เปิดศักราชปี 2024 เทศมองไทย จากห้องข่าววีโอเอ ส่องประเด็นการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นแก่ภูมิทัศน์การเมืองและสังคมของไทย หลังสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นแล้วที่ประเทศไทยเมื่อปีก่อน
ปี 2023 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงที่ปรับภูมิทัศน์ทางการเมืองและสังคมไปอย่างชัดเจน ตั้งแต่การสิ้นสุดการปกครองของทหารที่ดำเนินมาเกือบทศวรรษ แทนที่ด้วยรัฐบาลพลเรือนใหม่หลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคมปีก่อน ที่ถือเป็นการกลับมาของพรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำโดยนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย นายเศรษฐา ทวีสิน อย่างไรก็ตาม ความหวังและความปรารถนาของประชาชนชาวไทยยังไม่ได้รับการเติมเต็มอย่างเต็มที่ในหลายด้าน
แล้วทิศทางการเมืองและสังคมไทยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างในปี 2024 นี้?
มุ่งเน้นด้านเศรษฐกิจ
นายกฯ เศรษฐา ได้ให้คำมั่นในการมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ซึ่งนายประวิตร โรจนพฤกษ์ นักข่าวอาวุโสจากข่าวสดอิงลิช สื่อภาษาอังกฤษที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ให้ทัศนะกับวีโอเอว่า “ช่วงเวลาพักผ่อนของรัฐบาลเศรษฐาดูเหมือนว่าจะหมดลงแล้ว และประชาชนจะคาดหวังผลลัพธ์ที่รัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร หลังจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซามาเกือบทศวรรษภายใต้ระบอบการปกครองแบบทหารและกึ่งทหาร”
ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ราว 3.2% ในปี 2024 โดยเมื่อปีที่แล้ว การเติบโตของเศรษฐกิจไทยถือว่ายังไม่สดใสนัก โดยขยายตัวในกรอบ 2.5% - 3.0%
นโยบายที่ได้รับความสนใจ คือ โครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท หรือ ดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะมอบให้กับคนไทย 50 ล้านคนในปี 2024 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ขณะที่ผู้สังเกตการณ์ต่างคลางแคลงใจถึงศักยภาพของนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทยในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
หนทางเดียวที่อาจเป็นไปได้ คือผ่านการลงทุนจากต่างชาติ โดยที่ผ่านมา นายกฯ เศรษฐาได้พบกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ และแสวงหาการลงทุนจากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างกูเกิลและไมโครซอฟท์
นอกจากนี้เขายังได้พบปะกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เพื่อหวังกระตุ้นการค้าและการท่องเที่ยวของประเทศ โดยที่นายกฯ เศรษฐา เลี่ยงที่จะเลือกข้างบนความตึงเครียดทางการเมืองระดับโลก แต่ต้องการส่งสัญญาณให้โลกรู้ว่าประเทศไทยเปิดกว้างสำหรับภาคธุรกิจต่าง ๆ
การท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัว
หนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญของไทยอย่างหนึ่งการภาคการท่องเที่ยว ในปี 2019 นักท่องเที่ยว 39 ล้านคนเดินทางมาเยือนประเทศไทย ทำรายได้เข้าประเทศคิดเป็นสัดส่วน 12% ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพีของไทย
นับตั้งแต่นายกฯ เศรษฐาเข้ามาบริหารประเทศ ได้พยายามกระตุ้นการท่องเที่ยวด้วยการผ่อนคลายเงื่อนไขด้านวีซ่าให้แก่นักท่องเที่ยวในตลาดใหญ่ อย่างจีน รัสเซีย และอินเดีย โดยประเทศไทยตั้งเป้าว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากต่างชาติมาเยือน 27 ล้านคนภายในสิ้นปี 2024 นี้
แกรี โบเวอร์แมน นักวิเคราะห์ด้านการท่องเที่ยว เชื่อว่าประเทศไทยจะพอใจกับตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนในปีนี้ แต่ไทยเองจะต้องมีการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ โดยกล่าวกับวีโอเอว่า “การท่องเที่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2024 จะเป็นปีที่มีการแข่งขันสูงและแต่ละพื้นที่จะต้องสร้างความหลากหลาย มีกลยุทธ์เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งการหาจุดสมดุลในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่ง”
