หลังจากที่รัฐสภาไทยมีมติรับรองนายเศรษฐา ทวีสิน ผู้ได้รับเสนอชื่อจากพรรคเพื่อไทย ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ สื่อต่างชาติหลายสำนักได้สอบถามความเห็นของนักวิเคราะห์การเมืองไทยหลายคนถึงทิศทางของรัฐบาลไทยชุดใหม่ ตลอดจนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ
สื่อเอพี สอบถามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญการเมืองไทย ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อการเมืองไทยหลังจากนี้
ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า พรรคร่วมรัฐบาลชุดใหม่นี้มีแนวคิดและผลประโยชน์ที่หลากหลายต่างกันไป ซึ่งจะทำให้เป็นรัฐบาลที่ "ไม่มีความสุข" นอกจากนี้ยังมีกระแสต่อต้านจากบรรดาผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยบางส่วนเองด้วย
แต่ ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีพรรคก้าวไกลทำหน้าที่ผลักดันให้เกิดการปฏิรูปบางอย่างในฐานะพรรคฝ่ายค้าน
Your browser doesn’t support HTML5
ขณะที่สื่อนิวยอร์กไทมส์รายงานว่า นายเศรษฐาซึ่งมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร จะเผชิญความท้าทายมากมาย ตั้งแต่การตอบคำถามจากการเปลี่ยนขั้วไปเข้าร่วมกับพรรคการเมืองฝั่งอนุรักษ์นิยมที่เคยอยู่ฝ่ายตรงข้ามกัน การจัดการความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับสถาบันที่ทรงอำนาจในประเทศ คือกองทัพและผู้จงรักภักดีต่อราชวงศ์ ไปจนถึงการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน
นิวยอร์กไทมส์ระบุว่า เมื่อเดือนเมษายน นายเศรษฐาได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ว่า ตนมีแรงจูงใจให้เข้าสู่เส้นทางการเมืองเพราะเห็น "การจัดการที่ผิดพลาดในประเทศนี้" และว่า หากเป็นนายกรัฐมนตรี ตนจะเดินหน้าจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีและสนับสนุนให้ไทยกลายเป็นจุดหมายหลักของการลงทุนจากต่างชาติ รวมถึงจะขึ้นภาษีเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางรายได้ของประชาชนในประเทศ
เขา (เศรษฐา) เป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นสูงในกรุงเทพฯ ซึ่งนั่นถือเป็นจุดแข็ง แต่หากมองในมุมทางการเมืองก็อาจเป็นจุดอ่อนได้เช่นกันดันแคน แมคคาร์โก นักวิเคราะห์แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง
ดันแคน แมคคาร์โก นักวิเคราะห์แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (Nanyang Technological University) ในสิงคโปร์ ให้ความเห็นกับนิวยอร์กไทมส์ว่า แม้เศรษฐาจะอาจจะไม่ได้รับแรงสนับสนุนมากนักในพื้นที่ต่างจังหวัด แต่ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ มองว่าเขาอาจเป็นผู้ที่เข้ามาจัดการเศรษฐกิจของประเทศได้
"ภาพของเศรษฐาสอดคล้องกับคำพูดที่ว่า 'คนไทยชอบเศรษฐี' " และ "เขาเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นสูงในกรุงเทพฯ ซึ่งนั่นถือเป็นจุดแข็ง แต่หากมองในมุมทางการเมืองก็อาจเป็นจุดอ่อนได้เช่นกัน" อาจารย์แมคคาร์โกกล่าว
ในทางสังคม เศรษฐาถูกมองว่าเป็นผู้ที่แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาทางสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งไม่ค่อยเห็นนักในหมู่นักธุรกิจของไทย เขายังสนับสนุนกลุ่มความหลากหลายทางเพศ เช่น การจัดให้มีห้องน้ำแบบไม่ระบุเพศในบริษัทของตนเอง และขอให้พนักงานล้มเลิกความคิดเลือกปฏิบัติทางเพศด้วย ตามรายงานของนิวยอร์กไทมส์
มองความสัมพันธ์ไทย-อเมริกา ภายใต้ 'รัฐบาลเศรษฐา'
สื่อวอลสตรีทเจอนัลรายงานว่า การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ของไทยที่มาจากการเลือกตั้ง อาจเป็นการเปิดประตูให้สหรัฐฯ กลับมากระชับความสัมพันธ์กับไทยมากขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่นโยบายของรัฐบาลไทยชุดก่อนค่อนข้างเอนเอียงไปทางจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
วอลสตรีทเจอนัลระบุว่า ไทยและอเมริกามีความสัมพันธ์ด้านการทหารที่ดีต่อกันมายาวนาน กองทัพไทยคือลูกค้าอาวุธรายใหญ่ของสหรัฐฯ และผู้นำทหารระดับสูงหลายคนก็เข้าร่วมฝึกฝนในสถาบันด้านการทหารที่มีชื่อเสียงของสหรัฐฯ
แต่เหตุรัฐประหารเมื่อปี 2014 ทำให้ความสัมพันธ์ของสองประเทศลดถอยลง เมื่อสหรัฐฯ ลดความช่วยเหลือด้านการทหารให้แก่ไทยมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ ทำให้เกิดช่องว่างให้จีนเข้ามาแทน
ริชาร์ด ยาร์โรว นักวิชาการแห่งฮาร์เวิร์ด เคนเนดี สคูล (Harvard Kennedy School) ให้ความเห็นกับวอลสตรีทเจอนัลว่า "ที่ผ่านมา ไทยถูกมองว่าเกิดรัฐประหารบ่อยครั้ง ทำให้เกิดความไม่แน่นอนว่าใครจะเป็นผู้บริหารประเทศ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการลงทุนจากต่างชาติ และการลงทุนภายในประเทศ"
วอลสตรีทเจอนัลชี้ว่า ปัจจุบันสหรัฐฯ คือคู่ค้ารายใหญ่ของไทย โดยมีจีนตามมาเป็นที่สอง แต่ไทยมีความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมที่ลึกซึ้งกับจีน และไม่มีความขัดแย้งด้านพรมแดนกับจีนเหมือนเวียดนามและฟิลิปปินส์ จึงทำให้ไทยค่อนข้างใกล้ชิดกับจีนได้ง่ายกว่า
สื่อสหรัฐฯ รายนี้เชื่อว่า การมีรัฐบาลพลเรือนชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งที่นำโดยพรรคเพื่อไทย จะทำให้รัฐบาลกรุงวอชิงตันมีเหตุผลที่จะเข้าไปสานสัมพันธ์กับไทยได้อีกครั้ง ซึ่งเป็นการสอดรับกับนโยบายของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ต้องการสร้างพันธมิตรที่แนบแน่นในเอเชียเพิ่มขึ้น หลังจากที่ขยายความร่วมมือกับเวียดนามและฟิลิปปินส์ไปแล้วในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
- ที่มา: เอพี นิวยอร์กไทมส์ และวอลสตรีทเจอนัล