การเรียนการสอนดนตรีไทย ในระดับอุดมศึกษาของสหรัฐฯ เริ่มขึ้นครั้งแรกเกือบ 60 ปีก่อน โดยมีนักวิชาการอเมริกันเป็นผู้บุกเบิก ก่อนที่จะได้รับการสานต่อโดยอาจารย์ไทย รายงานพิเศษของวีโอเอไทย จะพาไปรู้จักกับวงปี่พาทย์ หรือ Thai ensemble ที่ Kent State University รัฐโอไฮโอ หนึ่งในสามมหาวิทยาลัยที่สอนให้นักศึกษาอเมริกันได้สัมผัสดนตรีไทยอย่างใกล้ชิด
เสียงระนาด เสียงฆ้อง จากห้องเรียนของมหาวิทยาลัย Kent State University ในรัฐโอไฮโอ อาจจะทำให้ใครต่อใครเผลอคิดว่านี่เป็นฝีมือของนักดนตรีไทยไกลบ้าน แต่สิ่งที่เราได้เห็น คือกลุ่มนักศึกษาอเมริกัน ที่กำลังนั่งล้อมวงฝึกซ้อม ประกอบกันเป็นวงปี่พาทย์
ไมเคิล เอ็มเน็ตต์ (Michael Emnett) นักศึกษาดุริยางคศิลป์ชั้นปีที่ 4 หัวเราะ และรีบออกตัวเมื่อเราถามถึงฝีมือการเล่นระนาดเอกของเขา "ผมว่าฝีมือของผมคงเทียบเท่ากับเด็กคนหนึ่ง แต่ผมว่ามันสนุกมากเลยครับ"
ส่วน อเล็กซิล ฮิลล์ (Alexis Hill) นักศึกษาปริญญาโทผู้เล่นฆ้องวง บอกว่าเธอไม่เคยฟังเพลงไทยคลาสสิคหรือไทยเดิมมาก่อน "ตอนแรกมันเป็นความช็อคทางวัฒนธรรม (culture shock) เลย ถ้าพูดตรง ๆ ก็คือฉันไม่เข้าใจดนตรีไทยมาก่อนเลย แต่หลังจากที่ฉันมาซ้อมกับวง ตอนนี้ฉันก็เข้าใจแล้วก็รู้สึกซาบซึ้งในดนตรีไทยมากขึ้น"
วงดนตรีไทย หรือ Thai ensemble เป็นวิชาเลือกของภาควิชามานุษยดุริยางควิทยา (Ethnomusicology) ที่เน้นไปที่การเรียนดนตรีปี่พาทย์ โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ไพรวัลย์ นาหนองขาม เป็นผู้กำกับดูแลการสอนมากว่า 20 ปี
ดร. ไพรวัลย์ เติบโตมากับเสียงพิณ เสียงแคน ดนตรีอีสาน ก่อนจะหลงรักและเริ่มเรียนดนตรีไทยที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ จ.ร้อยเอ็ด จนจบการศึกษาปริญญาตรี ด้านดนตรีศึกษา จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ.2538 / เมื่อ 25 ปีก่อน เขาเดินทางมาเป็นครูอาสาสมัครสอนดนตรีให้คนไทยในสหรัฐฯ ก่อนที่จะได้รับทุนเรียนต่อที่ Kent State University ตามคำชักชวนของ ดร. เทอร์รี่ มิลเลอร์ (Terry E. Miller) นักวิชาการอเมริกันผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นผู้บุกเบิกการสอนดนตรีไทย ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้
“ปกติจะหาเด็กที่มาเรียนดนตรีไทยนี่ก็ไม่ง่าย ที่ไม่ง่ายเพราะเขาไม่รู้ว่าดนตรีไทยคืออะไร และสองคือเขาฟังดนตรีไทยแล้วมันไม่ไพเราะ เหมือนเราที่ฟังดนตรีไทยคลาสสิคของเราเนี่ย เราก็พูดจูงใจนะ ขอรับรองว่าสนุกแน่ โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยเรียนมาก่อน เป็นโอกาสดีนะที่จะได้เรียนดนตรี แล้วอีกอย่างหนึ่งก็บอกเขาว่า วงดนตรีไทยในอเมริกามันมีไม่กี่วงในมหาวิทยาลัย”
"บางครั้งนักศึกษาอเมริกันก็มีจิตสงสาร เอาหน่อย ๆ แต่พอมันมาแล้วเนี่ย เราก็ต้องสอนให้มันสนุก แต่จริง ๆ ดนตรีมันสนุกอยู่แล้ว"
