Your browser doesn’t support HTML5
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้นำพรรคฝ่ายค้านแนวทางอนุรักษ์นิยมของญี่ปุ่น ได้ออกมาตั้งคำถามถึงความมั่นคงของรัฐบาล ปธน.ทรัมป์ หลังจากก่อนหน้านี้ นายกฯ ชินโซ่ อาเบะ ได้พยายามเน้นย้ำความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างตนกับ ปธน.ทรัมป์
นายกฯ อาเบะ ได้ประกาศยุบสภาเพื่อจัดให้มีเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 22 ตุลาคม โดยอาศัยความนิยมของตนที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นจากการมีนโยบายที่แข็งกร้าวต่อเกาหลีเหนือ
และในการรณรงค์หาเสียง พรรครัฐบาลของนายกฯ อาเบะ คือพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ยังได้เน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ส่วนตัวอันแนบแน่นระหว่างนายกฯ อาเบะ กับ ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าเป็นปัจจัยสำคัญทางการเมืองที่จะช่วยกระชับความเป็นพันธมิตรระหว่างทั้งสองประเทศ เพื่อต่อต้านภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ
ที่ผ่านมา นายกฯ อาเบะ ได้แสดงจุดยืนสนับสนุนนโยบายของสหรัฐฯ ภายใต้ ปธน.ทรัมป์ ที่มีต่อเกาหลีเหนือ อย่างเต็มที่ ทั้งในด้านการใช้มาตรการลงโทษที่รุนแรงขึ้นและการขู่ว่าจะใช้กำลังทหาร
นอกจากนี้ ผู้นำญี่ปุ่นยังไม่เชื่อว่าการเจรจาต่อรองกับกรุงเปียงยางจะช่วยบรรเทาปัญหานี้ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ ปธน.ทรัมป์ยืนยันมาโดยตลอดเช่นกัน
โดยในการกล่าวปราศรัยที่การประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเมื่อเดือนที่แล้ว นายกฯ อาเบะ ได้กล่าวไว้ว่า "สิ่งที่จำเป็นไม่ใช่การเจรจา แต่เป็นการกดดันต่อเกาหลีเหนือ"
สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ ดูเหมือนนายกฯ อาเบะ ต้องเจอศึกหนัก เมื่อ ยูริโกะ โคอิเกะ ผู้ว่าฯ หญิงของกรุงโตเกียว และอดีตรัฐมนตรีกลาโหมหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองญี่ปุ่น เธอได้จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่ ภายใต้ชื่อ Kibo no To หรือ "พรรคแห่งความหวัง" ที่สะท้อนการคิดใหม่ทำใหม่ และกล้าต่อกรกับพรรคการเมืองเดิมๆ ที่ครองอำนาจมายาวนาน
โดยในการสำรวจความเห็นของชาวญี่ปุ่นก่อนหน้านี้ พบว่าชาวญี่ปุ่น 32% จะลงคะแนนให้กับพรรค LDP และ 13% จะลงคะแนนให้กับพรรค Kibo no To
ที่ผ่านมา ผู้ว่าฯ โคอิเกะ ค่อนข้างสงวนท่าทีในเรื่องความสัมพันธ์กับรัฐบาลสหรัฐฯ โดยกล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดนี้ยังคงไม่มีเสถียรภาพเท่าที่ควร ยังมีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลอยู่อย่างต่อเนื่อง จึงควรรอดูจนกว่ารัฐบาล ปธน.ทรัมป์ จะมีความมั่นคงมากกว่านี้
ผู้ว่าฯ หญิงผู้นี้ ยังแสดงความกังวลถึงท่าทีของ ปธน.ทรัมป์ ในอนาคต ว่าจะลดการสนับสนุนต่อญี่ปุ่นหรือไม่ รวมทั้งในประเด็นอื่นๆ เช่น การค้า ความมั่นคงในภูมิภาค และท่าทีที่มีต่อจีนซึ่งถือเป็นคู่แข่งของญี่ปุ่นในเอเชีย
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนการที่ผู้ว่าฯ โคอิเกะ พยายามทำให้ตัวเธอเองมีความแตกต่างกับนายกฯ อาเบะ ในด้านนโยบายทางการทหารและความสัมพันธ์ต่อสหรัฐฯ นั้น จะแปรเปลี่ยนเป็นผลคะแนนในการเลือกตั้งได้หรือไม่
เพราะในที่สุดแล้ว นโยบายหลักด้านการทหารของผู้สมัครทั้งสองคนนี้ก็ยังคงคล้ายกัน กล่าวคือ ต่างสนับสนุนให้มีการปรับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญบทที่ 9 ที่ห้ามญี่ปุ่นเข้าร่วมในสงครามในต่างประเทศ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการเพิ่มศักยภาพทางการทหารของญี่ปุ่นเพื่อรับมือภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือและจีน
สำหรับมุมมองของชาวญี่ปุ่นเองนั้น แม้กระแสชื่นชอบต่อรัฐบาลสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นในช่วงหลังๆ เนื่องจากนโยบายที่แข็งกร้าวของสหรัฐฯ ต่อเกาหลีเหนือ แต่ดูเหมือนคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังเห็นว่า ปธน.ทรัมป์ ทำให้เกิดความแตกแยกทางการเมืองขึ้นในญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน
(ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียงรายงานจากผู้สื่อข่าว Brian Padden)