สหรัฐฯ ขยับใกล้ 'ชัทดาวน์' หลังร่าง กม.งบประมาณโดนยื้อ

  • VOA

ส.ส. ไมค์ จอห์นสัน ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ แถลงต่อผู้สื่อข่าวก่อนการลงมติในร่างงบประมาณชั่วคราวเพื่อเลี่ยงการปิดทำการรัฐบาลสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2024

สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ มีมติไม่รับรองร่างกฎหมายงบประมาณใหม่ที่ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้การสนับสนุนในวันพฤหัสบดี ทำให้หน่วยงานรัฐบาลกลางเผชิญความเสี่ยงจะไม่มีงบประมาณใช้ หรือที่เรียกว่า ชัทดาวน์

การลงมติในค่ำคืนวันพฤหัสบดีเกิดขึ้นหนึ่งวันหลังทรัมป์เรียกร้องให้สมาชิกสภาคองเกรสร่วมปฏิเสธร่างกฎหมายงบประมาณระยะสั้นของหน่วยงานรัฐบาลกลาง (stopgap funding bill) ที่มีอยู่เดิม

ในเวลานี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าสภาคองเกรสจะเดินหน้าต่อไปในทิศทางใด เพราะการอนุมัติงบประมาณ ต้องใช้เสียงสนับสนุนจากทั้งในสภาผู้แทนราษฎรซึ่งพรรครีพับลิกันกุมเสียงข้างมาก และในวุฒิสภาที่เดโมแครตคุมเสียงข้างมาก

Your browser doesn’t support HTML5

สหรัฐฯ ขยับใกล้ 'ชัทดาวน์' หลังร่าง กม.งบประมาณโดนยื้อ

หากสภาคองเกรสไม่สามารถผ่านร่างกฎหมายงบชั่วคราวออกมาได้ทันเวลาเที่ยงคืนของวันศุกร์ หน่วยงานรัฐบาลกลางต่าง ๆ จะไม่มีงบดำเนินงานตั้งแต่วันเสาร์นี้เป็นต้นไป แต่ถ้าหากทุกอย่างเดินหน้าไปได้ งบชั่วคราวนี้จะช่วยให้รัฐบาลสหรัฐฯ เปิดทำการต่อไปได้ถึง 14 มีนาคมปีหน้า

ก่อนหน้านี้ ทรัมป์และว่าที่รองประธานาธิบดีเจดี แวนซ์ ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอร่างกฎหมายงบประมาณฉบับเดิม ที่มองว่ามีบทบัญญัติที่เป็น "ของแจกจากพรรคเดโมแครต"

ทั้งสองขอให้สมาชิกสภาใช้ร่างกฎหมายอีกฉบับ ที่หยิบยกประเด็นการขยายเพดานหนี้ของประเทศมาหารือต่อรอง และเพิ่มองค์ประกอบใหม่ ๆ ที่ทำให้กระบวนการผ่านงบมีความซับซ้อนมากขึ้น

ความเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้เพิ่มความซับซ้อนยุ่งยากให้กับสมาชิกสภาคองเกรส ที่กำลังพยายามเลี่ยงไม่ให้เกิดภาวะชัทดาวน์ ที่ทุกฝ่ายกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อส่วนงานต่าง ๆ ก่อนช่วงหยุดยาวคริสต์มาส เช่นงานด้านการจราจรทางอากาศ หรือการรักษาความสงบเรียบร้อย

หากเกิดการชัทดาวน์จริง ก็จะถือเป็นการปิดทำการชั่วคราวของหน่วยงานรัฐที่ครอบคลุมช่วงเวลาเทศกาลวันหยุดส่งท้ายปีเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2018 ถึงต้นปี 2019 หรือช่วงวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกของทรัมป์ ซึ่งกินเวลายาวนานที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในประเทศที่ 34 วัน

SEE ALSO: ชัทดาวน์! รัฐบาลกลางสหรัฐฯ

ร่างฯ ที่ทรัมป์ไม่เห็นด้วย มีส่วนที่จัดสรรงบให้กับหน่วยงานรัฐบาลดำเนินงานต่อ ตั้งงบบรรเทาภัยพิบัติมูลค่า 100,000 ล้านดอลลาร์ และเพิ่มเพดานหนี้ของประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองที่คาดว่าจะต้องแก้ไขกันต่อไปในปีหน้า

แถลงการณ์ของทรัมป์และแวนซ์ระบุว่า “ถ้าพรรคเดโมแครตไม่ยอมร่วมมือในเรื่องเพดานหนี้ตอนนี้ อะไรทำให้ทุกคนคิดว่า พวกเขาจะยอมร่วมมือในเดือนมในช่วงรัฐบาลใหม่ของเรา”

ไมค์ จอห์นสัน ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวประจำอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน เมื่อ 17 ธ.ค. 2567

เหตุผลที่ต้องออกกฎหมายงบประมาณที่เรียกว่า stopgap funding bill ออกมา เป็นเพราะสภาคองเกรสผ่านกฎหมายงบประมาณฉบับปกติสำหรับปีงบประมาณปัจจุบันที่เริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมาไม่ทัน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการจัดงบประมาณจะไม่มีผลต่อโครงการสวัสดิการรัฐต่าง ๆ เช่น ระบบประกันสังคม (social security) ที่สามารถเดินหน้าต่อไปได้โดยอัตโนมัติ

รัฐบาลสหรัฐฯ มีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ สูงกว่ารายได้ที่เก็บได้ในช่วงกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา สืบเนื่องจากการขยายโครงการด้านสุขภาพต่าง ๆ โดยพรรคเดโมแครต ผนวกกับการสั่งลดการเก็บภาษีจากพรรครีพับลิกัน ท่ามกลางภาวะสังคมสูงวัย ที่คาดการณ์กันว่าสหรัฐฯ จะมีต้นทุนการเกษียณและการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้นไม่กี่ปีนับจากนี้

อีกด้านหนึ่ง ภาวะหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 36 ล้านล้านดอลลาร์ และสถานการณ์เช่นนี้น่าจะบีบให้สภาคองเกรสต้องปรับขึ้นเพดานหนี้ประเทศไม่ช้าก็เร็ว เพราะหากไม่มีการทำอะไรในเรื่องนี้ ก็อาจมีผลกระทบถึงตลาดพันธบัตรและเป็นแรงสะเทือนอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจ

แฟ้มภาพ: อิลอน มัสก์ อภิมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก ขึ้นร่วมเวทีหาเสียงของ โดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อ 5 ต.ค. 2567

ความเห็นของทรัมป์เรื่องกฎหมายงบชั่วคราวนี้มีออกมา หลัง อิลอน มัสก์ กดดันให้สภาคองเกรสปฏิเสธร่างกฎหมายดังกล่าว และระบุว่าผู้ที่สนับสนุนร่างนี้ควรถูกโหวตให้ออกจากตำแหน่งไป

อภิมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลกจากธุรกิจรถยนต์เทสลาและกิจการด้านอวกาศสเปซเอ็กซ์รายนี้ควักเงินสนับสนุนการหาเสียงของทรัมป์ไปกว่า 250 ล้านดอลลาร์ และต่อมาได้รับมอบหมายจากว่าที่ปธน.สหรัฐฯ ให้ดูแลหน่วยงานที่จัดทำข้อเสนอแนะในการตัดงบรัฐบาลกลาง

  • ที่มา: รอยเตอร์