การแสดงคอนเสิร์ทบนเวทีร่วมกับคณะนักดนตรีไทยที่รวมตัวเฉพาะกิจเพื่อนำเสนอศิลปะการแสดงของไทย ในงานเทศกาลดนตรี ประจำปี คือข้อกำหนดที่นักศึกษาทุกคนที่ลงทะเบียนเรียนวิชานาฏศิลป์และดนตรีไทย จะได้มีโอกาสแสดงทักษะและความสามารถที่ร่ำเรียนมาตลอดภาคการศึกษาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลการเรียน และสำเร็จหลักสูตรการเรียนอย่างสมบูรณ์
การเรียนการสอนในห้องเรียน หลักสูตรวิชาดนตรีและนาฎศิลป์ไทย ที่เรียกว่า Music of Thailand Ensemble ของภาควิชามานุษยวิทยาการดนตรี หรือ Ethnomusicology มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตนครลอสแอนเจลิส หรือ UCLA เต็มไปด้วยความคึกคักและสนุกสนานในบรรยากาศที่เป็นกันเอง
หลักสูตรนี้เป็นวิชาเลือกที่เปิดกว้างให้นักศึกษาทุกระดับชั้น ตั้งแต่ ปริญญาตรี จนถึงปริญญาเอกที่มีความสนใจ สามารถลงทะเบียนและเข้ามาเรียนรู้ศิลปะและการแสดงของไทย มากว่า 7 ปีแล้ว โดยมี สุพีนา อินทรีย์ แอดเล่อร์ หรือ ครูเชอร์รี่ อาจารย์ชาวไทยในฐานะหัวหน้าแผนกดนตรีไทย ภาควิชามานุษยวิทยาการดนตรี ผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ เพื่อให้เหมาะกับระดับความสามารถของนักศึกษาแต่ละคน
“ แรกๆก็ส่วนมากจะเป็นนักศึกษาที่ไม่ใช่คนไทยนะคะส่วนมากนะคะจะเป็นที่เป็นต่างชาติหรือไม่ก็เป็นฝรั่งนะคะก็คืออเมริกันนะคะ แล้วก็วิธีการสอนนี้ก็คือเป็นวิชาวิชาเลือกเสรีก็คือมี 2 ชั้นเรียนเป็นขั้นเริ่มต้น (beginner) กับแบบขั้นก้าวหน้า (advance)..
..ก็ถือว่าท้าทายมากๆนะคะคือไม่ใช่เฉพาะแค่เวลาที่เราต้องให้ไป คือการเตรียมพร้อมนะคะไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเครื่องดนตรีโน้ตเพลง หรือการเลือกเพลงว่าจะใช้เพลงอะไรในแต่ละเทอมนะคะแล้วก็ดูความสามารถของนักศึกษา เราก็จะต้องมีความใส่ใจอดทนใจเย็นแล้วก็ต้องปรับวิธีการสอนอยู่ตลอดเวลาเพื่อจะให้เข้ากับความความสามารถของนักศึกษานะคะ” สุพีนา อินทรีย์ แอดเล่อร์ หัวหน้าแผนกดนตรีไทย ภาควิชามานุษยวิทยาการดนตรี UCLA กล่าวกับ วีโอเอ
เจเรเมียห์ วีร่า เมอร์ฟี่ (Jeremiah Vela-Murphy) นักศึกษาชั้นปี 4 สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ที่แม้จะเรียนในสาขาวิชาที่ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับศิลปะวัฒนธรรมมากนัก แต่เขาก็ทำได้ดี ในการฝึกเล่นขิม และ พิณอีสาน หรือ โปร่ง ที่ฝีมือไม่ธรรมดา
“ผมเริ่มเล่นดนตรีไทย เพราะว่าเป็นดนตรีที่มีความเป็นมายาวนาน ที่ผมไม่คุ้นเคยมาก่อน และอาจารย์สุพีนา ก็ให้การต้อนรับผมเข้ามาเรียนอย่างอบอุ่น” เจเรเมียห์ กล่าว
เจเรเมียห์ การเล่นดนตรีไทย มีหลายอย่างที่คล้ายๆกับการเล่นดนตรีโฟล์คอเมริกัน ที่เขามีพื้นฐานและความชอบดนตรีมาก่อน และสามารถนำไปปรับใช้ และสัมผัสได้ถึงการผสานกลมกลืนได้ดีกับดนตรีไทย และมีความสุขที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของวงดนตรีไทย ที่มีทั้งการร้องและการเต้นประกอบ
“ส่วนตัวแล้วผมมีพื้นฐานมาจากการเล่นดนตรีโฟล์คอเมริกัน และดนตรีไทยก็มีบางอย่างที่คล้ายกัน และผมสามารถนำมาปรับใช้ได้..”