แต่ภาคการท่องเที่ยวอาจได้รับผลกระทบหากทางการไทยยังหาทางรับมือกับเหตุยิงกราดในประเทศไม่ได้ โดยประเทศไทยเผชิญกับเหตุยิงกราดครั้งที่ 3 ในรอบไม่กี่ปีมานี้ ที่ย่านช็อปปิงใจกลางกรุงเทพฯ เมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน คร่าชีวิตอย่างน้อย 3 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นมีนักท่องเที่ยวชาวจีนอยู่ด้วย และส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนจำนวนมากยกเลิกการเดินทางเยือนประเทศไทย
ทั้งนี้ ทางการไทยยังยืนยันว่าประเทศไทยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความปลอดภัย และคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 35-40 ล้านคนเดินทางมาเยือนไทยในปี 2024 นี้
ขณะที่เหตุยิงกราดรอบล่าสุดนี้ ได้ทำให้รัฐบาลไทยย้อนกลับมาสอดส่องกฎหมายอาวุธปืนของประเทศ ที่ถือว่าผ่อนปรนอย่างมากในเอเชีย
ประเด็นที่ต้องกังวลอีกเรื่อง คือ การประท้วงตามท้องถนนและความไม่สงบทางการเมืองที่อาจสะเทือนการท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัวได้
โดยในเดือนมกราคมนี้ ต้องจับตาอนาคตของพรรคก้าวไกล ที่แม้จะได้รับเสียงสนับสนุนมากที่สุดในการเลือกตั้งเมื่อปีก่อน พ่วงด้วยแรงหนุนจากคนรุ่นใหม่ชาวไทย แต่อนาคตของพรรคยังไม่แน่นอนในประเด็นแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีกำหนดลงมติปมแก้ม.112 ในสิ้นเดือนมกราคมนี้
ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พรรคก้าวไกลก็มีความเสี่ยงที่จะถูกยุบพรรค ขณะที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กำลังเผชิญกับการถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองในปีนี้ จากข้อกล่าวหาในประเด็นถือหุ้นสื่อ
ประวิตร เสริมว่า “ในระหว่างนี้ประเด็นปฏิรูปสถาบันที่กระตุ้นให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งรุ่นใหม่ตื่นตัวนั้นยังไม่บรรลุเป้าหมาย เนื่องจากพรรคก้าวไกลเป็นพรรคเดียวที่ผลักดันให้เกิดการปฏิรูปดังกล่าว ซึ่งหากในเดือนมกราคมนี้พรรคอาจถูกยุบโดยศาลรัฐธรรมนูญด้วยประเด็นดังกล่าว พ่วงด้วยหัวหน้าพรรคก้าวไกลที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี ความไม่แน่นอนทางการเมืองจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในเดือนมกราคมนี้”
สิทธิ์การแสดงออกบนโลกออนไลน์
ข้อมูลรายงานประจำปีที่เผยแพร่มื่อเดือนตุลาคมของมูลนิธิมานุษยะ ร่วมกับองค์กรฟรีดอมเฮาส์ เผยว่าทางการไทยยังคงเดินหน้าข่มเหงผู้เห็นต่างและซุ่มเสียงจากฝั่งตรงข้ามบนโลกออนไลน์
เอมิลี พาลามี ประดิจิต ผู้ก่อตั้งมูลนิธิมานุษยะ กล่าวว่าการจัดการกับการประหัตประหารทางออนไลน์ถือเป็น “สิ่งสำคัญ” สำหรับรัฐบาลชุดใหม่ โดยกล่าวกับวีโอเอว่า “การใช้เทคโนโลยีสอดส่องนักเคลื่อนไหวทางการเมืองจะยิ่งทำให้มีความท้าทายมากขึ้น เมื่อมองไปในปี 2024 การจัดการกับประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญในการส่งเสริมสภาพแวดล้อมบนโลกอินเตอร์เน็ตที่เปิดกว้างและทุกฝ่ายมีส่วนร่วมมากขึ้น”
ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม
ประเทศไทยมีความคืบหน้าในการผลักดันการผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งหากได้รับเสียงสนับสนุนจนถูกประกาศใช้เป็นกฎหมาย ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อนุญาตให้มีการสมรสของคนเพศเดียวกัน
มุกดาภา ยั่งยืนภราดร เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชนประจำประเทศไทย ฟอร์ตี้ฟายไรต์ กล่าวกับวีโอเอว่า “การตัดสินใจของรัฐสภาถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับประเทศไทยในการมอบสิทธิอย่างเต็มที่และเท่าเทียมกันแก่กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ เราหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นการผ่านร่างกฎหมาย อย่างน้อยก็ในสภาผู้แทนฯ ในเดือนมิถุนายนนี้”
นโยบายด้านกัญชา
ในเดือนมิถุนายน 2022 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้ปลดล็อกกัญชาออกจากรายชื่อเสพติดให้โทษ ซึ่งทำให้เกิดร้านรวงกัญชาเป็นดอกเห็ดไปทั่วประเทศไทย
แต่นายกฯ เศรษฐาได้กล่าวกับสื่อสหรัฐฯ เมื่อเดือนกันยายนปีก่อนว่า ประเทศไทยจะผลักดันกฎหมายให้อนุญาตการใช้กัญชาเพื่อเหตุผลด้านการแพทย์เท่านั้น ซึ่งสร้างความกังวลให้กับชุมชนกัญชาในประเทศไทยอย่างยิ่ง
แต่ในมุมมองของคิตตี้ ช่อผกา นักเคลื่อนไหวด้านกัญชาในกรุงเทพฯ ยืนยันว่ากัญชาจะยังไม่ไปไหน โดยกล่าวกับวีโอเอว่า “การหันหลังกลับไปไม่ใช่ทางเลือก ไม่ว่านายกฯ จะพูดอย่างไร หนทางเดียวที่จะเกิดขึ้นคือการออกกฎควบคุมต่างหาก”
- ที่มา: วีโอเอ