สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รัฐบาลไทยกำลังเสนอแผนให้เกิดการทำงานร่วมกับผู้นำทหารเมียนมาอย่างเต็มที่อีกครั้งและได้ส่งเทียบเชิญเข้าร่วมการหารือในวันอาทิตย์อย่างไม่เป็นทางการไปยังรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน
แผนดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดการพูดคุยกันถึงแผนสันติภาพที่ยังขาดความคืบหน้า โดยรอยเตอร์อ้างข้อมูลในจดหมายเชิญและเเหล่งข่าวที่ทราบถึงการนัดหมายครั้งนี้
ข้อเสนอที่จะทำงานร่วมกับเมียนมาถูกระบุในจดหมายวันที่ 14 มิถุนายน จากรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ดอน ปรมัตถ์วินัย ไปยังรัฐมนตรีต่างประเทศของสมาชิกอาเซียน
ที่การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเมื่อเดือนที่เเล้ว ตัวเเทนสูงสุดจากประเทศต่าง ๆ เรียกร้องให้ยุติการก่อความรุนเเรงในเมียนมา ซึ่งก่อตัวขึ้นตั้งเเต่กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารเมื่อสองปีก่อน
บางประเทศในกลุ่มอาเซียนรู้สึกไม่พอใจกับแนวทางที่อาเซียนมีต่อเหตุการณ์และความสูญเสียที่เกิดขึ้นในเมียนมา
รอยเตอร์รายงานว่าท่าทีของไทยล่าสุดนี้น่าจะเป็นบททดสอบความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสมาคมอาเซียน
เเหล่งข่าวสองรายบอกกับรอยเตอร์ว่า รัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาได้รับเชิญในการประชุมอย่างไม่เป็นทางการด้วย อย่างไรก็ตามโฆษกรัฐบาลทหารเมียนมาไม่ได้รับสายเมื่อรอยเตอร์ติดต่อไปเพื่อขอความเห็นเมื่อคืนวันศุกร์
อินโดนีเซียซึ่งเป็นประธานหมุนเวียนของอาเซียนปฏิเสธที่จะเข้าร่วมประชุม ตามข้อมูลของเเหล่งข่าวสามรายในรายงานของรอยเตอร์
กระทรวงต่างประเทศอินโดนีเซีย กล่าวกับสำนักข่าวเเห่งนี้ว่า "ยังไม่ได้ยิน" เรื่องการเชิญครั้งนี้
รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ วิเวียน บาลากริชนัน บอกกับผู้สื่อข่าวว่า เนื่องจากยังไม่มีความคืบหน้าต่อสถานการณ์ในเมียนมา "มันเร็วเกินไปที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลทหารอีกครั้ง ในระดับการประชุมสุดยอด หรือเเม้ในระดับรัฐมนตรีก็ตาม"
กระทรวงการต่างประเทศของไทยปฏิเสธที่จะเเสดงความเห็นในเรื่องนี้
ผู้นำทหารเมียนมาไม่เคยได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมระดับสูงของอาเซียน เนื่องจากเมียนมาล้มเหลวในการทำตามความตกลง "ฉันทามติ 5 ข้อ" เมื่อปี 2021
ภายใต้กรอบดังกล่าว จะต้องมีการหยุดใช้ความรุนเเรง เปิดทางให้ทุกฝ่ายเจรจากันและอนุญาตให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าถึงประชาชน
รอยเตอร์รายงานว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไทยภายใต้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งได้อำนาจในตอนเเรกมาจากการทำรัฐประหารเช่นกัน เคยพยายามให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหารเมียนมามีส่วนร่วมในการหารืออย่างไม่เป็นทางการของอาเซียน
อย่างไรก็ตาม ท่าทีในเรื่องนี้ของฝั่งไทยขัดกับความพยายามของอินเโดนีเซีย
แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าวว่า สาเหตุหนึ่งที่อินโดนีเซียไม่รับคำเชิญล่าสุดของไทยคือ ความคิดริเริ่มของไทยขัดกับความตกลงที่เกิดขึ้นในกลุ่มอาเซียจากการประชุมสุดยอดเมื่อเดือนพฤษภาคม
รัฐมนตรีดอนของไทยเสนอให้เกิดการหารือกันโดยหวังว่าจะเป็น "ก้าวเเรก ๆ" ของกระบวนการสันติภาพ
เขายังได้อ้างถึงการประชุมสุดยอด ที่มี "ประเทศสมาชิกรายหนึ่ง" เสนอให้กลับไปรื้อฟื้นการข้องเกี่ยวกับเมียนมาในระดับผู้นำ
รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยกล่าวในจดหมายว่า ท่าทีดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากหลายประเทศและบางประเทศเต็มใจที่จะพิจารณาแนวทางนี้ เขาบอกด้วยว่าไม่พบว่ามีผู้ใดคัดค้านอย่างชัดเเจ้ง
ดอนหวังด้วยว่าหากการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการดำเนินไปด้วยดี ไทยอยากเสนอให้ถือโอกาสดังกล่าวจัดประชุมระดับผู้นำต่อเนื่องไปจากนี้
ในเรื่องนี้ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการ Human Rights Watch ภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยได้เเสดง "ความยโส" ด้วยการเชิญฝ่ายรัฐบาลทหารของเมียนมา ผู้ซึ่งถูกปฏิเสธโดยประเทศเพื่อนบ้าน
"ไม่เเปลกใจเลยที่ความพยายามของอาเซียนสะดุดในทุกก้าวที่อยากจะเดินหน้าเพื่อแก้วิกฤตในครั้งนี้" โรเบิร์ตสันกล่าว
- ที่มา: รอยเตอร์