ผลการศึกษาชิ้นล่าสุดเกี่ยวกับการสุบบุหรี่กับผลต่อสุขภาพ ชี้ว่า ถึงแม้ว่าคุณจะสูบบุหรี่เพียงมวนเดียวต่อวัน คุณจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมากต่อการเกิดโรคหัวใจวาย หรือการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงหัวใจเเละสมอง
ผลการศึกษาชี้ว่า บุหรี่ทำให้ระดับไขมันในเลือดชนิดไตรกลีเซอไรด์ส (triglycerides) เพิ่มสูงขึ้น ไปลดระดับคอเลสเตอรอล HDL ซึ่งเป็นไขมันในเลือดชนิดดีลง ทำให้เลือดเหนียวมากขึ้น ง่ายต่อการเกาะตัวเป็นลิ่มเลือดที่ไปอุดตันเส้นเลือด ทำให้เลือดไม่ไปที่เลี้ยงหัวใจเเละสมอง
บุหรี่ยังสร้างความเสียหายเเก่เส้นเลือดเเละเพิ่มการเกาะตัวของก้อนไขมัน คอเลสเตอรอล เเคลเซียม เเละสิ่งอุดตันอื่นๆ ในเส้นเลือด
ทีมนักวิจัยในอังกฤษได้วิเคราะห์ผลการวิจัยมากกว่า 140 การวิจัย เเละได้สรุปว่า การสูบบุหรี่เพียงวันละหนึ่งมวน ผู้สูบจะมีความเสี่ยงต่ออาการหัวใจวายเพิ่มขึ้นถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เเละเสี่ยงมากขึ้นถึง 30 เปอร์เซ็นต์ต่ออาการอุดตันในเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงหัวใจ เพราะเลือดมีความเหนียวมากขึ้นเเละเกาะตัวเป็นลิ่ม โดยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นนี้เปรียบเทียบกับคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่เลย
เเม้ว่าจะมีผลการศึกษาหลายชิ้นตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ที่ชี้ถึงผลเสียของการสูบบุหรี่ที่เกิดกับสุขภาพ ยังมีคนทั่วโลกหนึ่งพันล้านคนที่ยังสูบบุหรี่ เเละ 7 ล้านคนเสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ทุกปี
คนส่วนใหญ่เริ่มสูบบุหรี่ก่อนที่อายุจะครบ 21 ปี เเละมีคนจำนวนมากที่เริ่มสูบบุหรี่ตั้งเเต่ตอนย่างเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นตอนต้น
สมาคมปอดอเมริกัน (American Lung Association) กำลังเร่งเร้าให้ทางการของรัฐต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ ปรับระดับอายุตามกฏหมายของชาวอเมริกันที่สามารถซื้อบุหรี่ได้ ให้สูงขึ้นเป็น 21 ปี
ทอมมัส คาร์ร (Thomas Carr) เเห่งสมาคมปอดอเมริกัน กล่าวว่า การปรับระดับอายุผู้ที่สามารถซื้อบุหรี่ได้ตามกฏหมายให้สูงขึ้น จะช่วยป้องกันไม่ให้เด็กวัยรุ่นอายุ 15 ถึง 17 ปีมีบุหรี่สูบได้ เพราะเด็กวัยรุ่นตอนต้นเหล่านี้ ส่วนมากจะขอบุหรี่จากเพื่อนที่เเก่กว่าอายุ 18 ปีที่เรียนในระดับมัธยมปลาย เเต่เด็กวัยรุ่นตอนต้นเหล่านี้ มักจะไม่คบหากับวัยรุ่นตอนปลายที่อายุ 19 ปี 20 ปี หรือ 21 ปี
มาจนถึงขณะนี้ มีรัฐต่างๆ ในสหรัฐฯ อย่างน้อย 5 รัฐที่ได้ปรับระดับอายุตามกฏหมายที่สามารถซื้อบุหรี่ได้ให้สูงขึ้นเเล้ว
การติดตามดูว่าใครสูบบุหรี่บ้างก็เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อช่วยให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขต่างๆ สามารถจัดทำโครงการที่ส่งเสริมการเลิกสูบบุหรี่ที่ตรงตามกลุ่มเป้าหมายเเละป้องกันการสูบบุหรี่ในประชากรกลุ่มอื่นๆ
เอ็มมานูเอลล่า กาคิอู (Emmanuela Gakidoa) แห่งสถาบันตรวจวัดและประเมินทางสุขภาพ (Institute for Health Metrics and Evaluation) กล่าวว่า ประเทศต่างๆ ที่มีคนสูบบุหรี่ลดลงอย่างมาก มักเป็นชาติที่ใช้มาตรการควบคุมยาสูบหลายมาตรการพร้อมกัน
มาตรการควบคุมยาสูบบางมาตรการ รวมถึง การเพิ่มภาษีสรรพสามิตเพื่อให้บุหรี่มีราคาเเพงขึ้น โดยเฉพาะสำหรับเด็กวัยรุ่น การสั่งห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะเเละในที่ทำงาน ตลอดจนการสั่งห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบ
นโยบายควบคุมยาสูบ ได้รับการสนันสนุนโดยองค์การอนามัยโลกเเละชาติที่เข้าร่วมในโครงการควบคุมบุหรี่นานาชาติ (Global Tobacco Control) เเละหากมีการนำไปบังคับใช้อย่างถูกต้อง ก็จะใช้ได้ผล
กาคิอู บอกว่า จำนวนคนสูบบุหรี่ยังไม่ลดลงเนื่องจากจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่พยายามเลิกบุหรี่เเละสามารถหยุดสูบบุหรี่ได้ในที่สุด พวกเขาจะมีความเสี่ยงที่ลดลงต่อการเกิดโรคร้ายที่มากับการสูบบุหรี่
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)