คณะผู้แทนไทยจากกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคม เดินทางมายังกรุงวอชิงตัน ในช่วงสัปดาห์นี้ เพื่อร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทย กับหลายหน่วยงานของสหรัฐฯ รวมทั้ง ฝ่ายจัดทำรายงานการค้ามนุษย์หรือ ทิปรีพอร์ท ประจำปี ที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐ
แสวงหาความร่วมมือปราบปรามการค้ามนุษย์
เชษฐพันธ์ มากสัมพันธ์ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิคใต้ ตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศ บอกกับวีโอเอ ไทยถึงการเดินทางในครั้งนี้ เพื่อประสานความร่วมมือในเรื่องปัญหาการค้ามนุษย์กับทางการสหรัฐฯมากขึ้น
“ที่จริงการสร้างความเข้าใจเป็นหนึ่งในภารกิจแต่จริงๆนี่มันมีภารกิจที่สำคัญกว่าหลายเรื่องแต่จริงๆแล้วก็คือหัวข้อสำคัญก็คือความร่วมมือกับสหรัฐฯในเรื่องของการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ซึ่งอันนี้ก็เป็นประเด็นที่ทางสหรัฐให้ความสำคัญ ซึ่งจริงๆรัฐบาลไทยก็ถือว่าเป็นวาระของชาติด้วยที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งเราก็มองว่าปัญหาเรื่องนี้เป็นปัญหาของโลกนะครับซึ่งมันก็มีความรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะเรื่องของปัญหาการค้ามนุษย์ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ..
.. ดังนั้นการที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะดำเนินการแก้ไขปัญหามันทำไม่ได้ประเทศเดียวมันต้องอาศัยความร่วมมือกับประเทศต่างๆทั้งในภูมิภาคและประเทศที่เป็นพันธมิตรกับเรานะครับ ..” เชษฐพันธ์ มากสัมพันธ์ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิคใต้ กล่าว
ไทยยกระดับมาตรฐานปราบค้ามนุษย์
ในรายงานการค้ามนุษย์ หรือ ทิปรีพอร์ท ประจำปี 2022 ที่ผ่านมา ไทยได้รับการปรับอันดับอยู่ในกลุ่ม Tier 2 ขึ้นมาจากระดับ Tier 2 Watch List หรือกลุ่ม Tier 2 เฝ้าระวัง เมื่อปีก่อนหน้านี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามอย่างมีนัยสำคัญทั้งภาครัฐและเอกชนของไทย เพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบค้ามนุษย์ ขณะเดียวกันในปีนึ้คณะผู้แทนของไทยระบุว่า ยังคงมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้นในหลายด้าน
“คือทางเขาให้ความสำคัญกับตัวผู้เป็นเหยื่อ ซึ่งอันนี้เราก็พยายามจะมีการมีส่วนร่วมของผู้เป็นเหยื่อมากขึ้น คือบางทีแต่ก่อนแล้วอาจจะมองว่าทางกฎหมายมุมมองผู้ปฏิบัติ แต่เรามองว่าการแก้ปัญหาในระดับครบวงจร มันต้องอาศัยความเห็นการมีส่วนร่วมของผู้เคยเป็นเหยื่อ เพื่อป้องกันใช่ไหมว่า คดีแบบรูปแบบแบบนี้เนี่ยมันจะแก้อย่างไรเพื่อป้องกันการถูกหลอกในอนาคตต่างๆเป็นต้นเนี่ยผมคิดว่าอันนี้เป็นสิ่งที่เราเห็นตรงกันกับทางฝ่ายสหรัฐฯ ต้องให้ความสำคัญมาก แล้วมันก็มีพัฒนาการค่อนข้างสูง..
อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิคใต้ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าว กับ ‘วีโอเอ ไทย’กล่าวต่อไปว่า
..ส่วนในเรื่องอื่นๆ แน่นอน มีตัวเลข (การจับกุม) เพิ่มมากขึ้น ความเร็วในการพิจารณาคดีเร็วขึ้น ไม่ได้ชักช้านะครับ มีการดำเนินการกับทางเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดอย่างจริงจัง มีการฟ้องคดี มีการตัดสินคดีต่างๆ ทำให้เขาเห็น ผมคิดว่าองค์รวมสำคัญ องค์รวมคือเขาเห็นว่าเราจริงจังกับเรื่องนี้ แล้วมีพัฒนาการในทุกเรื่องที่เป็นตัวชี้วัดเนี่ยค่อนข้างชัดเจน อันนี้ผมคิดว่าอันนี้สำคัญ ซึ่งเราก็หวังว่าน่าจะดีขึ้นไปเรื่อยๆอาจจะไม่ถึงเทียร์ 1 (Tier 1) นะครับแต่ก็ยังรักษาตรงนี้ดีเป็นTier2 อยู่ แต่เป็น Tier2 ที่มันมีพัฒนาการอีก จนกระทั่งในที่สุดแล้วมันสามารถจะนำไปสู่ Tier 1 ได้ในอนาคต..”
