Your browser doesn’t support HTML5
ผู้แทนรัฐสภาสหรัฐฯ เดินทางถึงกรุงมอสโกแล้ว เพื่อเจรจาเรื่องการประชุมสุดยอดระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กับ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ซึ่งกำหนดไว้วันที่ 16 กรกฎาคมนี้ ที่กรุงเฮลซิงกิ ฟินแลนด์ โดยแสดงความหวังว่าจะเป็นการเริ่มความสัมพันธ์ “ยุคใหม่” ของสองประเทศ
วุฒิสมาชิกอเมริกันจากพรรครีพับลิกัน ริชาร์ด เชลบี้ กล่าวต่อผู้สื่อข่าวที่กรุงมอสโก ก่อนที่จะประชุมหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เก ลาฟรอฟ ว่า ตนทราบดีถึงความสัมพันธ์ที่ง่อนแง่นระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย แต่ก็เชื่อว่าจะสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ของอดีตคู่แข่งในยุคสงครามเย็นสองประเทศนี้ได้เช่นกัน
ส.ว.อเมริกันผู้นี้ ยังกล่าวด้วยว่า สหรัฐฯ และรัสเซียมีผลประโยชน์ร่วมกันในหลายด้านทั่วโลก และตนเชื่อว่าสองประเทศสามารถเป็นคู่แข่งกันได้ แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นศัตรู และเชื่ออย่างยิ่งว่า การประชุมสุดยอดระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กับ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ ที่กรุงเฮลซิงกิ ฟินแลนด์ จะช่วยสร้างยุคใหม่แห่งความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศนี้
มีผู้แทนสหรัฐฯ เดินทางเยือนกรุงมอสโกครั้งนี้รวม 8 คน ซึ่งจะร่วมเจรจากับผู้แทนรัฐสภาของรัสเซีย ถือเป็นการพบเจรจาโดยตรงอย่างเป็นทางการระหว่างสมาชิกรัฐสภาของสองประเทศครั้งแรกในรอบ 5 ปี
คาดว่าหัวข้อสำคัญในการเจรจา คือเรื่องสงครามในซีเรีย และภาคตะวันออกของยูเครน รวมทั้งข้อกล่าวหาว่ารัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อสองปีที่แล้ว และมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ ใช้ต่อรัสเซีย เพื่อตอบโต้ที่รัสเซียควบรวมแคว้นไครเมีย
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่ารัสเซียอาจส่งผู้แทนมาเยือนกรุงวอชิงตันเช่นกัน ซึ่ง ส.ว.ริชาร์ด เชลบี้ ระบุว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ แต่นั่นหมายความว่าจะต้องมีการยกเลิกมาตรการลงโทษที่สหรัฐฯ ใช้กับนักการเมืองบางคนของรัสเซียที่คาดว่าจะร่วมเดินทางมาด้วย
ด้านรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เก ลาฟรอฟ กล่าวแสดงการต้อนรับผู้แทนทั้ง 8 คนของสหรัฐฯ และเชื่อว่าเป็นการเตรียมตัวที่ดีสำหรับการประชุมสุดยอด “ทรัมป์ – ปูติน” ในอีกไม่ถึงสองสัปดาห์ข้างหน้า
ที่ผ่านมา ปธน.ทรัมป์ กล่าวมาตลอดว่าต้องการให้สหรัฐฯ กับรัสเซีย มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แต่ในอีกด้านหนึ่ง ผู้นำสหรัฐฯ ก็ลงนามอนุมัติมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ของสองประเทศตกต่ำลงมาก
ขณะที่ผู้ติดตามการเมืองโลกต่างแสดงความกังวลต่อการประชุม “ทรัมป์ – ปูติน” หลังจากที่โฆษกทางการรัสเซีย ระบุในวันอังคารว่า ผู้นำทั้งสองอาจจะพบกันแบบตัวต่อตัวโดยไม่มีที่ปรึกษาเข้าร่วมด้วย ก่อนที่การประชุมอย่างเป็นทางการจะมีขึ้น
นอกจากนี้ การที่ ปธน.ทรัมป์ พยายามผลักดันให้เกิดการประชุมกับ ปธน.ปูติน ได้ก่อให้เกิดความกังวลในหมู่ประเทศพันธมิตร ต่อบทบาทของสหรัฐฯ บนเวทีโลก หลังจากที่ผู้นำสหรัฐฯ มักเผชิญหน้ากับประเทศพันธมิตรและองค์กรระหว่างประเทศ มากกว่าการทำให้เกิดความร่วมมือ ซึ่งรวมถึงการมีความเห็นที่ขัดแย้งกับสหภาพยุโรป กลุ่ม G-7 องค์กรสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) และองค์การการค้าโลก (WTO) ด้วย
เมื่อต้นเดือนนี้ ทรัมป์ได้เสนอให้กลุ่มประเทศชั้นนำทางเศรษฐกิจของโลก 7 ประเทศ รับรัสเซียกลับเข้ากลุ่มอีกครั้ง หลังจากที่รัสเซียเคยถูกขับออกไปเมื่อ 4 ปีก่อน แต่ข้อเสนอของทรัมป์ถูกปฏิเสธจากประเทศพันธมิตรอื่นๆ และยิ่งเป็นการสร้างความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรปมากยิ่งขึ้น นอกเหนือไปจากความขัดแย้งเรื่องที่สหรัฐฯ เพิ่มภาษีนำเข้าสำหรับเหล็กกล้าและอลูมิเนียมจากหลายประเทศ รวมทั้งยุโรป
(ผู้สื่อข่าว Charles Maynes รายงานจากกรุงมอสโก / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)