การพบกันครั้งแรกของ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ซึ่งใกล้จะเกิดขึ้นที่การประชุม จี 20 ณ นครฮัมเบิร์ก ประเทศเยอรมนี ปลายสัปดาห์นี้ น่าจะถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจากผู้สังเกตการณ์การเมืองระหว่างประเทศ
รัฐบาลรัสเซียกล่าวว่าจะมีการหารือนอกรอบกันระหว่างสองผู้นำในหัวข้อการก่อการร้าย ความขัดแย้งในซีเรีย และยูเครน
ส่วนทำเนียบขาวของสหรัฐฯ บอกว่าจะเป็นการเจรจาทวิภาคีตามปกติ โดยไม่ให้รายละเอียดมากกว่านี้
นักวิเคราะห์สตีเฟน เซสตาโนวิช (Stephen Sestanovich) จาก Council for Foreign Relations เห็นว่า หากดูจากบุคลิกของทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ อาจผลักดันให้เกิดการเจรจาในทิศทางที่ไม่เป็นที่คาดหมายมาก่อน
อย่างไรก็ตาม การพบกันครั้งนี้อยู่ภายใต้ข้อกำจัดที่ว่า ขณะนี้มีการตรวจสอบโดยคณะทำงานหลายชุดที่สหรัฐฯ เรื่องความเป็นไปได้ที่รัสเซียพยายามแทรกแซงการเมืองอเมริกันในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปีที่แล้ว เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อคณะหาเสียงของทรัมป์
ฮานนา โธเบิร์น (Hannah Thoburn) จากสถาบัน Hudson Institute กล่าวว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นระหว่างการเจรจาระหว่างผู้นำรัสเซียและสหรัฐฯ จะถูกมองในบริบทของการตรวจสอบที่ว่านั้น และไม่ว่าทรัมป์จะดูเป็นมิตรหรือดุดันกับปูติน คนที่จะรับข่าวจากการประชุม จี 20 จะพยายามตีความว่ามีเหตุผลที่โยงไปถึงการตรวจสอบเรื่องการแทรกแซงการเลือกตั้งหรือไม่ อย่างไร
ประเด็นร้อนเรื่องหนึ่งระหว่างทั้งสองประเทศขณะนี้ คือการที่รัสเซียต้องการขอให้สหรัฐฯ คืนพื้นที่และอาคารของรัสเซียในรัฐแมรี่แลนด์ ไม่ไกลจากกรุงวอชิงตัน ซึ่งถูกยึดโดยรัฐบาลประธานาธิบดีโอบามา เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เพราะรัฐบาลชุดดังกล่าวต้องการตอบโต้การแทรกแซงการเมืองสหรัฐฯ โดยรัสเซีย
ฮานนา โธเบิร์น กล่าวว่า ประธานาธิบดีทรัมป์คงไม่น่าจะยอมคืนทรัพย์สินดังกล่าวให้กับรัสเซีย เนื่องด้วยเงื่อนไขทางการเมืองดังกล่าว
ผู้สันทัดกรณีอีกผู้หนึ่ง อังเดร โคเลสนิคอฟ (Andre Kolesnikov) แห่งศูนย์ Carnegie Moscow Center กล่าวว่า แม้คนอเมริกันจำนวนหนึ่งต้องการให้โดนัลด์ ทรัมป์ มีท่าทีแข็งขันต่อรัสเซีย แต่ผู้นำสหรัฐฯ อาจรู้สึกขัดเขินที่จะหยิบหัวข้อนี้มาพูดกับฝ่ายรัสเซีย ขณะที่ประธานาธิบดีปูตินก็คงไม่เป็นผู้เริ่มพูดเรื่องนี้ก่อน ตามความเห็นของอังเดร โคเลสนิคอฟ
ในประเด็นเรื่องยูเครน ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย ทรุดลงตั้งแต่รัสเซียผนวกแคว้นไครเมีย 3 ปีก่อน นักวิเคราะห์ฮานนา โธเบิร์น บอกว่าผู้นำสหรัฐฯ ควรมีความหนักแน่นในเรื่องนี้
สำหรับกรณีของซีเรีย ที่ประเทศต่างๆ ต้องการช่วยคลี่คลายความขัดแย้ง เธอกล่าวว่าประธานาธิบดีทรัมป์ควรทราบชัดเจนก่อนว่าสหรัฐฯ ต้องการอะไร เมื่อเริ่มเจรจากันเรื่องซีเรีย โดยก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ส่งสัญญาณชัดเจนไปแล้ว เมื่อสหรัฐฯ ยิงขีปนาวุธโจมตีฐานทัพอากาศในซีเรีย หลังมีภาพข่าวที่ชี้ว่ารัฐบาลซีเรียใช้อาวุธเคมีกับประชาชน
นอกจากเรื่องหนักๆ ด้านการต่างประเทศแล้ว นักวิเคราะห์ สตีเฟน เซสตาโนวิช สนใจเรื่องภาษาท่าทางของผู้นำทั้งสองด้วย เนื่องจากเป็นที่ทราบกันว่าวิธีจับมือทักทาย หรือ shake hand ของประธานาธิบดีทรัมป์ เคยตกเป็นภาพข่าวว่าบางครั้งยาวนานหรือมีลักษณะดึงแขนฝ่ายตรงข้าม
สตีเฟน เซสตาโนวิช กล่าวว่า โดยส่วนสูง ประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งสูง 188 ซม. น่าจะดูได้เปรียบในการสร้างภาพลักษณ์ที่แข็งแกร่ง เมื่อยืนอยู่ข้างประธานาธิบดีปูตินที่เตี้ยกว่า เกือบ 20 ซม.
ดังนั้นแม้เพียงภาพข่าวที่ทั้งสองจับมือกันก็น่าจะถูกตีความอย่างลึกซึ้งโดยผู้สังเกตการณ์การเมืองของทั้งสองประเทศที่กำลังคุกกรุ่นกันอยู่ในขณะนี้
(รายงานโดย Daniel Scheaf / รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียง)