ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผลการศึกษาชี้กัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่น รั่วไหลลงทะเลในระดับไม่เป็นอันตรายต่อคน


Tracking Ocean Radiation
Tracking Ocean Radiation

ทีมนักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ กำลังศึกษาค้นคว้าว่ากัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นไหวเวียนไปทั่วมหาสมุทรอย่างไร

please wait

No media source currently available

0:00 0:05:51 0:00

ในขณะที่กัมมันตภาพรังสีส่วนหนึ่งจากโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์รั่วไหลลงไปในทะเลโดยตรง รังสีส่วนใหญ่กระจายออกไปในชั้นบรรยากาศก่อนที่จะตกลงมาพร้อมกับสายฝนแล้วลงไปสู่ทะเล

โดยปกติเเล้ว ท้องทะเลบนโลกมีกัมมันตภาพรังสีอยู่เต็มไปหมด ล้วนมาจากแหล่งรังสีตามธรรมชาติแหล่งต่างๆ เช่นเดียวที่มาจากการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ในช่วงต้นคริสต์ศวรรษที่ 1960s กัมมันตภาพรังสีเหล่านี้ไหลเวียนไปทั่วมหาสมุทรและเข้าสู่ร่างกายของสัตว์ทะเล

แม้บรรดานักวิทยาศาสตร์ทำการวัดเเละบันทึกระดับกัมมันตภาพรังสีในทะเลระดับต่างๆ เอาไว้ ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุวิกฤติโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ Fukushima พวกเขาไม่รู้แน่ชัดว่าจะเกิดอะไรขึ้นจากมีปริมาณกัมมันตภาพรังสีในทะเลเพิ่มขึ้นเนื่องมาจากเหตุการณ์นี้

แต่ผู้เชียวชาญชี้ว่า การติดตามตรวจวัดระดับปริมาณกัมมันตภาพรังสีในทะเลเป็นงานที่ท้าทาย พื้นที่ที่กว้างใหญ่ของมหาสมุทรเป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดในการตรวจสอบระดับกัมมันตภาพรังสีในทะเล เพราะทำให้การเฝ้าระวังและการเก็บตัวอย่างทำได้ยาก อุปสรรคอีกอย่างหนึ่งเกิดจากน้ำที่มีการไหลเวียนตลอดเวลา เนื่องจาก เเรงลม กระแสน้ำและระดับอุณหภูมิของน้ำ มีผลให้การคาดการณ์ทำได้ยาก

ขณะนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติหลายทีมกำลังศึกษาค้นคว้าว่ากัมมันตภาพรังสีไหวเวียนไปทั่วมหาสมุทรอย่างไร

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่งานประชุม Goldschmidt Conference ในญี่ปุ่น มีการนำเสนอผลการศึกษาสภาพทางทะเลห้าปีหลังวิกฤติโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ Fukushima ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Annual Review of Marine Science

คุณ Jay Cullen นักทะเลวิทยาทางเคมีและหัวหน้าโครงการ Fukushima InFORM project ในแคนาดา กล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่า ทีมผู้เชี่ยวชาญกลุ่มนี้ได้สร้างข้อมูลที่ให้ภาพรวมได้ดีว่าได้เกิดอะไรขึ้นบ้างในช่วงห้าที่ผ่านมา และอาจจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปในอนาคต ตลอดจนจะมีผลกระทบอย่างไรต่อสิ่งเเวดล้อมและต่อสุขภาพของคน

ผลการทดสอบในการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า ระดับกัมมันตภาพรังสีในทะเลได้เเพร่กระจายออกไปในระดับเดียวกับที่มีการคาดเดาเอาไว้

กลุ่มกัมมันตภาพรังสีกลุ่มหลักจากโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นได้ลอยไปตามคลื่นทะเลตามกระเเสการไหลเวียนของน้ำทะเล และได้ไปถึงชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือเเล้วในเดือนมิถุนายนปี ค.ศ. 2013

ระดับปริมาณกัมมันตภาพรังสีในทะเลระดับต่างๆ ในพื้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่กลุ่มอนุภาครังสีกลุ่มนี้เดินทางไปตามเเนวชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปสูงที่สุดก่อนสิ้นปีนี้

