เปิดใจ ผอ.ไทยเทรดไมอามี่ มองยุทธศาสตร์การค้าไทย-สหรัฐฯ

การค้าไทย-สหรัฐฯ น่าห่วงหลังถูกเวียดนาม-มาเลเซียขึ้นแท่นอันดับหนึ่งมูลค่าการค้า คาดอีก 1-2 ปีหากไทยไม่ร่วม TPP พร้อมทิ้งห่างไม่เห็นฝุ่น

Your browser doesn’t support HTML5

เปิดใจ ผอ.ไทยเทรดไมอามี่ มองยุทธศาสตร์การค้าไทย-สหรัฐฯ

นาย กิตตินันท์ ยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองไมอามี่(Thai Trade Miami) ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอภาคภาษาไทย ถึงทิศทางการส่งเสริมการค้าของไทยในสหรัฐอเมริกา ว่ากำลังมุ่งเน้นใช้วิธีการเจาะตลาดเชิงลึกไปยังกลุ่มเป้าหมายเฉพาะที่มีศักยภาพมากขึ้น

โดยขณะนี้ กำลังมุ่งเน้นไปยังตลาดกลุ่มผู้สูงอายุชาวอเมริกันที่มีกำลังซื้อสูงเพราะมีการเตรียมการทางการเงินที่ดีมายาวนาน ขณะเดียวกันก็มีจำนวนเพิ่มขึ้น

เช่นเดียวกับกลุ่มเชื้อชาติฮิสแปนิค หรือ เชื้อสายสเปน-อเมริกาใต้ ที่มีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก็เป็นอีกกลุ่มที่มีความน่าสนใจ

แต่กลุ่มที่สำนักงานส่งเสริมการค้ากำลังให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือตลาดกลุ่ม LGBT หรือกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน ที่มีศักยภาพอย่างมาก

ผอ.ไทย เทรด ณ เมืองไมอามี่ บอกว่าจากข้อมูลการศึกษาวิเคราะห์การตลาด พบว่า นอกจากจะเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูงที่เรียกว่า DINK (Double Income No Kids) มีเงินจับจ่ายใช้สอยเยอะ มีลักษณะการใช้จ่ายที่มีรสนิยมสูง และมีลักษณะเฉพาะ มองในภาพลักษณ์ของสินค้าที่สนับสนุนกลุ่ม LGBT

ขณะที่ในแต่ละเมืองก็มีหอการค้าสำหรับกลุ่มนี้โดยเฉพาะ ทางสำนักงานจึงจัดให้กลุ่มนี้อยู่ในเป้าหมายที่จะเชื่อมโยงเข้ากับกลุ่มการค้าธุรกิจของไทยที่ค่อนข้างได้รับการยอมรับจากกลุ่มนี้

อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะมุ่งเน้นเจาะตลาดเฉพาะมากขึ้น แต่ในภาพรวมการค้าของไทยกับสหรัฐฯ ยังมีการขยายตัวไม่มากนัก หากเปรียบเทียบกับคู่แข่งที่เป็นเพื่อนบ้านในอาเซียน เช่นมาเลเซียและเวียดนามที่เติบโตอย่างรวดเร็ว มีตัวเลขการค้ากับอเมริกาในระดับเลข 2 หลักติดต่อกันมาหลายปี

โดยเฉพาะเวียดนาม ที่ขึ้นมาเป็นประเทศในอาเซียนที่เป็นคู่ค้าอันดับ 1 กับอเมริกาแล้ว

นอกจากนี้ ทั้งมาเลเซียและเวียดนามก็เป็น 2 ประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่กำลังบรรลุการทำความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ TPP ที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้ผลักดัน ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคต

“ถ้ามองกันในแง่เทรด (การค้า) อย่างเดียวนั้น กระทรวงพาณิชย์มองว่า จำเป็นที่ต้องเข้าร่วม ทีพีพี เพราะที่ผ่านมาไทยเริ่มเสียตลาดไปให้กับเวียดนามไปแล้วเรื่อยๆ จากการเริ่มมีการย้ายฐานการผลิตของบริษัทหลายแห่งจากไทยไปเวียดนาม เช่น แอลจี และซัมซุง ซึ่งก็อาจจะมีการทยอยย้ายไปเรื่อยๆ อีก หรือแม้กระทั่งอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เป็นจุดแข็ง โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่เป็นเจ้าของแบรนด์ก็ร่วมอยู่ใน ทีพีพี ซึ่งในอนาคตเราก็ไม่แน่ใจว่าจะมีการย้ายออกไปตั้งฐานการผลิตที่ประเทศอื่นหรือไม่” ​กิตตินันท์ ยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองไมอามี่ กล่าว

TPP Countries and Other Global Trade Agreements