ค่ำวันพุธ ตามเวลาสหรัฐฯ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เสร็จสิ้นการลงมติครั้งประวัติศาสตร์ เพื่อขอถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกจากตำแหน่ง
เสียงส่วนใหญ่ของสภาผู้แทนฯ ซึ่งพรรคเดโมแครตคุมเสียงข้างมาก มีมติให้ดำเนินการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ ในญัตติที่ 1 คือการใช้อำนาจในทางที่ผิด ด้วยคะแนนเสียง 230 ต่อ 197 เสียง
ในขณะที่ญัตติที่ 2 คือ การขัดขวางกระบวนการตรวจสอบของรัฐสภา เสียงส่วนใหญ่ของสภาผู้แทนฯ ลงมติให้ถอดถอน ปธน.ทรัมป์ ด้วยคะแนนเสียง 229 ต่อ 198 เสียง
ผลการลงมติเป็นไปตามคาด และทำให้ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีคนที่สามในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน ที่ถูกสภาล่างตั้งข้อหาขอถอดถอน
SEE ALSO: ความนิยมในตัวทรัมป์เพิ่มขึ้นท่ามกลางมรสุม 'ขอถอดถอน'หลังจากนี้วุฒิสภาสหรัฐฯ จะทำหน้าที่ตัดสินโดยพิจารณาว่าจะถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์หรือไม่ คาดว่ากระบวนการดังกล่าวจะเกิดขึ้นในเดือนมกราคม
อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ที่ทรัมป์จะถูกถอดถอนมีไม่มาก เพราะพรรครีพับลิกันที่เขาสังกัดอยู่คุมเสียงข้างมากในวุฒิสภา
ก่อนหน้าการลงมติในสภาล่างในวันพุธ ปธน.ระดมทวีตข้อความวิจารณ์การสอบสวนข้อกล่าวหาที่มีต่อตน พร้อมยืนยันคำเดิมว่าตนไม่ได้ทำอะไรผิด และว่าตนไม่กังวลกับการลงมติในครั้งนี้แต่อย่างใด
ตั้งแต่เดือนกันยายน กระบวนการไต่สวนขอถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์อย่างเป็นทางการมุ่งเป้าส่วนใหญ่ไปที่เรื่องที่ทรัมป์ขอให้ประธานาธิบดียูเครนตรวจสอบคู่แข่งทางการเมือง คืออดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเด้น และลูกชาย ฮันเตอร์ ไบเด้น ซึ่งเคยเป็นผู้บริหารบริษัทพลังงานในยูเครน
และเมื่อวานนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ส่งจดหมายถึง ส.ส. แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประท้วงเรื่องญัตติขอถอดถอนว่า กระบวนการไต่สวนเพื่อถอดถอนประธานาธิบดีสหรัฐฯ เท่ากับความพยายามทำรัฐประหารโดยผิดกฏหมาย
รายละเอียดส่วนหนึ่งของจดหมายความยาว 6 หน้า กล่าวหาพรรคเดโมแครตว่าทำให้เกิดความวิปริต และบิดเบือนความยุติธรรม รวมทั้งใช้อำนาจในทางที่ผิด ในความพยายามถอดถอนตนออกจากตำแหน่ง
การผ่านญัตติขอถอดถอนทรัมป์ครั้งนี้ ทำให้ โดนัลด์ ทรัมป์ กลายเป็นประธานาธิบดีคนที่สามในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน ที่ถูกสภาล่างขอถอดถอน
Your browser doesn’t support HTML5
ในประวัติศาสตร์มีประธานาธิบดีถูกขอถอดถอนในสภาล่างมาแล้วสองครั้ง คืออดีตประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสัน ในช่วงกลางศตวรรษที่19 และอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน ซึ่งทั้งคู่ถูกสภาล่างที่ทำหน้าที่คล้ายอัยการตั้งข้อหาเพื่อถอดถอน แต่วุฒิสภาซึ่งทำหน้าที่คล้ายศาลลงมติไม่เห็นด้วยกับข้อกล่าวหา
ส่วนผู้นำสหรัฐฯ อีกคนหนึ่งซึ่งถูกกระบวนการไต่สวนเพื่อถอดถอนเช่นกัน คืออดีตประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน แต่ได้ชิงลาออกจากตำแหน่งก่อนที่กระบวนการดังกล่าวจะเสร็จสมบูรณ์