Your browser doesn’t support HTML5
คุณธีรพล จารุเกศนันท์ นักบำบัดทางเดินหายใจคนไทยในเขต Alameda รัฐแคลิฟอร์เนีย ยอมรับว่า สถานการณ์โควิด-19 ถือเป็นการรับมือกับการระบาดใหญ่ หรือ Pandemic ครั้งแรกของเขาในฐานะนักบำบัดทางเดินหายใจ จากเดิมที่ในช่วงเวลานี้ของปีเขาจะรับมือกับคนไข้ที่เป็นไข้หวัดหรือภูมิแพ้ธรรมดาเป็นส่วนใหญ่
“ปกติที่มาจะมีคนไข้ที่เป็นภูมิแพ้ หายใจไม่ออก ที่เป็นเคสเบาๆ แต่หลังจากมีโควิด-19 แล้วเนี่ย มีคนไข้ที่มีไข้สูง ตัวสั่น มีเสมหะออกมาเยอะ ก็จะมากันเยอะหน่อย ทำให้เราต้องทำงานหนักขึ้น เพราะต้องตรวจกันละเอียดขึ้น ปกติแล้วคนไข้ทั่วไปจะใช้เวลาตรวจประมาณ 15-30 นาที แต่ถ้าเป็นคนไข้โควิด หรือที่เสี่ยง จะต้องใช้เวลาตรวจนานกว่านั้น และต้องใช้เจ้าหน้าที่มากขึ้น”
นอกจากเป็นหน้าด่านรับมือคนไข้ต่อจากหน่วยคัดกรองโควิด-19 แล้ว ยังต้องให้คำแนะนำการใช้อุปกรณ์การแพทย์เฉพาะทางสำหรับการรับมือกับผู้ติดเชื้อโดยเฉพาะด้วย
"เราทำงานเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ดังนั้นเราต้องทำหน้าที่สอนหมอ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ผ่าตัด ให้ใช้หน้ากากอนามัยและชุด gown ให้ถูกต้อง และหน้าที่อีกอย่างหนึ่ง คือ สอนการใช้ Air Purifier (PAPR) ที่เป็นอุปกรณ์บังทั้งหน้าเราเลย เหมือนกับชุดอวกาศอะไรอย่างนี้ ก็จะเป็นอีกหน้าที่หนึ่งที่เสริมเข้ามา”
หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ยกระดับขึ้น ทีมแพทย์ต่างต้องปรับตัวในการรับมือกับคนไข้โควิด-19 และคนไข้ปกติ ซึ่งเทคโนโลยีก็เข้ามามีบทบาทอย่างมาก เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรการแพทย์ในระยะนี้
“คนไข้โควิด-19 ที่เราแน่ใจว่าผลตรวจเป็นบวก เราก็จะมีไอแพดอันหนึ่งให้เขา ก็ติดต่อกันแบบสไกป์ที่เราคุยกันอยู่นี่แหละครับ อันนี้ก็เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ใช้ ส่วนน้องชายผมที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลเหมือนกัน เป็นฝ่ายกายภาพบำบัด ตอนนี้ก็รู้สึกจะทำงานที่บ้าน ก็ใช้ระบบคล้ายๆ กันติดต่อโทรหาคนไข้ โดยไม่ต้องไปถึงที่ หรือเจอตัวกัน ก็ติดต่อกันได้”
แม้ทางโรงพยาบาลจะปรับเปลี่ยนการรักษาในบางแผนกไปเป็นรูปแบบ Telemedicine กันบ้างแล้ว แต่จำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้นในโรงพยาบาล อุปกรณ์การแพทย์ก็เริ่มขาดแคลน ถึงขั้นที่ต้องแบ่งสรรปันส่วนเครื่องมือแพทย์ โดยไม่รู้ว่าความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลางจะมาถึงเมื่อไหร่
“ทุกโรงพยาบาลพูดเหมือนกันหมดว่า เครื่องช่วยหายใจมีไม่พอสำหรับคนไข้ อุปกรณ์พวกเครื่องช่วยหายใจ หน้ากาก อยากให้มีพอสำหรับบุคลากรการแพทย์ที่ทำงานที่โรงพยาบาลนะครับ เพราะปกติแล้วหน้ากากอันหนึ่ง พอเจอคนไข้คนหนึ่งเสร็จก็ทิ้งเลย พออุปกรณ์ไม่พอแบบนี้ เราอาจจะต้องใช้แอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดหน้ากาก แล้วเอากลับมาใช้ใหม่ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนในระยะสั้นนี้ไปครับ”
