ในต้นสัปดาห์นี้ ตั้งแต่วันที่ 23 ถึง 27 กันยายน จะมีการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ก ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่ที่ประชุมให้ความสำคัญหลักไปที่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หลังจากที่สหประชาชาติริเริ่มไว้เมื่อ 4 ปีก่อน
ภายใต้เป้าหมายดังกล่าวที่มีชื่อย่อว่า SDGs (Sustainable Development Goals) ประเทศต่างๆเห็นพ้องที่จะจัดการกับความยากจน ความไม่เท่าเทียมกัน ภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติและประเด็นปัญหาอื่นๆ รวมแล้ว 17 หัวข้อ โดยมีกรอบเวลาถึงปี ค.ศ. 2030 หรือ 11 ปีจากนี้
มูลนิธิ Thompson Reuters Foundation สัมภาษณ์ ผู้บริหารองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร Social Progress Imperative ของสหรัฐฯ ซึ่งกล่าวว่าเป้าหมาย SDGs ไม่น่าทำได้สำเร็จจนกว่า ปี ค.ศ. 2073 หรือ 54 ปีจากนี้
ไมเคิล กรีน ซีอีโอของ Social Progress Imperative กล่าวว่ามีบางประเทศที่เดินถอยหลังเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน และประเทศส่วนใหญ่ยังคงพลาดเป้าในเรื่อง การดูแลสุขภาพของประชาชน การให้ที่พักพิง การเข้าถึงน้ำสะอาดและโภชนาการทางอาหาร
ตัวแทนของสหประขาขาติ ชานทานู มุเคอร์จี แห่ง U.N. Department of Economic and Social Affairs กล่าวว่าประเด็นที่เผชิญความล่าช้าหลักๆ มาจากความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้น และเรื่องภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติ
ในเอกสารของสหประชาติ เมื่อช่วงฤดูร้อนที่เพิ่งผ่านมา การประเมินผลชี้ให้เห็นว่า แม้มีความคืบหน้าในการจัดการกับความยากจนขั้นรุนแรง แต่บางประเด็นเดินหน้าได้อย่าเชื่องช้า หรือถึงขั้นเกิดปัญหายำ่เเย่ไปกว่าเก่า
เอกสารฉบับดังกล่าวระบุว่า ประเทศและประชากรที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด กำลังประสบปัญหารุนแรงที่สุด และการตอบสนองกับปัญหายังคงไม่เเข็งขันเพียงพอ แม้ว่าแต่ละปีค่าใช้จ่ายของการดำเนินการตามเป้า SDGs จะสูงถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์