คนทำเบียร์ คู่รัก LGBT นักเคลื่อนไหวด้านสถาบันกษัตริย์ และนักร้อง(เรียน) คุยกับ VOA Thai ถึงรอยแผล เส้นทางการต่อสู้ และความคาดหวังหลังเลือกตั้ง 2566
อีกเพียงราวสองสัปดาห์ การใช้สิทธิ์ออกเสียงของประชาชนชาวไทยจะดำเนินไปจนเสร็จสิ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม สารพัดนโยบายและคำมั่นสัญญาถูกงัดออกมาโหมประโคมในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้งเพื่อช่วงชิงฐานคะแนนเสียงจากกันและกัน
คำมั่นสัญญาเหล่านี้ ต่างชี้ชวนให้ประชาชนมองไปถึงอนาคตที่ดีกว่าเดิม
VOA Thai สอบถามสมาชิกจากกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย คู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ นักกิจกรรมในประเด็นสถาบันกษัตริย์ และเอ็นจีโอนักร้องเรียนชื่อดัง เพื่อรวบยอดเรื่องที่ค้างคา สิ่งที่คาดหวัง และสิ่งเหล่านี้มีความหมายสำหรับพวกเขามากหรือน้อยแค่ไหน
เลิกกีดกันคนทำเบียร์ สร้างโอกาสรายย่อยลืมตาอ้าปาก
สราวุธ ประสิทธิ์ส่งเสริม เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์แบรนด์ Call Me Papa เบียร์คราฟท์ประเภท Hazy Milkshake IPA ชื่อแบรนด์นี้ยังถูกใช้เป็นชื่อโรงเบียร์ที่ย่านงามวงศ์วานที่เขาขอเปิดกิจการอย่างถูกกฎหมายมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2566
สำหรับสราวุธ ความสุขของเขาคือการได้ต้มเบียร์แบบใหม่ๆ ให้ตัวเขาและแม่ลองชิม จนท้ายที่สุด งานอดิเรกค่อยๆ นำเขาเข้าสู่วงการธุรกิจทำเบียร์ หนึ่งในภาคส่วนธุรกิจของไทยที่ส่วนแบ่งการตลาดถูกครอบครองด้วยเบียร์ประเภท Lager ของทุนใหญ่ไม่กี่ราย และหนทางสำหรับการเติบโตของผู้เล่นรายย่อยยังคงตีบตัน
รายงาน ‘แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรมปี 2565-2567: อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม’ ของวิจัยกรุงศรี ระบุว่าอุตสาหกรรมเบียร์ของไทยร้อยละ 95 ถูกครองตลาดโดยผู้ผลิตรายใหญ่ 2 ราย ได้แก่ บริษัทจำกัด (บจก.) บุญรอดบริวเวอรี่ และบริษัทมหาชนจำกัด (บมจ.) ไทยเบฟเวอเรจ งานวิจัยระบุว่าสาเหตุที่วงการนี้มีผู้ผลิตไม่กี่รายเพราะเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง และมีกฎระเบียบที่กำหนดทุนจดทะเบียนและกำลังการผลิตขั้นต่ำไว้ในอัตราที่สูง
ในกรณีของสราวุธ เพื่อจะเปิด Brew Pub หรือโรงเบียร์ขนาดเล็กประเภทผลิตเพื่อขาย ณ ที่ผลิต เขาต้องทำกำลังการผลิตให้อยู่ระหว่าง 100,000-1,000,000 ลิตรต่อปี และต้องใช้เงินทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ตามกฎกระทรวงการคลังการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560
สราวุธเล่าว่าเงินก้อนดังกล่าวต้องจ่ายเป็นจำนวนเต็ม ทำให้เขาต้องไปกู้เงินมาจากธนาคารเต็มจำนวน เมื่อประเมินเงื่อนไขและกฎเกณฑ์ที่เขาต้องปฏิบัติตาม เขาประเมินว่าการลงทุนของเขาในร้าน Call Me Papa จะใช้เวลาราว 5 ปีกว่าจะคืนทุน ในขณะที่ธุรกิจโรงงานผลิตเพื่อจำหน่ายคาดว่าจะใช้เวลาราว 1-2 ปี
เงื่อนไขและกฎเกณฑ์ที่สราวุธพูดถึงได้แก่ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 32 ที่ห้ามโฆษณาชักชวน อวดอ้างสรรพคุณของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อและเครื่องหมายของเครื่องดื่ม เพื่อชักชวนใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม ข้อบังคับที่ห้ามไม่ให้ขายเบียร์สดจากแท็ปที่ร้านกลับไปกินที่บ้าน ไปจนถึงภาษีที่สูงจนเป็นภาระการผลิตต่อผู้ผลิตรายย่อย
