พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พบปะกับชาวชุมชนไทยที่ นครนิวยอร์ก ภายในห้องประชุมของโรงแรมพลาซา แอทธินี นครนิวยอร์ก ระหว่างการเดินทางเข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 74 ประจำปี พ.ศ.2562
พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางถึงนครนิวยอร์ก ในเวลาประมาณ 12.20 น. ของ วันที่ 22 ก.ย. ตามเวลาท้องถิ่น ในสหรัฐอเมริกา ก่อนจะมีภารกิจแรกคือการพบปะกับชาวชุมชนไทยในสหรัฐฯ ที่เดินทางไปร่วมให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีและคณะ โดยมีสมาชิกชุมชนไทยในรัฐนิวยอร์กและรัฐใกล้เคียง ร่วมเข้าพบและรับฟังคำปราศรัยของนายกรัฐมนตรีไทย ราว 200 คน ทั้งที่มาจากภาคธุรกิจ ผู้นำชุมชน และนักศึกษาไทยในอเมริกา
นายกรัฐมนตรีของไทย ได้ขึ้นกล่าวทักทายและพูดคุยถึงการเดินทางในภารกิจครั้งนี้ นอกจากนี้ยังใช้โอกาสนี้ ชี้แจงนโยบายของรัฐบาลในด้านต่างๆ ให้กับชาวชุมชนไทยได้รับฟัง เช่นเดียวกับตอบข้อซักถาม และถ่ายรูปร่วมกันอย่างเป็นกันเอง
ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะบุคคลสำคัญประกอบด้วยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะ มีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ (United Nations General Assembly – UNGA) ครั้งที่ 74 และเข้าร่วมการประชุมสำคัญที่เกี่ยวเนื่อง ระหว่างวันที่ 21-27 กันยายน 2562 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมที่สอดคล้องกับวาระการเป็นประธานอาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับ 3 เสาหลักสหประชาติและผลประโยชน์ของไทย ได้แก่
- การประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (High-level Meeting on Universal Health Coverage : HLM on UHC) เพื่อแสดงบทบาทที่แข็งขันของไทยในด้านสาธารณสุข แสดงให้ประชาคมโลกเห็นถึงนโยบายของไทยในการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างการพัฒนาสุขภาพ สังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 3 และผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
- การประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ (UN Climate Action Summit) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งวาระสำคัญของโลกที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน
- การประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Summit) เพื่อทบทวนและติดตามผลการอนุมัติวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ในระดับผู้นำเป็นครั้งแรกภายหลังจากที่ผู้นำประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ได้รับรองเมื่อปี 2558
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีจะพบกับภาคส่วนสำคัญได้แก่ Asia Society และ สภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน (US-ASEAN Business Council: USABC)
ที่ Asia Society นายกรัฐมนตรีจะได้ย้ำบทบาทไทยในภูมิภาคและความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในฐานะประธานอาเซียน ทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม บทบาทไทยในอนุภูมิภาค การเตรียมตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ Smart City และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
ส่วนที่สภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน (US-ASEAN Business Council: USABC) นายกรัฐมนตรีจะใช้โอกาสนี้สร้างความเชื่อมั่นต่อศักยภาพด้านเศรษฐกิจของไทย โดยแจ้งถึงการดำเนินการของไทยในการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ อาทิ ด้านภาษีศุลกากร เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจ ย้ำจุดแข็งของ EEC ในการเชื่อมโยงไปยังอนุภูมิภาคต่างๆ เปิดโอกาสให้แก่นักลงทุนต่างชาติให้มาร่วมมือกันในฐานะ Key Player
ในระหว่างนี้นายกรัฐมนตรียังมีกำหนดการพบปะหารือกับผู้นำประเทศต่างๆ ได้แก่ นายสกอตต์ มอริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย รวมทั้งหารือกับนายอันโตนิอู กุแตเรซ เลขาธิการสหประชาชาติ และนาย Tijjane Muhammad Bande ประธานสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 74 ด้วย