Your browser doesn’t support HTML5
ในอีกไม่กี่สัปดาห์ นายโดนัลด์ ทรัมป์ มหาเศรษฐีอสังหาริมทรัพย์วัย 70 ปี จะเข้ารับตำแหน่งผู้นำอำนาจฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ และจะเป็นประธานาธิบดีซึ่งร่ำรวยที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกัน
เขาได้ประกาศว่าจะมอบให้บุตรธิดาสามคนรวมทั้งผู้บริหารคนอื่นๆ เป็นผู้ดูแลและตัดสินใจทางธุรกิจแทนตน สำหรับอาณาจักรธุรกิจทรัมป์ และเรียกการมอบหมายเรื่องนี้ว่า "Blind Trust"
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารและการเงินชี้ว่า วิธีดังกล่าวไม่สามารถเรียกว่า Blind Trust ได้
เพราะ Blind Trust ที่แท้จริงหมายถึงการมอบให้คณะบุคคลที่เป็นอิสระเป็นผู้ควบคุมดูแลและตัดสินใจในการบริหารทรัพย์สินแทน โดยมีอำนาจอิสระในการบริหารและตัดสินใจซื้อและขายทรัพย์สินอย่างแท้จริง โดยปราศจากการรับรู้และอิทธิพลแทรกแซง
และถึงแม้ขณะนี้สหรัฐฯ จะไม่มีกฎหมายเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนที่จะบังคับใช้กับประธานาธิบดีก็ตาม แต่เท่าที่ผ่านมาประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลายคน ซึ่งแม้จะไม่ร่ำรวยเท่านายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานด้านจริยธรรมดังกล่าวอย่างเคร่งครัด
นาย Richard Painter ที่ปรึกษาด้านจริยธรรมสมัยรัฐบาลประธานาธิบดี George W. Bush ชี้ว่า หากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่นำทรัพย์สินของตนใส่ไว้ใน Blind Trust อย่างแท้จริง เขาก็จะพบปัญหาเรื่องความขัดแย้งด้านผลประโยชน์จากการทำหน้าที่ในฐานะประธานาธิบดี และผลกระทบต่อธุรกิจของตนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
และอาจสร้างปัญหาด้านกฎหมายขึ้นด้วย เพราะกฎหมายของสหรัฐฯ ห้ามรัฐบาลต่างชาติจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล
แต่หากธนาคารของรัฐบาลต่างชาติออกเงินกู้ให้กับธุรกิจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ เรื่องนี้ก็จะสร้างปัญหากฎหมายขึ้นได้
ส่วนนาง Karen Hobert Flynn ผู้อำนวยการของ Common Cause ก็เตือนว่า ประเด็นคำถามเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนจะตามติดทุกย่างก้าวของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์หากไม่มีการจัดการโอนทรัพย์สินเข้าไว้ใน Blind Trust อย่างถูกต้องเหมาะสม
เพราะในการหารือกับผู้นำของประเทศที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ มีธุรกิจอยู่นั้น อาจเป็นเรื่องยากที่จะแยกแยะว่า อะไรเป็นผลประโยชน์ของชาติ? และอะไรคือผลประโยชน์ทางธุรกิจของตน?