ดีวา เอยู ลาลาสซานตี (Dewa Ayu Larassanti) นักศึกษาปี 4 สาขาศิลปะและวัฒนธรรมโลก จากอินโดนีเซีย บอกว่า เธอเป็นนักแสดงและนักดนตรีแบบบาหลีอยู่แล้ว แต่ก็ชื่นชอบที่ได้เรียนรู้ทั้งความเหมือนและความต่างของศิลปะดนตรีนาฏศิลป์ไทย กับศิลปะวัฒนธรรมบาหลี ที่เธอสัมผัสได้ถึงความรู้สึกพลังทางดนตรีจากข้างในเหมือนกับ ดนตรีกาเมลันของชาวชวา ที่ที่ทำให้เธอมีความสุขมาก
แม้หลักสูตรเปิดการสอนวิชาการแสดงวัฒนธรรมไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา จะไม่ค่อยมีนักศึกษาไทยมาลงทะเบียนเรียนมากนัก แต่ในชั้นเรียนนี้ กลับได้รับความสนใจเป็นพิเศษ
“คือจริงๆ ในฐานะคนไทย หนูก็มีโอกาสได้เทคดนตรีไทยในช่วงที่อยู่ที่โรงเรียนไทย แต่ว่าในโอกาสนี้ เรารู้สึกว่าได้มีโอกาส ได้มารื้อฟื้นดนตรีไทย และใช้เวลาเรียนรู้วัฒนธรรม และก็ได้เห็นดนตรีไทยในมุมมองที่แตกต่างออกไป ได้เรียนดนตรีไทยในประเทศไทย กับเรียนดนตรีไทยที่นี่ มีความแตกต่างกัน ทำให้เรารู้สึกภาคภูมิใจในวัฒนธรรมไทยด้วยค่ะ” ชนาพร โต๊ะสุวรรณวณิช นักศึกษาไทย ใน UCLA
ขณะที่ เจตน์ อรุณแสงโรจน์ นักศึกษาไทย ใน UCLA ที่ใช้ทักษะภาษาไทย ช่วยร้องเพลงไทยเดิมสอนเพื่อนร่วมชั้นชาวต่างชาติไปในเวลาเดียวกัน
“รู้สึกประทับใจนะครับ เพราะว่า อย่างพวกเรามีพื้นฐานด้านภาษาอยู่แล้ว เวลาร้องเพลงอาจจะง่ายกว่าพวกเค้าที่ไม่มีพื้นฐานด้านภาษาไทย แต่ว่าเท่าที่เห็นเค้าร้องมาหรือเล่นดนตรีไทย รู้สึกว่าเค้าทำได้ดีกว่าพวกเราด้วยซ้ำ เค้าก็ทุ่มเทมากๆครับ"
ไม่ใช่เฉพาะการเรียนและร้องดนตรีไทยเท่านั้น นักศึกษาทุกคนในชั้นเรียนนี้ ยังได้สัมภาษณ์การฟ้อนรำของไทย เช่นกัน
ในปีนี้ การฝึกลีลาฟ้อนรำ มีครู วิโรจน์ ศิริรณรงค์ ครูสอนนาฎศิลป์ของชุมชนไทยในลอส แอนเจลิส รับหน้าที่มาช่วยสอนและฝึกซ้อมนักศึกษาก่อนขึ้นทำการแสดงปิดภาคเรียน
ที่มามีความรู้สึกเหมือนไม่ใช่ของโรงเรียนฝรั่ง เหมือนอยู่โรงเรียนไทยไทยเลยนักเรียนก็เรียนเครื่องดนตรี เปลี่ยนจะเข้ เรียนซอ เรียนระนาดปกติ ในขณะที่ชอบด้วย ไม่ใช่เรียนเพราะว่าต้องเรียน
“ชื่นใจ ชื่นใจเลย ชอบ ตื้นตันใจ อีกหน่อยศิลปะเราก็คงไม่ตาย ไม่ใช่ดูกันเอง รำให้คุณยายข้างบ้านดู แล้วคุณยายก็ชอบมาก ทีนี้เรามารำให้คนต่างชาติดู มารำให้ฝรั่งดู บอกว่า พวกนี้มารำได้ไง จังหวะกลอง ขามันเต้นปุ๊บๆ ทำจังหวะกลอง ซึ่งมันเพราะนะ มันดีมาก มันชื่นใจ” วิโรจน์ ศิริรณรงค์ กล่าว
“แม้จะเป็นทางเลือกแต่คือเราเหมือนกับว่าให้โอกาสเขาแล้วเขาก็จะให้โอกาสตัวเขาเองว่าให้เขาลองสิ่งใหม่ๆที่เขาอาจจะไม่เคยนะคะ ก็บอกเขาว่าคุณไม่ต้องคาดหวังอะไรมากมาย รอดูว่าเส้นทางเส้นนี้มันจะพาคุณไปที่ไหนนะคะก็ให้เก็บเกี่ยวระหว่างทางนี้ให้มีความสุขกับสิ่งเหล่านั้นมากกว่าแล้วถ้าเกิดว่าคุณอยากจะเรียนมากขึ้นคือโอกาสในการเรียนดนตรีไทยในต่างประเทศอย่างมันมีไม่มากแต่ก็บอกว่าเรามีชุมชนไทยที่อยู่ใกล้ๆเนี่ยคุณสามารถที่จะไปต่อยอดได้หรือว่าถ้าคุณแบบจริงจังมากๆเลย คุณเรียนต่อเราก็ไปเก็บข้อมูลที่เมืองไทย ติดต่อครูที่เมืองไทย ยิ่งสมัยนี้และอินเทอร์เน็ตก้าวหน้าเหลือเกินนะคะ” สุพีนา อินทรีย์ แอดเล่อร์ ให้สัมภาษณ์กับ วีโอเอ ไทย และว่า
“ภูมิใจแล้วก็ดีใจที่ได้มีโอกาสได้มีโอกาสมาทำนะคะแล้วก็คือก็หวังว่าจะเป็นตัวเชื่อม ตัวเชื่อมให้กับคนในชุมชนโดยเฉพาะกับคนที่เมืองไทยนะคะว่าเรามีสถาบันตรงนี้ที่มีวงดนตรีไทยอยู่นะคะก็ให้โอกาสกับทุกๆคนนะคะเพื่อที่จะให้คนได้รู้สึกว่าดนตรีไทยไม่ใช่อะไรที่มันมันแปลกแยกไม่ใช่อะไรที่มันหายากจนที่แบบว่าจับไม่ได้ จับต้องไม่ได้คืออยากให้เขารู้สึกว่าคล้ายๆ คือไม่เชิงประมาณว่าหาง่ายเหมือนร้านอาหารไทยแต่ให้เขารู้สึกว่ามันเป็นอาหารพิเศษที่ที่เราสามารถที่จะไปชิมได้แบบนี้ค่ะ”
มรดกวัฒนธรรมนาฏศิลป์ และดนตรีไทย ไม่เพียงจะยังมีชีวิตและได้รับการสืบทอด ผ่านการเรียนการสอนในหลักสูตรนี้เท่านั้น
การทำหน้าที่เป็น ภัณฑารักษ์ดูแลเครื่องดนตรีโลก มากกว่า 1,000 ชิ้น ที่พิพิธภัณท์เครื่องดนตรี (ethnomusicology archive) ที่มหาวิทยาลัย UCLA แห่งนี้ ก็เป็นงานสำคัญที่ สุพีนา แอลเล่อร์ ทำหน้าที่นี้มาตลอดหลายปีที่ผ่านมา และเธอเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่ทำให้แผนกดนตรีไทยของ UCLA ได้กลับมาฟื้นลมหายใจอีกครั้ง หลังจากที่ห่างหายไปนานหลายทศวรรษก่อนหน้านี้
ติดตามเรื่องราวของ ของ ภาควิชามนุษยดนตรีวิทยา แผนกดนตรีไทยทั้งหมดได้ในตอนต่อไป