สานลมหายใจ มรดกดนตรีไทย ที่ UCLA

Students practice a traditional style of Thai music at the Department of Ethnomusicology of the traditional music and ritual of Thailand, UCLA.

แผนกดนตรีไทย ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตนครลอสแอนเจลิส หรือ UCLA  มีความเชื่อมโยงกันอย่างน่าทึ่ง กับมรดกทางดนตรีไทยที่ยาวนานกว่า 60 ปี แล้ว จาก‘สำนักดนตรีไทยบ้านบาตร’ ของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ หรือ ศร ศิลปะบรรเลง  บรมครูทางดนตรีไทยผู้โด่งดัง เครื่องดนตรีก็ยังคงได้รับการสานต่อและเก็บรักษาอย่างดี

“ถ้าอากาศเปลี่ยน เสียงของขิม ก็จะเปลี่ยน เราก็เลยต้องเทียบเสียงให้นักศึกษาอยู่เป็นประจำ..” สุพีนา อินทรีย์ แอดเลอร์ อาจารย์พิเศษและหัวหน้าแผนกดนตรีไทย ภาควิชามานุษยวิทยาการดนตรี มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตลอสแอนเจลิส หรือ UCLA เล่าให้วีโอเอ ไทย เกี่ยวกับความรับผิดชอบสำคัญ ในการทำหน้าที่เป็น ‘ภัณฑารักษ์’ คอยดูแล และรักษาเครื่องดนตรี ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์อยู่เสมอ โดยเฉพาะเครื่องดนตรีที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณท์เครื่องดนตรี (ethnomusicology archive) ที่มหาวิทยาลัย UCLA

Supeena Insee Adler, a classical Thai musician, instrument repairer, and lecturer in ethnomusicology at UCLA, repairs a gong circle, known in Thai as a “Khong wong.”

สุพีนา บอกว่า การเข้ามาดูแลเครื่องดนตรีไทย คืองานแรกของเธอตั้งช่วงแรกที่ได้ก้าวเข้ามาในรั้ว UCLA

“ก่อนก็คือมาเป็นผู้ซ่อมเครื่องนะคะเป็นผู้ซ่อมเครื่องดนตรีไทยเพราะว่าเครื่องที่เราเห็นอยู่เนี่ยค่ะมาตั้งแต่ปี 1958 แล้วก็ 1960 นะคะ ก็คือเป็นช่วงที่อาจารย์ David Morton นะคะซื้อเครื่องดนตรีไทยมาจากที่เมืองไทยแล้วก็มาเริ่มก่อตั้งวงดนตรีไทยที่นี่แล้วอาจารย์เขาก็สอนมาประมาณ 30- 40 ปีแล้วก็เลิกสอนไปนะคะก็คือหมดช่วงหมดวาระไปแล้ว..”

‘ศาสตราจารย์ เดวิด มอร์ตัน’ (David Morton) คือ นักวิชาการชาวอเมริกันที่หลงไหลในศาสตร์แห่งดนตรีไทย เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปฝากตัวเป็นศิษย์ กับบรมครูทางดนตรี แห่ง ‘สำนักดนตรีไทยบ้านบาตร’ ของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ หรือ ศร ศิลปะบรรเลง ผู้เป็นต้นตำนาน ‘จางวางศร’ มือระนาดเอกแห่งโหมโรง ที่โด่งดัง ก่อนจะนำความรู้ พร้อมกับชุดเครื่องดนตรีไทยปี่พาทย์จาก ‘บ้านบาตร’ นำกลับมาสร้างหลักสูตรถ่ายทอดและเปิดการสอนวิชาดนตรีจากแดนสยาม ที่ยูซีแอลเอ เมื่อราว 60 ปีก่อน

Prof. David Morton plays the Ranat Ek, and he purchased the original instruments for UCLA.

สุพีนา เล่าว่า การพบเครื่องดนตรีไทยที่มีความเชื่อมโยงกับมรดกแห่งบรมครูที่สำคัญทำให้เธอตัดสินใจอยากจะสานต่อการเรียนการสอนที่ขาดหายไปอีกครั้ง

“..ก็ปรากฏว่าเครื่องดนตรี ไม่ได้ไม่ได้ใช้งานนะคะ แล้วก็ไม่ได้รับการบำรุงอย่างดีนะคะ พอเชอร์รี่ (สุพีนา) ได้มามีโอกาสได้มาชมเครื่องดนตรีเมื่อตอนปี ค.ศ.2014 หลังจากที่ดูเครื่องเสร็จแล้วก็ได้เขียน proposal (แบบเสนอแผนงสน) มาที่มหาวิทยาลัยว่าเราสามารถที่จะดูแลเครื่องให้ได้นะ เสร็จแล้วก็ (propose) ยื่นข้อเสนอ ที่ภาควิชาว่าถ้าคุณสนใจ ที่จะทำวงดนตรีก็เราสามารถที่จะสอนได้เพราะว่าก็มีความสามารถในการที่จะสอนวงได้อยู่นะคะ ทางมหาวิทยาลัยก็เห็นว่าควรจะสนับสนุน”

ความรู้ทางด้านดนตรีไทยที่อาจารย์สุพีนา ร่ำเรียนระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม วิชาเอกดนตรีไทยสาขาวิชาปฏิบัติ และปริญญาโท ด้านดนตรีจากมหาวิทยาลัยมหิดล ที่เมืองไทย ก่อนจะเดินทางมาสำเร็จปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยาการดนตรี ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตริเวอร์ไซท์ (University of California, Riverside) คือใบเบิกทางทางวิชาการที่สำคัญ

Students practice a traditional style of Thai music at the Department of Ethnomusicology of the traditional music and ritual of Thailand, UCLA.

ขณะเดียวกัน โอกาสของการได้ทำหน้าที่สืบสานลมหายใจให้ดนตรีไทย ได้กลับมาโลดแล่นมีชีวิตชีวาในหลักสูตรมานุษยวิทยาการดนตรี อีกครั้งคือความท้าทายที่เธอคาดหวัง

“..ทางมหาวิทยาลัย UCLA ก็ให้โจทย์มาว่า ปีละ $20,000 ก็คือถ้าคุณหาทุนมาได้ $20,000 ก็เราสามารถที่จะช่วยเพื่อที่จะให้เปิดคลาสได้นะคะ ก็ค่อนข้างค่อนข้างหนักอยู่เหมือนกันเพราะว่าเราจะต้องเขียนหนังสือขอขอทุนจากหลายหน่วยงานแล้วก็จะต้องไปเสนองานให้เขาเห็นว่าเรามีเครื่องนะ เรามีส่วนนี้คือความตั้งใจที่เราอยากทำนะแต่ว่ามันยังไม่มีทุนทรัพย์เพื่อที่จะ start up เราก็พยายามที่จะให้ความหวังกับกับผู้ให้ทุนทุกท่านว่าเราสามารถทำให้มันโตได้นะคะ อันนี้คือความ challenge ที่สุดก็เวลาเด็กมาสมัครเรียนเนี่ยเราก็ไม่รู้ว่าจะมีกี่คน บางเทอมก็เยอะมาก 30-40 คนบางเทอมก็ 8 คนทำไงดีวะ ก็จะพยายามที่จะประชาสัมพันธ์ในทุกภาคส่วนที่เราทำได้..” หัวหน้าแผนกดนตรีไทย ที่ UCLA บอกกับ ‘วีโอเอ ไทย’

Supeena Insee Adler, ADJUNCT ASSISTANT PROFESSOR, ETHNOMUSICOLOGY at UCLA.

จนถึงวันนีอาจารย์เชอร์รี่ เปิดสอนหลักสูตรดนตรีไทยมาแล้วกว่า 7 ปี และยังพยายามถ่ายทอดภูมิความรู้ทางดนตรี และนาฏศิลป์ไทย ที่สร้างความประทับใจให้นักศึกษาที่สนใจ ในแต่ละภาคเรียน

““เสียงของดนตรีไทยที่มาอยู่ต่างประเทศเนี่ยมันยังทำให้เรามีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับเมืองไทยอยู่นะคะก็คือเหมือนกับคิดถึงบ้านก็เหมือนกับ เราอยากจะทานข้าวหรือว่าอาหารที่เราคุ้นชินอย่างนี้ค่ะดนตรีก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกันเมื่อเราได้เล่น ได้ฟังหรือว่าได้เห็นหรือได้สนับสนุนคนให้เล่นหรือฟังนะคะก็มีความสุขเพราะว่าคิดถึงตอนที่เราเคยมีความสุขในการได้เรียนได้ปฏิบัติในช่วงที่เราอยู่ที่เมืองไทย..” สุพีนา บอกถึงความมุ่งมั่น และความสุขของการได้ทำในสิ่งที่เธอรักผ่านการทำงานที่ได้เติมความฝัน และความท้าทายในทุกๆวัน

เจเรเมียห์ วีร่า เมอร์ฟี่ (Jeremiah Vela-Murphy) นักศึกษา UCLA ที่ลงเรียนหลักสูตรดนตรีไทย บอกว่า การเรียนกับครูSupeena ทำให้ทุกอย่างง่ายมากขึ้นในการเรียนดนตรีที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ขณะเดียวกันครูก็ให้การต้อนรับทุกคนอย่างอบอุ่น และดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมนี้

ชนาพร โต๊ะสุวรรณวณิช นักศึกษาไทยที่ UCLA บอกว่าประทับใจในการเรียนดนตรีไทย

“หนูรู้สึกว่า อาจารย์เป็นอาจารย์ที่ใส่ใจมากๆ เลยนะคะ กับรายละเอียดและก็แบบช่วยใช้เวลากับนักเรียนแต่ละคน ทำให้นักเรียนแต่ละคนสามารถพัฒนาไปในทางที่เค้าต้องการได้

เธอบอกด้วยว่า รู้สึกว่าเป็นอะไรที่ดีมากๆ และก็โชคดีมากๆ ทีมีอาจารย์ท่านนี้แบบคอยช่วยไกด์ไลน์และคอยช่วยสอนเครื่องดนตรีต่างๆ ให้พวกเรา เพราะว่าอาจารย์ เป็นคนที่มีความรู้มากๆในหลายๆเครื่องดนตรี แล้วอาจารย์สามารถเล่นได้เกือบทั้งหมดเลย”

Students post for pictures during the Thai Cultural Show event organized by the Department of Ethnomusicology, the UCLA Herb Alpert School of Music, at Schoenberg Hall, University of California, Los Angeles (UCLA).

ด้าน เจตน์ อรุณแสงโรจน์ นักศึกษาไทยที่ UCLA กล่าวถึงหลักสูตรมรดกดนตรีไทยที่เขาได้ร่ำเรียนในภาคเรียนนี้

“รู้สึกขอบคุณคุณครูมากครับที่ได้เปิดคลาสนี้ให้พวกผมนักเรียนคนไทยได้มารวมกัน ทำกิจกรรมด้วยกัน เพราะก่อนตอนแรก คลาสนี้ ปกติจะไม่เปิดให้พวกเรา แต่พวกผมได้รวมตัวกัน ไปขออาจารย์ เพื่อเปิดช่วงเวลานี้ให้พวกผม ก็เลยรู้สึกขอบคุณอาจารย์มากครับ"

มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตลอสแอนเจลิสถือเป็นสถานบันอุดมศึกษาแห่งแรกในสหรัฐฯ ที่เปิดสอนภาควิชามนุษยดนตรีวิทยา เมื่อปีพุทธศักราช 2503 หรือ ค..1960 โดยมุ่งหวังการให้นักศึกษาสามารถเข้าใจวัฒนธรรมทางดนตรีของที่หลากหลายของแต่ละประเทศ อย่างลึกซึ้งนอกเหนือจากวัฒนธรรมดนตรีขที่ตนเองคุ้นเคย