ทีมนักวิจัยชี้ว่า ระดับปริมาณกัมมันตภาพรังสีระดับต่างๆ ที่ตรวจพบ เเม้จะสูงขึ้นแต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก และไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนเเต่อย่างใด คุณ Ken Buesseler นักทะเลวิทยาและหัวหน้าผู้ร่างรายงานผลการศึกษาชิ้นนี้ กล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่า การว่ายน้ำในทะเลนานวันละ 8 ชั่วโมงตลอดทั้งปี เเม้ว่าจะมีปริมาณกัมมันตภาพรังสีในน้ำทะเลสูงที่สุด ร่างกายจะได้รับปริมาณรังสีน้อยกว่าการเอ็กซเรย์ฟันเวลาไปทำฟันถึงหนึ่งพันเท่า

ในสหรัฐฯ แต่ละรัฐต้องรับผิดชอบในการเฝ้าระวังและตรวจวัดปริมาณกัมมันตภาพรังสีในทะเล เพื่อให้เเน่ใจว่าอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อร่างกายคนเราและต่อสัตว์ทะเล อย่างไรก็ตาม ระดับของกัมมันตภาพรังสีที่เฝ้าระวังในเเต่ละรัฐของสหรัฐฯ เป็นคนละระดับกับที่ใช้ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้

ในขณะที่วิธีการทดสอบแบบต่างๆ ที่ใช้ในแต่ละรัฐไม่สามารถตรวจวัดปริมาณกัมมันตภาพรังสีในระดับต่ำที่ใช้ในการวิจัยนี้ บางรัฐ เช่น รัฐอลาสก้า ร่วมมือกับทีมนักวิจัยและหน่วยงานรัฐบาลกลางด้วยการเปิดเผยตัวอย่างที่ใช้ทดสอบและผลการทดสอบที่ได้

ด้านคุณ Marlena Brewer ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งเเวดล้อมที่สำนักงานอนุรักษ์สิ่งเเวดล้อมแห่งรัฐอลาสก้า (Department of Environmental Conservation) ชี้ว่า งานวิจัยของคุณ Buesseler ที่สถาบัน Woods Hole Oceanographic Institute ช่วยให้รัฐอลาสก้าเข้าใจดีขึ้นถึงการไหลเวียนของกัมมันตภาพรังสีไปทั่วท้องทะเล เเต่คุณ Brewer ชี้ว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องวัดระดับปริมาณกัมมันตภาพรังสีระดับต่ำๆ อย่างที่นักวิจัยใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เพราะการเฝ้าระวังปริมาณกัมมันตภาพรังสีในระดับที่ปลอดภัยต่ออาหารมีความสำคัญกว่า

ด้านคุณ Bob Gerlach สัตวแพทย์ราชการคนหนึ่งของรัฐอลาสก้า ที่ดูแลโครงการเฝ้าระวังปลาของรัฐ กล่าวว่า ความเข้าใจเกี่ยวกับการเดินทางของกัมมันตภาพรังสีไปทั่วมหาสมุทรอย่างที่ชี้เเจงในการศึกษานี้ เป็นเรื่องสำคัญ แต่มีค่าลงทุนสูงมาก เขากล่าวว่าค่าใช้จ่ายจะลดลงหากมีคนจากหลายกลุ่มและจากหลายหน่วยงานทำงานร่วมกันด้วยการเเบ่งปันข้อมูลที่ตนศึกษา

ห้าปีหลังจากเหตุวิกฤติที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในญี่ปุ่น คุณ Buesseler กล่าวว่าการคอยเฝ้าระวังระดับกัมมันตภาพรังสีในทะเลต่อไปมีความสำคัญมาก เเม้ว่ากัมมันตภาพรังสีจากโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ Fukushima จะเป็นอันตรายต่อร่างกายคนน้อยลงเเล้ว แต่ยังพบกัมมันตภาพรังสีปะปนอยู่ในทุกจุดทั่วทะเลตั้งเเต่ผิวหน้าไปจนถึงก้นทะเล

นอกจากนี้ยังมีปริมาณกัมมันตภาพรังสีในระดับต่ำหลายระดับ คงรั่วไหลลงสู่ทะเลจากพื้นดินที่อยู่รอบๆ โรงงานไฟฟ้าอีกด้วย

คุณ Buesseler นักวิจัย กล่าวว่า แม้ว่าปริมาณกัมมันตภาพรังสีในทะเลจะเริ่มลดลงมา การศึกษาระดับกัมมันตภาพรังสีในทะเลควรดำเนินต่อไป ทั้งเพื่อตรวจเฝ้าระวังการรั่วไหลเพิ่มเติม และยังเป็นการเตรียมตัวให้พร้อมในการรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต อย่างที่เกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น


(รายงานโดย JoEllen McBride / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)

XS
SM
MD
LG