'ประยุทธ์' พบปะชุมชนไทยที่นิวยอร์ก ก่อนเริ่มภารกิจประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็น

Thai Prime Minister meets Thai Community in New York

Your browser doesn’t support HTML5

Thai PM Visit Thai NYC Community


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พบปะกับชาวชุมชนไทยที่ นครนิวยอร์ก ภายในห้องประชุมของโรงแรมพลาซา แอทธินี นครนิวยอร์ก ระหว่างการเดินทางเข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 74 ประจำปี พ.ศ.2562

พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางถึงนครนิวยอร์ก ในเวลาประมาณ 12.20 น. ของ วันที่ 22 ก.ย. ตามเวลาท้องถิ่น ในสหรัฐอเมริกา ก่อนจะมีภารกิจแรกคือการพบปะกับชาวชุมชนไทยในสหรัฐฯ ที่เดินทางไปร่วมให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีและคณะ โดยมีสมาชิกชุมชนไทยในรัฐนิวยอร์กและรัฐใกล้เคียง ร่วมเข้าพบและรับฟังคำปราศรัยของนายกรัฐมนตรีไทย ราว 200 คน ทั้งที่มาจากภาคธุรกิจ ผู้นำชุมชน และนักศึกษาไทยในอเมริกา

นายกรัฐมนตรีของไทย ได้ขึ้นกล่าวทักทายและพูดคุยถึงการเดินทางในภารกิจครั้งนี้ นอกจากนี้ยังใช้โอกาสนี้ ชี้แจงนโยบายของรัฐบาลในด้านต่างๆ ให้กับชาวชุมชนไทยได้รับฟัง เช่นเดียวกับตอบข้อซักถาม และถ่ายรูปร่วมกันอย่างเป็นกันเอง


ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะบุคคลสำคัญประกอบด้วยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะ มีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ (United Nations General Assembly – UNGA) ครั้งที่ 74 และเข้าร่วมการประชุมสำคัญที่เกี่ยวเนื่อง ระหว่างวันที่ 21-27 กันยายน 2562 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา


ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมที่สอดคล้องกับวาระการเป็นประธานอาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับ 3 เสาหลักสหประชาติและผลประโยชน์ของไทย ได้แก่

  • การประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (High-level Meeting on Universal Health Coverage : HLM on UHC) เพื่อแสดงบทบาทที่แข็งขันของไทยในด้านสาธารณสุข แสดงให้ประชาคมโลกเห็นถึงนโยบายของไทยในการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างการพัฒนาสุขภาพ สังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 3 และผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
  • การประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ (UN Climate Action Summit) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งวาระสำคัญของโลกที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน​
  • การประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Summit) เพื่อทบทวนและติดตามผลการอนุมัติวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ในระดับผู้นำเป็นครั้งแรกภายหลังจากที่ผู้นำประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ได้รับรองเมื่อปี 2558

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีจะพบกับภาคส่วนสำคัญได้แก่ Asia Society และ สภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน (US-ASEAN Business Council: USABC)

ที่ Asia Society นายกรัฐมนตรีจะได้ย้ำบทบาทไทยในภูมิภาคและความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในฐานะประธานอาเซียน ทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม บทบาทไทยในอนุภูมิภาค การเตรียมตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ Smart City และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ส่วนที่สภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน (US-ASEAN Business Council: USABC) นายกรัฐมนตรีจะใช้โอกาสนี้สร้างความเชื่อมั่นต่อศักยภาพด้านเศรษฐกิจของไทย โดยแจ้งถึงการดำเนินการของไทยในการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ อาทิ ด้านภาษีศุลกากร เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจ ย้ำจุดแข็งของ EEC ในการเชื่อมโยงไปยังอนุภูมิภาคต่างๆ เปิดโอกาสให้แก่นักลงทุนต่างชาติให้มาร่วมมือกันในฐานะ Key Player

ในระหว่างนี้นายกรัฐมนตรียังมีกำหนดการพบปะหารือกับผู้นำประเทศต่างๆ ได้แก่ นายสกอตต์ มอริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย รวมทั้งหารือกับนายอันโตนิอู กุแตเรซ เลขาธิการสหประชาชาติ และนาย Tijjane Muhammad Bande ประธานสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 74 ด้วย