การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ตลาดมหาชัย ในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งถือเป็นครั้งที่ร้ายแรงที่สุดในไทย นับตั้งการเริ่มต้นของสภาวการณ์ระบาดใหญ่เมื่อช่วงปีที่ผ่านมา นำไปสู่ประเด็นสำคัญหลายด้านที่ทางการไทยพยายามสืบสวนและเร่งแก้ปัญหาหา โดยเฉพาะในเรื่องของขบวนการลักลอบค้าแรงงานเถื่อน ที่รัฐบาลไทยเชื่อว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในชุมชนแรงงานต่างด้าวชาวพม่า ที่อาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในแถบจังหวัดสมุทรสาคร
ท่าทีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ที่มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนพิเศษเอาผิดขบวนการลักลอบนำแรงงานผิดกฎหมายเข้าประเทศ ยืนยันชัดเจนถึงปัญหาที่ต้องเร่งสะสาง นายกรัฐมนตรีของไทย ยังเน้นย้ำในที่ประชุมสภากลาโหม ที่รับผิดชอบในด้านความมั่นคงว่าต้องหาตัวผู้อยู่เบื้องหลังมาลงโทษและเอาผิดให้ได้
ไล่ล่า จนท.ไทยเอี่ยวขบวนการค้ามนุษย์
พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ซึ่งเข้าร่วมประชุมสภากลาโหม ให้สัมภาษณ์กับ ผู้สื่อข่าว วีโอเอ ว่า ทางการไทยเชื่อว่ามีเจ้าหน้าที่ไทยบางคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบนำเข้าแรงงานอย่างผิดกฎหมาย และจะเร่งจัดการในเรื่องนี้
เช่นเดียวกับ ผศ.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของไทย กล่าวว่า ทางการไทยจะติดตามเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือใครก็ตามที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำผิดกฎหมายนี้มาลงโทษ แม้จะใช้เวลา แต่ก็จะพยายามสาวไปให้ถึงผู้บงการ
ก่อนหน้านี้ ทางการไทยได้จับขบวนการลักลอบค้าแรงงานข้ามชาติเข้าประเทศ ซึ่งมีหนึ่งในผู้ต้องหาเป็นนักการเมืองท้องถิ่นในจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่นำชาวพม่ามาใช้แรงงานประมงอย่างผิดกฎหมาย นอกจากนี้ทางการไทยยังระบุว่า ได้จับกุมและดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ไทย 14 รายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าแรงงานเถื่อน ในปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา
ชี้เครือข่ายทุจริตแรงงานเถื่อน ฝังรากลึก-รุนแรง
ฟิล โรเบิร์ตสัน (Phil Robertson) ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายภูมิภาคเอเชีย องค์กรสิทธิมนุษชน 'ฮิวแมนไรต์ วอตช์' บอกว่า ไม่ได้คาดหวังว่าคณะทำงานสืบสวนพิเศษชุดนี้จะเปลี่ยนแปลงปัญหาการคัดกรองคนข้ามแดนได้มากนัก
ฟิล โรเบิร์ตสัน บอกว่า จะประหลาดใจมากหากคณะกรรมการฯชุดนี้สามารถมีผลการทำงานที่เป็นรูปธรรมและจัดการปัญหาการลักลอบค้าแรงงานเถื่อนอย่างได้ผล เพราะที่ผ่านมาระบบการทุจริตที่เอื้อประโยชน์กันระหว่างนายจ้างกับเจ้าหน้าที่ที่คอยรับผลประโยชน์ นั้นฝังรากลึกและรุนแรงมายาวนาน
ผู้ช่วยผู้อำนวยการ จาก ‘ฮิวแมนไรต์ วอตช์’ บอกด้วยว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ จะมีการจับกุมผู้ต้องหารายใหญ่ๆราวสองสามคดี เพื่อแสดงให้เห็นว่าทางการไทยกำลังเอาจริงในเรื่องนี้ แต่เขาไม่ได้คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ
การสืบสวนมักถูก 'ตัดตอน'
ซัลวานี ด่อล๊ะ ที่ปรึกษากลุ่มสิทธิมนุษยชนท้องถิ่นเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ จากหลายองค์กร กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เธอพบว่า การสืบสวนสอบสวนต่างๆมักจะถูกตัดตอนเมื่อจับผู้ต้องหาที่สามารถรับความผิดได้ แต่จะไม่มีการสาวไปถึงผู้ที่อยู่เบื้องหลังกระบวนการทั้งหมด และการตั้งคณะกรรมการเพื่อสืบหาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่เบื้องหลังขบวนการเหล่านี้โดยเฉพาะ ก็มักจะ ไม่พบผู้อย่าเบื้องหลังรายใหญ่ๆ แต่จะเป็นเพียงอีกหนึ่งกระบวนการมองหาแพะมาลงโทษ
กลุ่มสิทธิมนุษยชนเสนอว่า การแก้ปัญหาที่ซับซ้อนเหล่านี้ ไม่อาจะทำได้เพียงการใช้กลไกกฎหมายที่มีอยู่ แต่ต้องมีการปฏิรูปด้านแรงงานและกระบวนการยุติธรรม ในขณะเดียวกันก็เพิ่มกลไกให้แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ได้มีศักยภาพมากขึ้น
โรยทราย วงศ์สุบรรณ ที่ปรึกษาเครือข่ายประชากรข้าม
ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ซับซ้อน
ที่ปรึกษาเครือข่ายประชากรข้าม
องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ตัวเลขผู้ย้ายถิ่นเข้ามาทำงานในประเทศไทยอาจมีจำนวนมากถึง 5 ล้านคน และในจำนวนี้มีมากกว่า 2 ใน 5 ที่เป็นแรงงานผิดกฎหมาย
รายงานการค้ามนุษย์ในปี พุทธศักราช 2563 หรือ TIP Report 2020 ของ ระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า ในภาพรวมการจัดการกับการค้ามนุษย์ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะยังพบการทุจริตอยู่ โดยพบรายงานการสืบสวนและดำเนินคดีค้ามนุษย์หลายร้อยคดีในปี 2562 และมีการตัดสินลงโทษไปแล้ว 304 ราย ขณะที่องค์กรสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่มต่างแสดงจุดยืนคัดค้านและระบุว่าตัวเลขดังกล่าวไม่ได้สะท้อนสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น