อุตสาหกรรมยาสูบใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นช่องทางโฆษณา

FILE - An anti-tobacco warning is seen on a road divider on the outskirts of New Delhi, India, Nov. 4, 2016.

ผู้แทนจาก 137 ประเทศเข้าร่วมการประชุมเรื่องการต่อต้านการสูบบุหรี่ เมื่อต้นเดือนตุลาคม เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเสนอนโยบายต่างๆ ในการรับมือกับปัญหาการแพร่ระบาดของการใช้ยาสูบทั่วโลก

คณะผู้จัดการประชุมกล่าวว่า หลังจากที่กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก(WHO) มีผลบังคับใช้เมื่อปี ค.ศ. 2005 การควบคุมการสูบบุหรี่เป็นไปในทางที่ดีขึ้น แต่ก็ยังมีเรื่องที่ต้องทำอีกมาก

ที่ประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาสมัยที่ 8 หรือ COP8 อธิบายว่า การเพิ่มภาษียาสูบเพื่อลดการขายบุหรี่ การกำหนดให้มีเขตปลอดบุหรี่ ปรับปรุงซองบุหรี่และการติดฉลากคำเตือน ตลอดจนห้ามการโฆษณา ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ยาสูบ ทำให้ยอดขายบุหรี่ลดลง

อย่างไรก็ตาม Vera da Costa e Silva หัวหน้าเลขาธิการอนุสัญญา กล่าวว่า การโฆษณาข้ามพรมแดนยังไม่สามารถควบคุมได้ และว่าบรรดาบริษัทยาสูบใช้ Instagram, Facebook หรือสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ ในการโฆษณาขายบุหรี่

เธอกล่าวต่อไปอีกว่า การใช้สื่อสังคมออนไลน์นั้นไม่เพียงแต่จะดึงความสนใจจากเยาวชนซึ่งเป็นผู้ที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์กันมากที่สุด แต่ยังทำให้การสูบบุหรี่เป็นที่ยอมรับในสังคมอีกด้วย

องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ปัจจุบันมีผู้สูบบุหรี่กว่าหนึ่งพันล้านคนทั่วโลก ซึ่ง 80% อาศัยอยู่ในประเทศที่มีระดับรายได้ต่ำและปานกลาง และมีผู้เสียชีวิตก่อนเวลาอันควรเนื่องมาจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ราวปีละกว่าเจ็ดล้านคน

คุณ Vera da Costa e Silva กล่าวส่งท้ายว่า ผลิตภัณฑ์ยาสูบใหม่ๆ เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการทำงานของสมัชชาภาคี (COP – Conference of the Parties) ซึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ควบคุมและห้ามการใช้บุหรี่อิเล็คทรอนิคส์ และการสูบละอองไอน้ำจากยาสูบ จนกว่าจะมีหลักฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบจากการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้