“หนึ่งคือเรื่องของการโฆษณา เราไม่สามารถบอกได้ว่าเราขายเบียร์นะ เรามีเบียร์แสนอร่อยอยู่ที่นี่ เชิญมาหน่อยได้ไหม เราพูดไม่ได้ สองคือเรื่องภาษีในการผลิตเบียร์ ภาษีในการจัดเก็บอยู่ราวๆ ถ้าจำไม่ผิดอยู่ที่ 47% ภาษีคนบาปน่ะ 40% แล้ว มี VAT (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) อีก 7% ซึ่งคือภาษีขาย 7% แต่ภาษีวัตถุดิบเราก็เสียอีกนะ คือภาษีซ้ำซ้อนที่อยู่ในนี้ โอ้โห เยอะ”
“ฉะนั้นกำไรของการทำคราฟท์เบียร์ในร้านนั้นไม่เยอะ เอาเป็นว่า margin กำไร (กำไรสุทธิ) อยู่ที่ประมาณ 20% ที่เหลือเป็นต้นทุนกับค่าใช้จ่ายทั้งหมด” เจ้าของแบรนด์ Call Me Papa กล่าว
แม้เหมือนมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์สำหรับวงการผู้ผลิตเมื่อมีการผ่านกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 ที่ไม่กำหนดทุนจดทะเบียนหรือกำลังการผลิตขั้นต่ำในการผลิตเครื่องดื่มบางประเภท รวมถึงการอนุญาตให้ทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริโภคเองในครัวเรือน แต่ก็ยังถูกวิจารณ์ว่ามีความเป็น “การเมือง” เพราะในเนื้อหายังคงนำเงื่อนไขอื่น ๆ เข้ามากีดกันผู้ผลิต และกฎหมายนี้ถูกผ่านเพียง 1 วัน ก่อนที่รัฐสภาจะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่พรรคก้าวไกลเป็นผู้เสนอ
ท้ายที่สุด ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่มุ่งปลดล็อกข้อจำกัดในการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่ากฎกระทรวง แพ้โหวตในสภาไปเพียง 2 เสียง
สราวุธเล่าว่าคนในวงการคราฟท์เบียร์ต้องการให้รัฐบาลใหม่นำ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า กลับมาทบทวน กฎหมายไม่ควรกีดกันการทำเบียร์เพื่อบริโภคเองในครัวเรือน แต่ควรไปตั้งกฎเกณฑ์ในส่วนการผลิตเพื่อจำหน่ายเพื่อประกันความสะอาด ความปลอดภัย และสร้างการจัดเก็บภาษี ในส่วนของพฤติกรรมเสี่ยงที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มมึนเมา เช่น เมาแล้วขับ ก็ให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและให้มีอัตราโทษที่สูง
“อาหารไทยมันดังไประดับโลกแล้ว ทำไมเราไม่ทำเครื่องดื่มของเราให้มันดังไประดับโลกบ้าง เหมือนเกาหลีทำ เหมือนญี่ปุ่นทำ เหมือนประเทศที่เจริญแล้วเขาทำ เขาไม่เห็นต้องมากีดกันว่าเป็นการมอมเมาประชาชนเลย แต่เขาให้ความรู้มากกว่า ให้คนเลือกว่าคุณจะเมาแบบไหน” สราวุธกล่าว
สำหรับเจ้าของโรงเบียร์หน้าใหม่ ภาพฝันของประเทศไทยที่มี พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า คือประเทศที่มีเครื่องดื่มที่แข่งขันกับตลาดโลกได้ สามารถสร้างรายได้ สร้างความภาคภูมิใจ และสร้างสังคมที่พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างเสรีและมีสุทรียะ
ยกเลิกกฎหมายหมิ่นสถาบันฯ นิรโทษกรรมคดีการเมือง
ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ (ตะวัน) และอรวรรณ ภู่พงษ์ (แบม) เป็นที่รู้จักในฐานะนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ตั้งคำถามในประเด็นที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ และยิ่งเป็นที่รู้จักมากขึ้นหลังพวกเธอตัดสินใจถอนประกันตัวคดีของตัวเอง ก่อนจะอดอาหารนานกว่า 50 วันเพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องขังคดีการเมือง การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และการประกันสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก
ตะวันและแบมคือหนึ่งในภาพสะท้อนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของไทยหลังรัฐประหารปี 2557 ที่กลไกรัฐถูกนำมาใช้ต่อการเรียกร้องประชาธิปไตยผ่านการดำเนินคดี ข่มขู่คุกคามและใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม สิ่งเหล่านี้ยิ่งเห็นชัดมากขึ้นตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาหลังมีกระแสการชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองและสถาบันกษัตริย์ ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2563 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไปแล้วอย่างน้อย 1,895 คน ในจำนวน 1,180 คดี ในจำนวนนึ้ ราว 241 ราย ถูกดำเนินคดีจากประมวลฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ข้อมูลเมื่อเดือน ก.พ. และ เม.ย. 2566)
ในวันที่พูดคุยกับ VOA Thai สุขภาพของพวกเธอยังไม่ฟื้นฟูเต็มที่ สองคนระบุว่าแต่ละคนยังมีอาการเหนื่อยง่ายเนื่องจากค่าเลือดที่ยังจาง และในกรณีของแบมยังคงมีอาการตับอักเสบอยู่
ตะวันกล่าวว่า หากการเมืองเปลี่ยนในการเลือกตั้งรอบนี้ เธอยากให้การตั้งคำถามถึงสถาบันกษัตริย์สามารถทำได้โดยปลอดภัย ไม่ถูกตอบโต้อย่างรุนแรงจากรัฐ ไม่ว่าจะการตั้งคำถามนั้นจะสร้างความกระอักกระอ่วนก็ตาม
“อย่างในอังกฤษสามารถพูดได้ ชูป้ายได้ว่าเขาต้องการ republic (สาธารณรัฐ) เขาสามารถพูดได้เต็มที่ แต่มันกลายเป็นว่าในประเทศไทย มันไม่ใช่แค่การพูดว่าเราอยากได้สาธารณรัฐด้วยซ้ำ แต่การแค่จะพูดถึงกษัตริย์ …. บางคนยังต้องคิดหนักเลยว่า หรือเราไม่ควรจะพูดดี มันเป็นเรื่องที่กลายเป็นว่าคนกลัวมากๆ โดน 112 เขาก็เชือดไก่ให้ลิงดู เอาเข้าคุก เดี๋ยวพวกนี้ก็คงเข็ด แล้วก็ค่อยปล่อย หรือไม่ก็ทำอะไรให้มันกลัว ไปที่บ้าน ขู่คุกคาม ทำอะไรก็ได้ให้มันกลัว” ตะวันกล่าว
นับตั้งแต่ออกจากการรักษาพยาบาลหลังอดอาหาร ตะวันแบมเดินสายไปตามพื้นที่ปราศรัยของพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อทำโพลล์สำรวจความคิดเห็นในประเด็นการแสดงออกทางการเมือง ณ วันที่ให้สัมภาษณ์ พวกเธอได้เดินสายไปหาพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคพลังประชารัฐ โดยปฏิกิริยาที่ได้รับและสัมผัสได้จากทั้งมวลชนและนักการเมืองก็มีทั้งการสนับสนุน สายตาและคำพูดที่หยามเหยียด ไปจนถึงการที่เพื่อนถูกทำร้ายร่างกาย
ทั้งสองคนกล่าวกับ VOA Thai ว่า ความเป็นไปได้ในการเมืองไทยที่จะเกิดการโกงการเลือกตั้งหรือแม้กระทั่งเกิดรัฐประหารอีกครั้ง ทำให้ไม่กล้าคาดหวังถึงการเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงหลังการเลือกตั้ง กระนั้น แบมยังหวังว่าผู้คนจะไม่ลืมผู้ต้องขังในคดีการเมืองที่ยังรอความยุติธรรม และอยากให้ผู้ต้องคดีในเรือนจำทุกคนเข้าถึงสิทธิการประกันตัว