รองผบ.ตร. ย้ำ แก้กฎหมาย ปราบจริงจัง
หนึ่งในพัฒนาการสำคัญที่ถือเป็นกลไกยกระดับการจัดการขบวนการค้ามนุษย์อย่างได้ผล คือ การบังคับใช้กฏหมายของเจ้าหน้าที่ และการปรับแก้กฎหมายและบทลงโทษ ที่จัดการกับกลุ่มค้ามนุษย์ได้ผลมากขึ้น
“เรื่องความก้าวหน้าที่เรามีการแก้กฎหมายหลายส่วนโดยเฉพาะกฎหมายของเราที่สำคัญ ก็คือว่าเราได้มีการแก้กฎหมายเรื่องการยึดทรัพย์ วันนี้มาตรการที่เรานำมาใช้นะครับในเรื่องของการปราบปรามการค้ามนุษย์ ต้องอย่าลืมว่าขบวนการค้ามนุษย์เป็นกระบวนการวันนี้ อาจจะกลับไม่ได้แบ่งเป็นส่วนๆอาชญากรรมเนี่ยเชื่อมโยงกันหมด ค้ามนุษย์ฯ ก็ไปเชื่อมกับแก๊งค์คอล เซ็นเตอร์ ค้ามนุษย์ฯ ก็เชื่อมกับไฮบริดสแกม (แก๊งค์ล่อลวงทางออนไลน์) ค้ามนุษย์ก็ไปเชื่อมกับยาเสพติด ค้ามนุษย์ควรเชื่อมกับ (Fisheries Crime) อาชญากรรมการประมง มันไปร่วมกันทั้งหมด เพราะฉะนั้นอาชญากรรมมันก็มารวมกันทั้งหมดทุกส่วนนะครับ โดยการพัฒนาการเรื่องเทคโนโลยี เรื่องออนไลน์นะครับ”
พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ บอกกับ วีโอเอ ไทย และอธิบายถึงความคืบหน้าในการปรับแก้กฎหมายให้บังคับใช้ได้ผลมากขึ้นว่า
“..วันนี้เนี่ยเราได้มีการแก้กฎหมายเรื่องการเราใช้มาตรการยึดทรัพย์ดำเนินคดีความผิดฐานยื่นภาษีอากร ดำเนินความผิดฐานอาญาฟอกเงินนะครับ เพื่ออะไรครับ? เพื่อจะยึดทรัพย์ลงไป 7 ชั่วโคตร เช่นยึดทรัพย์ที่ตัวแล้ว โอนทรัพย์ไปอยู่พ่อแม่ลูกป้าน้าอา มีที่ดินมีบ้านกี่หลังยึดหมดนะครับ เพราะฉะนั้นอะไรครับขบวนการเหล่านี้เนี่ยก็จะไม่มีเรื่องมีแรงเนี่ยกลับมากระทำการกระทำความผิดฐานทางมนุษย์ได้อีกเลย เพราะว่าทรัพย์สินต่างๆโดนยึดหมดแล้วนะครับ ส่วนที่สองเราแก้กฎหมายเรื่องการยึดทรัพย์ เมื่อก่อนยึดทรัพย์มาแล้ว ทรัพย์ทั้งหมดเนี่ยจะตกเป็นของแผ่นดิน ตอนนี้เราแก้กฎหมายว่าให้ทรัพย์ทั้งหมดเฉลี่ยทรัพย์ไปเป็นของผู้เสียหายนะครับ เพราะฉะนั้นก็คือหลักในการยึดผู้เสียหายไปศูนย์กลางนะครับ เพราะฉะนั้นอันนี้ก็คือเป็นหลักที่สอดคล้องกับรัฐบาลสหรัฐฯ รัฐบาลสหรัฐฯให้ยึดผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง คำนึงถึงบาดแผลในจิตใจของผู้เสียหาย..”
พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ย้ำว่า แม้ที่ผ่านมาจะมีการปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างจริงจังและมีผลการจับกุมที่เพิ่มมากขึ้น แต่เป้าหมายสูงสุดคือการยกระดับความร่วมมือเพื่อจัดการกับปัญหาขบวนการค้ามนุษย์อย่างเด็ดขาด
“.. แน่นอนนะครับสถานการณ์ในแต่ละประเทศเนี่ยย่อมแตกต่างกันตามภูมิประเทศ ตามลักษณะของแต่ละประเทศนั้นๆประเทศไทยเราก็มีสาขาที่แตกต่างจากประเทศอื่นเหมือนกัน แต่เราเนี่ยเอาแพทเทิร์น (รูปแบบ) ที่ดีของประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาเนี่ย เอามาใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อน เพราะฉะนั้นการทำงานวันนี้เราไม่ได้พุ่งเป้าว่าเราต้องเป็นเทียร์ 2 เทียร์ 1 อยู่ตลอดเวลาไม่ใช่..เราจะต้องยึดหลักว่าทำอย่างไรถึงจะให้ประเทศไทยเราเนี่ย ไม่มีขบวนการค้ามนุษย์ ไม่มีการหลอกลวงเด็ก ไม่มีการละเมิดเด็ก ไม่มีการหลอกลวงคนไปทำงานในต่างแดนนะครับ อันนี้คือเป้าหมายหลักนะส่วนเรื่องการพิจารณาทิปรีพอร์ท คือผมมองว่า ถ้าเราทำเสมือนทำเนื้อตัวดีนะครับ เรื่องทิปรีพอร์ท เนี่ยสุดท้ายเราก็ต้องเป็น เทียร์ (Tire) 1..”
หุ้นส่วนร่วมกับสหรัฐฯปราบปรามค้ามนุษย์ในภูมิภาค
พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กล่าวถึงแนวคิดที่ขอความร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐในการจะเสนอเป็นหุ้นส่วนทำงานร่วมกันเพื่อปราบปรามการค้ามนุษย์ในภูมิภาค
“..สิ่งสำคัญที่ผมต้องการจากรัฐบาลสหรัฐฯ ก็คือ ผมก็เรียนเข้าไปนะครับว่า หนึ่งเราต้องการเป็นพาร์ทเนอร์ (Partner)ร่วมกันนะครับ เราก็ต้องการแต่ไม่ได้หมายความว่าเราทำแค่ส่งรายงาน ไม่ใช่แค่ทิปรีพอร์ทนะครับ แต่วันนี้สิ่งสำคัญคือเมื่อประเทศไทยเนี่ยเดินหน้ามาถึงเรื่องการบังคับใช้กฎหมายอย่างก้าวกระโดด เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญเนี่ยวันนี้จะต้องเปลี่ยนใหม่มาเป็นพาร์ทเนอร์ ร่วมกันนะ แต่ไม่ใช่ว่าเราจะต้องเป็นคนส่งรายงานนะ การส่งรายงานเนี่ยก็ช่วยได้อย่างนึง แต่มันไม่เหมือนกันการ working Group(ทำงานเป็นกลุ่ม) การมานั่งเป็นพาร์ทเนอร์ ร่วมกัน แล้วก็ขาดเหลืออะไรมาเติมกัน เพราะฉะนั้นวันนี้สิ่งต่างๆที่สหรัฐฯคอมเมนท์เรามา 14 ข้อวันนี้เราทำครบหมดแล้ว การจะเดินหน้าร่วมกันเชื่อมั่นได้เลยว่ารัฐบาลสหรัฐฯต้องพุ่งเป้ามาที่เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางในอาเซียน ในเรื่องของการค้ามนุษย์ที่จะต้องเป็นตัวอย่างให้กับประเทศ ลาว กัมพูชา เวียดนาม ต่างๆ เพื่อจะเป็นโมเดลที่จะเดินหน้าเรื่องการปราบปรามการค้ามนุษย์เหมือนกับประเทศไทย”
รายงานประจำปีด้านการค้ามนุษย์ หรือ Trafficking in Person Report (TIP Report) เป็นเครื่องมือวิจัยและการทูตของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความพยายามของรัฐบาลต่าง ๆ ในการปราบปรามการค้ามนุษย์ที่สมบูรณ์ครอบคลุมที่สุดในโลก โดยไม่เพียงจะประเมินความคืบหน้าด้านมาตรการและนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลทั่วโลกแล้ว ยังมีการชี้แนะยุทธศาสตร์ที่จะช่วยแก้ปัญหาอาชญากรรมนี้ รวมทั้งการปกป้องเหยื่อด้วย โดยในรายงานปี 2022 ซึ่งเป็นรายงานประจำปีที่ 22 ได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องจาก 188 ประเทศและเขตแดน ซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ ด้วย