สมาชิกวงปี่พาทย์ที่นี่ บอกกับวีโอเอไทยว่าการเล่นเครื่องดนตรีไทยไม่ใช่เรื่องง่าย ถึงแม้หลายคนจะมีพื้นฐานเล่นเครื่องดนตรีตะวันตกประเภทเครื่องเป่าและเครื่องตีมาก่อนก็ตาม
อเล็กซิล ฮิลล์ บอกว่าสิ่งที่ยากที่สุดคือการถือไม้นวมตีฆ้องวง ที่ดูเหมือนจะเบา แต่เธอบอกว่าจริงๆ แล้วหนัก แล้วเธอก็ต้องพยายามตีฆ้องให้มีเสียงก้องกังวาน ไม่ให้ถูกเสียงเครื่องดนตรีอื่น ๆ กลบอีกด้วย
การระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี ทำให้มหาวิทยาลัยต้องยกเลิกการเรียนการสอนในห้องเรียนไปหลายเดือน ก่อนที่จะอนุญาตให้นักศึกษากลับมาฝึกซ้อมดนตรีได้ ในภาคเรียนนี้ โดยต้องรักษาระยะห่างและสวมหน้ากากตลอดเวลา ซึ่งหลายคนบอกว่าดีใจมากที่ได้กลับมาเล่นดนตรีและพบปะเพื่อนร่วมวงทุกสัปดาห์อีกครั้ง
พวกเขายังบอกว่า การมาร่วมวงปี่พาทย์เป็นการเปิดโลก ทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับดนตรี สังคม และวัฒนธรรมของไทย ประเทศที่ห่างออกไปกว่าหนึ่งหมื่นกี่โลเมตร
เคทลิน นอร์ดสตรอม (Kaitlin Nordstrom) นักศึกษาดุริยางคศิลป์ชั้นปีที่ 2 บอกว่าสิ่งที่เรียกว่า “ดนตรีคลาสสิค” ไม่ได้จำกัดอยู่แค่บทเพลงของนักประพันธ์ตะวันตกอย่าง โยฮันน์ เซบาสเตียน บาค (Johann Sebastian Bach) หรือ ลุดวิค ฟาน เบโทเฟน (Ludwig van Beethoven) แต่ยังมีดนตรีคลาสสิคของประเทศอื่น ๆ อีกมากมายที่ควรค่าแก่การรับฟัง
“การเรียนดนตรีมันไม่ใช่ดนตรีอย่างเดียว มันเป็นอะไรที่เปิดหน้าต่างให้เขารู้จักคนไทยว่าเขาคือใคร" ดร. ไพรวัลย์กล่าว "มาเล่นดนตรีก่อน คุ้นกับดนตรีก่อน พอคุ้นกับดนตรีแล้วก็คุ้นกับคนต่อไป พอคุ้นกับคนแล้วก็ คุ้นกับอาหาร ไปเรื่อย ๆ เป็นวิชาแห่งความรัก ถ้าจะว่าไป โดยใช้ดนตรีเป็นสื่อ”
เมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทย ดร. ไพรวัลย์ หรือ อาจารย์เขียว ยอมรับว่าตนรู้สึกเป็นห่วงอยู่บ้างที่นับวันยิ่งจะหาดนตรีไทยคลาสสิคฟังได้ยากขึ้น ด้วยสภาพสังคมและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป แต่ก็ดีใจที่ตนมีโอกาสได้สืบสานดนตรีไทยในต่างแดน
“ผมก็ไม่ได้คิดถึงเรื่องภูมิใจอะไรมากมาย เรารู้สึกแค่ว่า อันนี้เป็นงานที่เราทำในสิ่งที่เราชอบ ทำแล้วแฮปปี้มีความสุข แล้วก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งดีที่จะมอบให้มนุษยชาติ คิดแค่นั้นนะ จะว่าไปจริง ๆ”
การเรียน Thai ensemble ในภาคเรียนนี้ต้องสิ้นสุดเร็วกว่ากำหนด เพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่กลับมารุนแรงอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม นักศึกษาและ ดร. ไพรวัลย์ ยังพอจะมีโอกาสฝากฝีมือไว้ในการแสดงคอนเสิร์ตปิดภาคเรียน บรรเลงขับกล่อมผู้ฟังทางออนไลน์ ด้วยเพลงหน้าพาทย์ อย่างเพลงเหาะ เพลงรัว และเพลงปฐม ที่ตั้งใจฝึกซ้อมในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา