ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักเรียนทุนไทยพบฐานข้อมูลนาซ่าที่ใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหาภัยแล้งและผลผลิตเกษตรของไทยได้


นักศึกษาไทยในโครงการ NASA DEVELOP
นักศึกษาไทยในโครงการ NASA DEVELOP

นักเรียนทุนไทยในอเมริกาที่เข้าร่วมโครงการ NASA Develop ซึ่งนำฐานข้อมูลขององค์การนาซ่ามาพัฒนาและประมวลผลในงานวิจัย สามารถค้นพบแนวทางและดัชนีชี้วัดที่อาจใช้แก้ปัญหาภัยแล้งและปัญหาผลผลิตการเกษตรของไทยได้

นักศึกษาไทย 10 คน ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมฝึกอบรมและศึกษาวิจัยในโครงการ NASA DEVELOP ที่ศูนย์วิจัยองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ องค์การนาซา จะต้องการนำเสนอผลงานวิจัยของอธิบายแสดงผลวิจัยอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อพิสูจน์ถึงการใช้ประโยชน์ได้จริง

านศึกษาวิจัยของนักศึกษาไทยกลุ่มแรก 5 คน ถูกส่งตัวไปที่ศูนย์วิจัย NASA Goddard Space Flight Center ใน รัฐแมรีแลนด์ มุ่งศึกษาตรวจสอบและเฝ้าติดตามความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติทั้งอุทกภัยและภัยแล้งในประเทศไทย โดยอาศัยฐานข้อมูลดาวเทียมและข้อมูลดิบจากนาซา สร้างข้อค้นพบสำคัญที่อาจกลายเป็นประโยชน์สำหรับการแก้ปัญหาภัยแล้งของไทยได้ในอนาคต


คุณชิสาพัชร์ สุปัญญาโชติสกุล นักเรียนศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัย Purdue ในฐานะตัวแทนกลุ่ม Thailand Disasters โครงการ NASA DEVELOP ภาคฤดูร้อน 2015 บอกว่าการได้ใช้ข้อมูลของ NASA ที่ย้อนกลับไปถึง ค.ศ.1998 ซึ่งเป็นข้อมูลที่ทำให้เห็นรูปแบบการเกิดความแห้งแล้งในอดีตโดยละเอียด ทำให้สามารถนำข้อมูลและดัชนีต่างๆเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับคาดการณ์การเกิดภัยแล้งได้

ขณะที่นักศึกษาไทยกลุ่มที่ 2 อีก 5 คน ถูกส่งตัวไปที่ ศูนย์วิจัย NASA Marshall Space Flight Center ในรัฐแอลาบามา และ ศูนย์ Wise County รัฐเวอร์จิเนีย ได้ใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีของ 'NASA' ศึกษาและเฝ้าติดตามสภาวะแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร โดยมุ่งสังเกตข้อมูลความสมบูรณ์ของพื้นที่ปลูกข้าวในจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นกรณีศึกษา

คุณ วทัญญู สุขเสงี่ยม นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัย Claremont Graduate ตัวแทนกลุ่ม Thailand Agriculture โครงการ NASA DEVELOP บอกว่า ข้อค้นพบจากโครงงานวิจัยสร้างความประหลาดใจจากข้อมูลที่ว่า การมีน้ำมากอาจไม่ทำให้ผลผลิตข้าวสูงตามไปด้วยเสมอไป ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นแต่อาจจะส่งผลต่อนโยบายด้านการเกษตร แต่ข้อมูลดังกล่าวยังต้องใช้การวิจัยเชิงทดลอง ที่ลดตัวแปรต่างๆเพื่อพิสูจน์ข้อสมมุติฐาน


ขณะที่ คุณกฤษฎา ธาราสุข อัครราชทูตที่ปรึกษา ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน บอกว่า แม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ เพียง 10 สัปดาห์ของการฝึกอบรมในศูนย์วิจัยของนาซา แต่การได้เข้าถึงเทคโนโลยี เครื่องมือ และข้อมูลอันมหาศาลขององค์การด้านอวกาศและวิทยาศาสตร์ระดับแนวหน้าของโลก นอกจากจะช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์และวิธีวิจัยในการทำงานของนักศึกษาแต่ละคนเท่านั้น ผลงานวิจัยต่างๆยังสามารถนำไปผลักดันและพัฒนาต่อยอดให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยได้ในอนาคต

ด้านคุณ Lawrence Friedi ผู้อำนวยการโครงการรับฝึกอบรมทางวิทยาศาสตร์ขององค์การนาซา บอกว่า การลงทุนด้านการศึกษาวิจัยเป็นสิ่งที่คุ้มค่าเสมอ และที่ผ่านมา ‘นาซา’ก็พยายามพัฒนาความร่วมมือเพื่อใช้ข้อมูลของนาซ่าให้เป็นประโยชน์สูงสุดโดยเฉพาะประเทศในแถบภูมิภาคแม่น้ำโขงตอนล่าง

ผู้อำนวยการโครงการรับฝึกอบรมทางวิทยาศาสตร์ขององค์การนาซา บอกว่า NASA พยายามมองหาการใช้ประโยชน์ของข้อมูลการสำรวจและข้อมูลต่างๆ เพื่อสนับสนุนในประเด็นสำคัญต่างๆด้านการพัฒนาต่างๆของภูมิภาค เช่น การเกิดภัยพิบัติ ข้อมูลทรัพยากรน้ำ ปัญหาภาวะโลกร้อน เช่นเดียวกับประเด็นความมั่นคงทางด้านอาหาร ซึ่งนาซ่าเองก็ยังมองไปถึงโอกาสที่จะทำงานร่วมกันกับประเทศไทย และประเทศอื่นๆในภูมิภาคอีกด้วย

โครงการ NASA DEVELOP ดำเนินมากว่า 12 ปีแล้ว โดยองค์การนาซ่าจะเปิดคัดเลือกนักเรียนนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยส่งไปเข้ารับการอบรม ณ ศูนย์วิจัยขององค์การ NASA ในรัฐต่างๆ ขณะที่โครงการคัดเลือกเข้ารับการอบรมของนักศึกษาไทยทั้ง 10 คนในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในด้านความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีครั้งแรกๆ ระหว่างหน่วยงานของไทยกับองค์การนาซ่าเพื่อที่จะสามารถเสริมสร้างและพัฒนาโครงการที่เป็นประโยชน์ร่วมกันในอนาคต

XS
SM
MD
LG