สิ่งที่นักบำบัดทางเดินหายใจคนไทยรายนี้กังวล คือ ความน่ากลัวของโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการแม้ว่าจะติดเชื้อไปแล้วในระยะ 14 วันแรก ทำให้เขาต้องดูแลความสะอาดกว่าเดิมหลายเท่า เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เชื้อโรคจะไปถึงครอบครัวที่บ้าน
“คือปกติแล้วเนี่ย พี่อุ้ยจะใส่ชุดทำงานกลับมาเลย แต่พอหลังจากมีโควิด-19 ขึ้นมา พี่อุ้ยก็จะต้องระมัดระวังมากขึ้น อย่างเช่น พี่จะเตรียมเสื้อผ้าไปเปลี่ยน แล้วต้องทำความสะอาดรองเท้านิดนึง เพราะเราเดินอยู่ในโรงพยาบาลอาจจะมีเชื้อโรคนะครับ พอกลับมาบ้านเสื้อผ้าที่สกปรกต้องโยนลงถังแล้วซักเดี๋ยวนั้นเลย เพราะเราจะไม่มีทางรู้เลยว่าเราติดหรือไม่ติด นอกจากต้องรอให้การฟักตัวของเชื้อเกิดขึ้น ถ้าเกิดสมมติเราติดขึ้นมาจริงๆเนี่ยเราก็ไม่อยากให้เขา (คนในครอบครัว) ติดด้วย ...
...สำหรับอาการเบื้องต้น (โควิด-19 กับไข้หวัดทั่วไป) จะเหมือนๆกันหมดครับ คือ จะมีไข้ จะไอ มีเสมหะ แต่ไม่จำเป็นเสมอไปว่าจะต้องมีน้ำมูกนะครับคนที่เป็นโควิด-19 พอรอไปสักพักจนเชื้อฟักตัวแล้วเนี่ย อันดับแรกคือ อัตราการเต้นของหัวใจเราจะเร็วขึ้น และระดับออกซิเจนในเลือดเราจะค่อยๆลดต่ำลง เพราะเชื้อไวรัสกำลังเข้าไปในปอด ทำให้เราต้องใช้พลังในการหายใจมากขึ้น ถ้าเกิดไม่ได้รับการรักษา อาการจะแย่ลง ถึงขั้นหายใจด้วยตัวเองไม่ได้ จะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ”
ส่วนในแง่สังคม Alameda เป็นเขตพื้นที่แรกๆ ที่ประกาศมาตรการ Shelter in Place รับมือการระบาดของโควิด-19 ในแคลิฟอร์เนีย ในมุมมองของคุณธีรพล เห็นว่าประชาชนที่นั่นรับมือได้ค่อนข้างดี และได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบางส่วน แต่มาตรการช่วยเหลือต่างๆของรัฐที่ออกมาอาจช่วยได้แค่ระยะสั้นเท่านั้น
“รัฐบาลมีโปรแกรมให้เรา คือ Disability Insurance และ Unemployment Insurance ซึ่งอันนี้มาเร็วมาก บางคนส่งไปวันนี้อีก 2 วันได้เลย แต่ว่ามันอาจจะเป็นการช่วยเหลือในระยะสั้นเท่านั้น เพราะเราไม่รู้ว่าสถานการณ์มันจะยาวนานแค่ไหน?”
แม้ตอนนี้ทางโรงพยาบาลในเมือง Alameda จะเพิ่มกฏให้ผู้ต้องสงสัยติดโควิด-19 ต้องสังเกตอาการตนเองที่บ้านเป็นระยะ 14 วัน ก่อนจะแจ้งขอตรวจหาเชื้อกับทางโรงพยาบาล รวมทั้งเพิ่มจุดตรวจใหม่ที่สามารถรู้ผลว่าติดโควิด-19 หรือไม่ ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนมากขึ้นแล้วก็ตาม
แต่คุณธีรพล ยังต้องทำงานหนักขึ้นจาก 4 วันเป็น 6 วันต่อสัปดาห์ เพื่อรับมือกับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นทุกๆวัน