ตะวันหวังว่าจะมีการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง ท้ายที่สุด เธออยากได้ผู้แทนราษฎรที่คิดถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง
“ก็ต้องจำไว้ว่าก่อนที่คุณจะได้มาเป็น ส.ส. หรือก่อนที่คุณจะได้มาเป็นรัฐบาล ก่อนที่คุณจะได้มาเป็นนายกรัฐมนตรี ช่วงคุณเลือกตั้ง คุณแทบจะกราบเท้าประชาชนอยู่แล้ว จังหวะหาเสียงเลือกตั้งคืออยากให้ทำอะไรก็ยอมทำทุกอย่าง แต่ถ้าสมมติว่าหลังเลือกตั้งแล้วคุณได้เป็นจริงๆ แล้วคุณมากลับคำแบบหน้ามือเป็นหลังตีนอีก ท่าทีมันเปลี่ยนไป มันก็ไม่ใช่เรื่อง เพราะฉะนั้น แค่ฟังเสียงประชาชนให้มากๆ แล้วก็เสมอต้นเสมอปลาย พูดอะไรไว้ก็ทำให้มันได้”
ให้ ‘ความรัก’ เท่าเทียมกัน
เอม ชาโต และปรัชญ์ รุจิวนารมย์ คือคู่รักเกย์-ชาย ที่อยู่กินกันฉันสามีภรรยา ในวันที่คุยกับ VOA Thai ความสัมพันธ์ของพวกเขาดำเนินไปอย่างเปิดเผยเข้าปีที่ 7 ปี ที่หลายคนเชื่อว่าเป็นจุดวัดใจของคู่รัก
ในกรณีของคู่เอม-ปรัชญ์ หัวเลี้ยวหัวต่อเรื่องความรักเวียนมาชนกับหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญทางการเมืองของคู่รัก LGBT พอดิบพอดี
เอม ที่ปัจจุบันทำค้าขายออนไลน์และมัคคุเทศก์ฟรีแลนซ์ บอกกับ VOA Thai ว่าสังคมรอบตัวของเขาและปรัชญ์เปิดรับและเข้าใจความสัมพันธ์ของทั้งสอง ถือเป็นเรื่องโชคดีที่ทำให้ทั้งสองคนไม่ได้เจอการเลือกปฏิบัติหรือการเหยียดเพศ
แต่ไม่ว่าโชคจะดีขนาดไหน ในสายตาของกฎหมาย คู่รัก LGBT ในไทยยังเป็นเสมือนพลเมืองชั้นสอง เพราะสถานภาพ ‘คู่สมรส’ ยังคงถูกสงวนไว้สำหรับคู่รักชาย-หญิง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 (ป.พ.พ. 1448)
การไม่มีสถานภาพคู่สมรสส่งผลให้ทั้งคู่ไม่สามารถทำนิติกรรมคู่กัน ยกตัวอย่างเช่นการกู้เงินร่วมกันเพื่อแบ่งเบาภาระหนี้สิน การเซ็นยินยอมให้รักษาพยาบาลคู่รักของตนแทนกัน รวมถึงการรับอุปการะเลี้ยงดูเด็ก
“มันไม่เหมือนคู่ชายหญิง ซึ่งเรารอให้กฎหมายนี้ผ่าน เพราะเราก็เป็นคนเหมือนกัน เป็นชีวิตหนึ่งเหมือนกันที่ทำงานและจ่ายภาษีให้รัฐบาลเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ก็ได้แต่หวังและรอ ชีวิตคู่เรามันมาขนาดนี้มันไม่ติดอะไรแล้ว เราก็แค่อยากให้มันถูกต้อง เพราะในกรณีที่แฟนเราเกิดอุบัติเหตุ ต้องแอดมิทโรงพยาบาล ต้องผ่าตัดด่วน ทีนี้ถ้าเราเซ็นยินยอมให้ไม่ได้ หมายถึงต้องรอพ่อแม่เขามาเซ็นเหรอ”
สิ่งที่ปรัชญ์และเอมต้องการจากรัฐบาลหน้า คืออยากให้ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมได้รับการสานต่อ เพราะเนื้อหาสามารถสร้างความเท่าเทียมระหว่างคู่สมรสต่างเพศและคู่สมรสเพศเดียวกันตามที่พวกเขาหวังไว้
“คู่ชีวิตมันเหมือน เอาแค่นี้ไป แต่ก็ไม่ได้เท่ากันอยู่ดี เหมือนกับว่า อ่ะ เอากระดูกโยนไป พอใจแล้วนะ” ปรัชญ์ กล่าว
ท้ายที่สุด สำหรับปรัชญ์ สิ่งที่เขาอยากให้ผู้แทนราษฎรสื่อสารในเรื่องความหลากหลายทางเพศ คือเรื่องของการมองคนให้เท่ากัน
“คือเราจ่ายภาษีเท่ากัน เป็นคนเหมือนกัน ทำไมเราโดนปฏิบัติต่างจากคนอื่น อยากให้ทุกคนมองคนเท่ากัน ปฏิบัติต่อคนเท่าๆ กัน….อยากเห็นคนเป็นคนน่ะ ไม่อยากเห็นว่าต้องเอาความชอบ รสนิยมทางเพศมาตัดสินกัน” ปรัชญ์กล่าว
ให้การเมืองเปลี่ยนผ่านอย่างที่ควรจะเป็น-ไม่แตะสถาบันฯ
“นักร้อง” คือสมญานามที่สื่อและประชาชนใช้เรียกศรีสุวรรณ จรรยา เอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมและการเมือง สืบเนื่องจากภาพจำในการเดินทางไปยื่นเรื่องร้องเรียนให้องค์กรอิสระตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่หลายสำนวนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการตรวจสอบ อีกหลายเรื่องร้องเรียนก็สร้างความระคายเคืองให้กับทั้งรัฐและสาธารณชน จนส่งผลให้นักร้องคนนี้เคยทั้งถูกนำตัวเข้าค่ายทหารเพราะเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ตรวจสอบกรณีหมุดราษฎรหายในปี 2560 และถูกมือดีบุกทำร้ายร่างกายต่อหน้าสื่อมวลชนขณะยื่นเรื่องร้องเรียนกรณีการแสดงเดี่ยวไมโครโฟนของอุดม แต้พาณิชย์ ในปี 2565
ศรีสุวรรณกังวลว่าการเลือกตั้งครั้งนี้อาจจะมีการใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อเสียงจำนวนมาก และเขามองว่ากรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังมีการบ้านที่ต้องทำอีกมากในเรื่องการระมัดระวังการทุจริตในระหว่างฤดูกาลเลือกตั้งนี้ เขาไม่ได้คาดหวังอะไรมากกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง หากฝ่ายใดรวมเสียงผู้แทนฯ ได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาล่าง ก็ได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล หากสภาวการณ์เป็นเช่นนั้น เขาเชื่อว่าสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่ถูกเเต่ตั้งจากฝ่ายอำนาจจะฟังเสียงของประชาชนเช่นกัน
แต่สิ่งที่เขากังวลก็คือความพยายามแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายอาญา ม.112 ซึ่งอาจเป็นเงื่อนไขไปสู่ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองอย่างรุนแรง
“อย่าลืมว่าการแก้ ม.112 มันเป็นยิ่งกว่าดาบสองคม มันไม่ใช่ดาบเฉพาะในสภาที่จะต้องถูกคัดค้านโดยฝ่ายค้าน แต่คุณจะต้องไปเจอวุฒิสมาชิกอีก ซึ่งก็แน่นอน ส่วนใหญ่จะต้องเป็นอนุรักษ์นิยมอยู่แล้ว และสมมติว่าถ้ามันผ่านวุฒิสมาชิกไปได้ การชุมนุมประท้วงของฝ่ายต่อต้านก็อาจจะเกิดขึ้น เหมือนสมัยเสื้อเหลืองของสนธิก็อาจเป็นไปได้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งผู้มีอำนาจเขาไม่อยากไปแตะเรื่องเหล่านี้ที่จะก่อให้เกิดกระแสการประท้วงซึ่งจะทำให้อายุรัฐบาลสั้นลง”
“ถ้ามีความขัดแย้งขึ้นมา แน่นอนครับ ประตูรัฐประหารก็จะแง้มขึ้น และมันจะกว้างขึ้น กว้างขึ้น ถ้าความขัดแย้งนั้นมันไม่จบโดยเร็ว ถ้ามันยืดเยื้อ ประตูรัฐประหารก็จะกว้างขึ้น” ศรีสุวรรณกล่าว
สำหรับศรีสุวรรณ ผู้แทนราษฎรที่เขาอยากได้ ไม่ใช่คนที่จ้องแต่จะเป็นรัฐบาลอย่างเดียว แต่ต้องทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติด้วย เพื่อแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัยให้ทันพลวัตโลก
“ถ้า ส.ส. เมื่อถูกเลือกตั้งไปแล้ว ไปตั้งหน้าตั้งตาในการพัฒนากฎหมาย ดูแลปรับปรุงกฎหมาย ออกกฎหมายโดยไม่มามุ่งเน้นในเรื่องการช่วงชิงอำนาจกันเสียเพียงอย่างเดียว คือต้องยอมรับความจริงว่าตัวเองเข้าไปแล้ว เสียงไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แล้วตัวเองต้องเป็นฝ่ายค้าน ก็ต้องทำหน้าที่ในฝ่ายค้าน ไม่ใช่ว่าจะจ้องอยากเป็นรัฐบาล ไม่เป็นฝ่ายค้านเสียเพียงอย่างเดียว”
- รายงานโดย เยี่ยมยุทธ สุทธิฉายา VOA Thai