เทียบชัด 3 วัคซีนโควิดความหวังโลก

Une bouteille de vaccin contre le Covid-19 en essai clinique, le 17 novembre 2020.

หลังการประกาศความสำเร็จของบริษัทแอสตราเซเนกา เมื่อวันจันทร์ ที่พบประสิทธิภาพของวัคซีนที่พัฒนาในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ตอนนี้โลกมีความหวังด้านวัคซีนต้านโควิด-19 ล่าสุดออกมาตามหลังวัคซีนของบริษัทโมเดอร์นาและไฟเซอร์

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ต่างออกโรงเตือนว่า สิ่งที่พวกเขารู้เกี่ยวกับวัคซีนเหล่านี้ มีเพียงข้อมูลเพียงหยิบมือในข่าวของทางบริษัทให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนเท่านั้น และสามารถเปรียบเทียบความแตกต่างและจุดเด่นจุดด้อยของทั้งสามวัคซีนได้ดังนี้

ประสิทธิภาพ

ทั้ง 3 วัคซีนยืนยันประสิทธิภาพที่สูงอยู่แล้ว โดยตามมาตรฐานของสำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ หรือ FDA ระบุว่า วัคซีนโควิดที่บริษัทต่างๆกำลังพัฒนาอยู่นั้น จะต้องมีประสิทธิภาพมากกว่า 50% จึงจะสามารถยื่นขออนุมัติการใช้วัคซีนเป็นกรณีฉุกเฉินได้ ซึ่งวัคซีนของทั้ง 3 บริษัทผ่านเกณฑ์ดังกล่าว ในระดับการใช้ 2 เข็มเพื่อให้ประสิทธิภาพสูงสุด

วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ และโมเดอร์นา รายงานประสิทธิภาพ 95% ในการทดสอบกับมนุษย์ ส่วนวัคซีนของแอสตราเซเนกา ยืนยันประสิทธิภาพ 90%

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของวัคซีนว่าจะครอบคลุมผู้คนในวงกว้างได้หรือไม่ อีกทั้งยังไม่มีข้อมูลที่ระบุชัดเจนกว่า วัคซีนดังกล่าวจะช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 หรือเป็นการลดระดับความรุนแรงของการป่วยด้วยโควิด-19 เมื่อติดเชื้อเท่านั้น เพราะหากผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด ยังมีเชื้อไวรัสอยู่ในตัวและสามารถแพร่เชื้อได้ มาตรการสวมหน้ากากและรักษาระยะห่างทางสังคมก็ยังจำเป็นในการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโควิดอยู่ดี

ความปลอดภัย

วัคซีนจากทั้ง 3 บริษัท ไม่มีรายงานปัญหาด้านความปลอดภัยในการทดสอบวัคซีนที่น่ากังวล

สำหรับวัคซีนของไฟเซอร์ และโมเดอร์นา มีผลข้างเคียงอย่างเช่น อาการปวดแขน มีไข้ และอ่อนเพลีย คล้ายกับการรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปี ส่วนวัคซีนจากแอสตราเซเนกา ไม่มีผลข้างเคียงที่น่ากังวล แต่มีรายงานว่า บริษัทระงับการทดสอบไปแล้ว 2 ครั้ง หลังพบปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทกับอาสาสมัครที่ร่วมทดลองวัคซีน

พร้อมใช้งานแค่ไหน?

แอสตราเซเนกา ยืนยันความพร้อมด้านปริมาณวัคซีนมากกว่าไฟเซอร์และโมเดอร์นา โดยซีอีโอของบริษัท Pascal Soriot ไม่ได้ระบุชัดว่าวัคซีนที่ผลิตได้มีอยู่เท่าไหร่ แต่บริษัทมีข้อตกลงในการผลิตวัคซีน 1,700 ล้านโดสทั่วโลก และมีข้อตกลงกับทาง Serum Institute of India เพื่อผลิตวัคซีนโควิด-19 ราว 1 พันล้านโดส ให้กับกลุ่มประเทศรายได้น้อยและปานกลาง

ส่วนไฟเซอร์ ตั้งเป้าผลิต 50 ล้านโดสทั่วโลกภายในสิ้นปีนี้ และอีก 1,300 ล้านโดสในปีหน้า

และโมเดอร์นา ตั้งเป้าผลิตและแจกจ่ายวัคซีนโควิด 20 ล้านโดส ในสหรัฐฯปีนี้ และอีก 500-1,000 ล้านโดสทั่วโลกในปีหน้า ทันทีที่ได้รับการอนุมัติจาก FDA

การแจกจ่ายวัคซีน

วัคซีนจากแอสตราเซเนกา ง่ายต่อการขนส่งและจัดเก็บกว่าบริษัทอื่น และมีอายุการใช้งานอย่างน้อย 6 เดือนหากจัดเก็บในตู้แช่เวชภัณฑ์ทั่วไป

ส่วนวัคซีนจากโมเดอร์นาและไฟเซอร์ ต้องแช่แข็งไว้สำหรับการจัดเก็บเป็นเวลานาน โดยวัคซีนของโมเดอร์นามีอายุการใช้งานประมาณ 1 เดือนในตู้แช่เย็น ส่วนวัคซีนของไฟเซอร์ มีอายุการใช้งานเพียง 5 วันและต้องจัดเก็บที่ความเย็นจัด

ราคาวัคซีน

วัคซีนโควิดจากบริษัทแอสตราเซเนกามีราคาถูกที่สุดเมื่อเทียบกับบริษัทอื่น โดยระบุว่า ต่อวัคซีนมีราคาต่ำกว่า 5 ดอลลาร์ หรือราว 150 บาท เมื่อเทียบกับราคา 20-40 ดอลลาร์ต่อวัคซีนของบริษัทอื่น จากที่รัฐบาลต่างๆจะเป็นผู้ซื้อวัคซีนรายใหญ่ รวมทั้งหน่วยงานไม่แสวงผลกำไรที่จะจัดหาวัคซีนเพื่อช่วยเหลือกลุ่มประเทศที่รายได้น้อยและปานกลางทั่วโลก

(เรียบเรียงรายงานจาก Steve Baragona ผู้สื่อข่าว VOA)