สองผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังคงออกเดินสายหาเสียงทั่วประเทศ ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้
ในสัปดาห์นี้ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และอดีตรองประธานาธิบดี โจ ไบเดน เดินหน้าหาเสียงในรัฐต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะมาขึ้นเวทีอภิปรายโต้วาทีนัดสุดท้ายที่รัฐเทนเนสซี ในวันพฤหัสบดีนี้ ซึ่งทั้งคู่มีกำหนดจะตอบคำถามในหลากเรื่อง อาทิ ประเด็นเชื้อชาติต่างๆ ในสหรัฐฯ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการต่อสู้รับมือกับโควิด-19
รายงานข่าวเปิดเผยว่า อดีตรองปธน.ไบเดน หยุดพักการหาเสียงในวันจันทร์ เพื่อเตรียมตัวขึ้นเวทีดีเบต ขณะที่ วุฒิสมาชิก คามาลา แฮร์ริส ตัวแทนพรรคเดโมแครตเข้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี เดินหน้าหาเสียงอยู่ในรัฐฟลอริดา ซึ่งเป็นเหมือนบ้านเกิดที่ 2 ของปธน.ทรัมป์ ส่วนรองปธน.ไมค์ เพนซ์ นั้นออกหาเสียงในพื้นที่รัฐเมนและรัฐเพนซิลเวเนียอยู่
ผลการสำรวจคะแนนความนิยมหลายสำนักชี้ว่า อดีตรองปธน.ไบเดนมีคะแนนนำ ปธน.ทรัมป์ ในระดับประเทศอยู่ถึง 9-10 เปอร์เซ็นต์ และราว 4-5 เปอร์เซ็นต์ในหลายรัฐสมรภูมิหลักๆ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะชี้วัดความสำเร็จของผู้ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้
แต่ปธน.ทรัมป์ ยังแสดงความมั่นใจว่า ตนจะได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งในสมัยที่ 2 อย่างแน่นอน แม้ว่าสถานีข่าวบางแห่งจะอ้างผลสำรวจความนิยมล่าสุดและฟันธงว่า อดีตรองปธน.ไบเดน จะเป็นผู้กำชัยชนะและก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 46 ของประเทศก็ตาม ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง ปธน.ทรัมป์ จะเป็นผู้นำประเทศคนที่ 3 ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ที่แพ้เลือกตั้งและอยู่ในตำแหน่งเพียงสมัยเดียว
อย่างไรก็ดี รอนนา แมคแดเนียล ประธานคณะกรรมการแห่งชาติพรรครีพับลิกัน แสดงความเชื่อมั่นว่า ผู้ที่สนับสนุนปธน.ทรัมป์ จะออกมาลงคะแนนเสียงให้อย่างเต็มที่ในวันเลือกตั้ง พร้อมกล่าวว่า “ผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันคนใดที่ไม่เห็นว่า การสนับสนุนปธน.(ทรัมป์) จะส่งผลดีกับตนเองอย่างไร จะเป็นผู้ที่ต้องเสียใจในระยะยาว” ด้วย
อย่างไรก็ดี ตัวชี้วัดชัยชนะของผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ นั้นไม่ใช่แต่ละคะแนนความนิยมจากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง แต่เป็นผลลัพธ์ของการเลือกตั้งในแต่ละเกือบทุกรัฐที่จะยกชัยชนะให้แก่คณะผู้เลือกตั้งตัวแทนพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากกว่าไปทั้งหมด ก่อนที่จะนำคะแนนคณะผู้เลือกตั้งจากทุกรัฐมาสรุปว่าผู้ท้าชิงจากพรรคที่จะได้ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ
ขณะเดียวกัน รายงานข่าวระบุว่า ในเวลานี้ มีชาวอเมริกันผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งออกมาใช้สิทธิ์ล่วงหน้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์แล้ว ที่เกือบ 28 ล้านคน ด้วยการไปลงคะแนนที่คูหาเลือกตั้งหรือส่งบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์ โดยจำนวนนี้สูงกว่าจำนวนผู้ใช้สิทธิ์ล่วงหน้าในช่วงเดียวกันของเมื่อ 4 ปีที่แล้วราว 6 เท่า
ผู้ที่มาใช้สิทธิ์ล่วงหน้าบางรายกล่าวว่า การที่ตัดสินใจมาลงคะแนนแต่เนิ่นๆ นั้นเป็นเพราะต้องการหลีกเลี่ยงการเจอผู้คนมากมายที่คูหาในวันเลือกตั้ง ขณะที่การระบาดของโควิด-19 ยังดำเนินอยู่