Your browser doesn’t support HTML5
วันนี้ (23 ก.ย. 2562) เวลา 9.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมเต็มคณะระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (High-level Meeting on Universal Health Coverage) การประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ (United Nations Climate Action Summit 2019)
ในการประชุมว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นายกรัฐมนตรีไทยกล่าวว่า ความสำเร็จด้านสาธารณสุขของไทยมีพื้นฐานจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุมประชากรเกือบหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ การลงทุนด้านสุขภาพเป็นการลงทุนทั้งเพื่อปัจจุบันและอนาคต ประชาชนที่มีสุขภาพดีจะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคงมั่งคั่ง และยั่งยืน เป้าหมายการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถทำได้จริง หากมีความมุ่งมั่นและตั้งใจ
นายกรัฐมนตรีไทยยังได้แบ่งปันประสบการณ์ของไทย ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของหลักการ 3 ประการ หนึ่งคือ ความเท่าเทียม โดยรัฐบาลไทยได้พัฒนาระบบสาธารณสุขเพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง และตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ ไทยจะขยายสิทธิประโยชน์ให้รวมถึงการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีก่อนการสัมผัสเชื้อแก่ประชากรกลุ่มเสี่ยง
สองคือ ประสิทธิภาพ รัฐบาลไทยมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยจัดสรรงบประมาณ15% ของกองทุนหลักประกันสุขภาพ สำหรับการสร้างเสริมสุขภาพ โดยเพิ่มการใช้งบประมาณจากภาษีสุราและยาสูบ และสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนสุขภาพท้องถิ่น
สาม การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในทุกระดับ รวมทั้งเน้นการส่งเสริมบริการสุขภาพในระดับมูลฐานที่มีชุมชนเป็นศูนย์กลาง
ผู้นำไทยกล่าวด้วยว่า ไทยสนับสนุนให้ทุกประเทศบรรลุเป้าหมายของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยไทยพร้อมจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการจัดการบริการสาธารณสุขและการสร้าง หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากับประเทศต่าง ๆ เพื่อให้นำไปประยุกต์ใช้ตามบริบทของแต่ละประเทศ
สำหรับในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ นายกรัฐมนตรีกล่าวในนามอาเซียนว่า พร้อมมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันกับประชาคมโลกเพื่อดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า อาเซียนมีความเปราะบางสูงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบที่เพิ่มขึ้นก็เป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาค ดังนั้นอาเซียนจึงพยายามดำเนินมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมมุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศกับประชาคมโลกในทุกระดับ
ในระดับโลก อาเซียนสนับสนุนความพยายามในการแก้ปัญหาภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดได้เข้าเป็นภาคีความตกลงปารีส และได้ประกาศการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDCs) แล้ว
ในระดับภูมิภาค อาเซียนได้ดำเนินมาตรการยุทธศาสตร์ภายใต้แผนงานประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน 2025 เพื่อมุ่งสู่การมี “สภาพภูมิอากาศที่ยั่งยืน” และชุมชนที่มีภูมิต้านทาน โดยมีเป้าหมายที่สำคัญประกอบด้วย
(1) เป้าหมายด้านการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน อาเซียนได้บรรลุเป้าหมายของภูมิภาคในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้ลดความเข้มข้นในการใช้พลังงานมากกว่าร้อยละ 21.9 เมื่อเทียบกับปี 2005 เกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้สำหรับปี 2020 และอาเซียนจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาวในการลดความเข้มข้นในการใช้พลังงานลงร้อยละ 30 ภายในปี 2025 และได้กำหนดเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นร้อยละ 23 ภายในปี 2025 ด้วย
(2) เป้าหมายด้านการขนส่งทางบก อาเซียนมุ่งลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงเฉลี่ยของยานพาหนะใหม่ขนาดเล็กที่จำหน่ายในอาเซียนลงร้อยละ 26 ระหว่างปี 2015 ถึง 2025 นอกจากนี้ อาเซียนจะเสนอและเสริมสร้างมาตรการนโยบายการคลังบนพื้นฐานการประหยัดพลังงานหรือการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับประเทศ และส่งเสริมการประกาศมาตรฐานการใช้เชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะขนาดเล็กของแต่ละประเทศ เพื่อมุ่งสู่การมีมาตรฐานระดับภูมิภาคในระยะยาว
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า อาเซียนเน้นความเชื่อมโยงโดยตรงระหว่างการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศกับกลไกสนับสนุน ทั้งในด้านการเสริมสร้างศักยภาพ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการสนับสนุนทางการเงิน วันนี้เป็นโอกาสสำหรับประเทศพัฒนาแล้วในการดำเนินการตามคำมั่นด้านการสนับสนุนทางการเงิน และหวังจะเห็นสัญญาณทางการเมืองที่เข้มแข็งในการเพิ่มเงินทุนสนับสนุนอย่างมั่นคง ประมาณการได้ และยั่งยืน ภายหลังปี 2020 ด้วย
ในตอนท้ายนายกรัฐมนตรีย้ำว่าไม่มีประเทศใดที่สามารถต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เพียงลำพัง โดยอาเซียนพร้อมที่จะเป็นหุ้นส่วนกับประชาคมโลกในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศเพื่อประกันความยั่งยืนให้กับอนุชนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต