วงต้นปีได้เปลี่ยนไปจนทำให้ผู้นำฝรั่งเศสตัดสินใจกลับลำและกล่าวว่า “สิ่งที่ประเทศของเราต้องการคือ การปลุกชีวิตของภาคพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งสภาวะต่าง ๆ ก็เอื้อต่อการทำเช่นนั้นด้วย”
และพร้อม ๆ กับแผนการสนับสนุนพลังงานสีเขียว ผู้นำฝรั่งเศสตั้งเป้าสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพิ่มขึ้น 16 เตาในอนาคต และประธานาธิบดีมาคร็องก็ไม่ใช่ผู้นำของชาติยุโรปชาติเดียวที่คิดเช่นนั้น
เบลเยียมเพิ่งประกาศต่ออายุของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 2 เตาอีก 10 ปี ซึ่งหมายความว่า ประเทศนี้ได้ชะลอแผนการเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์ไปแล้ว
ทางด้านโปแลนด์และโรมาเนียเองนั้นก็ดูมีทีท่าในลักษณะเดียวกัน เนื่องจากเครื่องปฏิกรณ์รุ่นใหม่ ๆ ที่ล้ำสมัยใช้เวลาก่อสร้างไม่มากนักและราคาต่ำกว่าเครื่องปฏิกรณ์รุ่นก่อนๆ
ส่วนที่สหราชอาณาจักร แม้จะมีการเตรียมปลดระวางเครื่องผลิตพลังงานนิวเคลียร์รุ่นเก่า ๆ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แต่ได้มีการประกาศแผนสร้างโรงงานใหม่เพิ่มขึ้นแล้ว
สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency - IEA) คือ หน่วยงานแห่งหนึ่งที่ตระหนักถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายพลังงานในประเทศต่าง ๆ ของยุโรป
เบร็น วานเนอร์ แห่ง IEA อธิบายว่า“สถานการณ์โลกปัจจุปัน โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้หลาย ๆ ชาติทบทวนแผนการจัดหาพลังงานนำเข้าจากประเทศอื่น ๆ”
IEA ชี้ว่า การขยายตัวของภาคธุรกิจกิจนิวเคลียร์ทั่วโลกต้องเพิ่มขึ้นอีกเกือบสองเท่าเพื่อตอบสนองความต้องการการใช้พลังานและบรรลุเป้าหมายการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้ สหภาพยุโรป (อียู) ยังได้รับแรงกดดันอย่างมากในการหาพลังงานทดแทนอื่นที่ไม่ใช่น้ำมันจากรัสเซียและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับต่ำ ดังนั้น ฝรั่งเศสซึ่งเป็นผู้ผลิตพลังงานนิวเคลียร์รายใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรปจึงพยายามชักนำให้เบลเยี่ยมเพิ่มพลังงานนิวเคลียร์เข้าไปอยู่ในรายชื่อแหล่งพลังงานสะอาดของตนอยู่
สิ่งที่ฝรั่งเศสมุ่งหน้าดำเนินการอยู่นี้สะท้อนจุดยืนของ IEA ที่สนับสนุนการเพิ่มการใช้พลังงานนิวเคลียร์อยู่แล้ว
เบร็น วานเนอร์ แห่ง IEA กล่าวว่า พลังงานนิวเคลียร์ควรถูกจัดให้เป็นหนึ่งในแหล่งพลังงานในวงกว้าง เพื่อช่วยให้อียูเปลี่ยนผ่านสู่อนาคตที่ใช้พลังงานสะอาดได้สำเร็จ เพราะโลกเราต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตพลังงานที่มีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับต่ำ ซึ่งมีพลังงานหมุนเวียนเป็นตัวนำอยู่แล้ว ขณะที่ ลมและแผงโซลาร์เซลล์ เป็นทางเลือกที่มีราคาถูกที่สุด 2 แหล่งสำหรับการผลิตไฟฟ้าในเวลานี้
ทั้งนี้ บางประเทศ เช่น เยอรมนี ไม่มีตัวเลือกในการหันไปใช้พลังงานนิวเคลียร์เหมือนชาติอื่น ๆ ในอียู และมีการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียในระดับที่สูงมาก ทั้งยังมีแผนที่จะปิดโรงงานพลังนิวเคลียร์ถึง 3 แห่งภายในสิ้นปีนี้อีกด้วย
และสถานการณ์อย่างที่เกิดขึ้นในเยอรมนีกลับกลายมาเป็นทิศทางที่นักเคลื่อนไหวด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติสนับสนุน และอยากให้ประเทศอื่น ๆ เช่น ฝรั่งเศส ทำตามอยู่ดี
เซลีย์ วิคเตอร์ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสมาคม Climate Action Network France คิดว่า การเลิกใช้นิวเคลียร์เป็นสิ่งที่ดี และกล่าวว่า “ฝรั่งเศสควรหาตัวเลือกอื่นที่ไม่ใช่พลังงานนิวเคลียร์และหันไปลงทุนในพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่น ๆ แบบเต็มร้อยแทน เพราะพลังงานนิวเคลียร์นั้นไม่ปลอดภัยเลย”
นับตั้งแต่เกิดภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะเมื่อปี 2010 ผู้เชี่ยวชาญหลายคนบอกว่า มาตรฐานความปลอดภัยของการผลิตพลังงานข้างต้นนั้นได้มีความรัดกุมมากขึ้น แต่ก็ยังไม่มีใครสามารถระบุได้ว่า เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์จะต้านรับการโจมตีทางทหารได้มากแค่ไหน หากเกิดสงครามขึ้นอย่างในกรณีของยูเครน
และแม้ประเทศแถบยุโรปจะมีความต้องการเร่งด่วนที่จำต้องใช้พลังงานในตอนนี้ แต่เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์รุ่นใหม่ ๆ ยังคงต้องใช้ระยะเวลาในการสร้างหลายปีอยู่ หนำซ้ำการกำจัดขยะจากการผลิตพลังงานประเภทข้างต้นยังจัดเป็นปัญหาอยู่เช่นกัน
และด้วยขีดจำกัดในการผลิตของพลังงานจากแสงอาทิตย์ ลม และแหล่งทางเลือกอื่น ๆ เช่น พลังงานจากไฮโดรเจนในปัจจุบัน พลังงานนิวเคลียร์จึงน่าจะยังคงเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของโครงสร้างแหล่งพลังงานของอียูต่อไปอีกหลายสิบปี
- ที่มา: วีโอเอ