เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย ได้เดินทางมายังกรุงวอชิงตัน เพื่อพบปะกับเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ และคณะทำงานของรัฐสภา เพื่อขอให้รัฐบาลสหรัฐฯ จับตาดูกลไกการเลือกตั้งของไทย
ศิริกาญจน์ เจริญศิริ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการบริหาร โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ (iLaw) เป็นหนึ่งในกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิและเสรีภาพ ที่เดินทางมากรุงวอชิงตัน และได้พบปะกับเจ้าหน้าที่อาวุโสแห่งกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ สมาชิกคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศสภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมาธิการด้านวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐฯ
ทั้งคู่ได้ถ่ายทอดความกังวลเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 พ.ค. นี้ ว่าอาจจะไม่ใช่การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม เพราะระบบการเมือง ระบบกฎหมาย และองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ยังอยู่ภายใต้กลไกที่เอื้อต่อการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ในขณะที่ประชาชนไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี
“การเลือกตั้งที่จะถึงนี่มันดำเนินไปภายใต้โครงสร้างกฎหมาย และกระบวนการที่มันบกพร่องมาก ๆ ตั้งแต่หลังรัฐประหารแล้ว ก่อนการเลือกตั้ง จึงอยากให้มีการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยมีความตั้งใจที่จะทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปอย่างสุจริต โปร่งใส และเป็นธรรมมากที่สุด ซี่งสามารถทำได้ด้วยการยุติบรรยากาศที่มีการปิดปาก การดำเนินคดีกับประชาชนในประเทศ” ศิริกาญจน์ หรือที่รู้จักกันในนาม “ทนายจูน” กล่าวกับวีโอเอไทย
“อีกข้อหนึ่งที่เราอยากจะให้สหรัฐฯ ใช้ความสัมพันธ์ทางการเมือง และทางการทูตที่มีอยู่ ให้ส่งสัญญาณล่วงหน้าไปถึงกองทัพ แล้วก็กลุ่มคนที่มีอำนาจด้านความมั่นคงต่าง ๆ ว่าจะต้องไม่แทรกแซงกระบวนการการเลือกตั้งในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น ก่อน ระหว่าง หรือหลังการเลือกตั้ง แล้วเราขอให้ครั้งนี้มีการแสดงออกที่ทันทีมากขึ้น แล้วก็ยืนยันหลักการมากขึ้นว่า ถ้ามีการรัฐประหารอีก หรือว่าการใช้อำนาจพิเศษใด ๆ มาตัดตอนกระบวนการเลือกตั้ง มันจะเกิดผลอะไรบ้างกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐฯ”
การเลือกตั้งทั่วไป ภายใต้เงา คสช.
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์มองว่า กลไกและกติกาในการจัดการเลือกตั้งมีสิ่งที่เขามองว่าเป็น “ความไม่ปกติ” อยู่มาก เช่น การที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ชุดปัจจุบันทั้ง 7 คน ได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมาจากการแต่งตั้งจาก คสช. อีกทีหนึ่ง
หรือการที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ร่างขึ้นภายใต้การปกครองของ คสช. ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ทั้งหมด มีอำนาจกำกับดูแลให้รัฐบาลชุดใหม่ต้องทำตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ คสช. จัดทำขึ้น และยังให้ ส.ว.ทั้ง 250 คนร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้เช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นอำนาจ หรือกติกาพิเศษ ที่จะชี้ขาดว่าใครจะได้เป็นผู้นำของประเทศ
“ถ้าหากว่าดูจากภาพนอก สมมติว่าดูจากอเมริกา บางทีก็เข้าใจว่าคนก็อาจจะไม่ได้เข้าใจทั้งหมดในรายละเอียด ดังนั้นหลายเรื่องมันก็ต้องมาอธิบาย ซึ่งก็ต้องอธิบายทั้งกับคนไทยที่อยู่ที่นี่ด้วย แล้วก็อธิบายกับคนที่นี่ที่เขาสนใจบ้านเมืองไทย” ยิ่งชีพกล่าว
“เราก็กลัวว่ากลไกต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญมันจะทำงานสวนทางกับสิ่งที่ประชาชนโหวตออกมา...ถ้าเสียงโหวตออกมาแบบหนึ่ง แล้วตอนตั้งรัฐบาลมันกลายเป็นอีกแบบหนึ่ง มันก็จะนำไปสู่ระลอกใหม่ของความขัดแย้ง”
วีโอเอไทยได้ติดต่อไปยังทีมโฆษกรัฐบาลเพื่อสอบถามเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว และข้อเรียกร้องของกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนไทยต่อสหรัฐฯ ครั้งนี้ แต่ยังไม่ได้รับคำตอบหรือการติดต่อกลับ
จับตาโอกาสเกิดรัฐประหาร - ส.ว.สหรัฐฯ เรียกร้องนับคะแนนโปร่งใส
นอกจากนี้ การที่เกิดรัฐประหารที่สำเร็จในไทยถึง 13 ครั้งในช่วง 90 ปีที่ผ่านมา และวงจรของการพยายามสืบอำนาจของผู้ก่อรัฐประหาร ทำให้ยิ่งชีพมองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความไม่มั่นใจให้กับคนในประเทศ
“คือพอคนมันจำวงจรนี้ได้ มันก็จะรู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่า ถ้าฝ่ายทหารแพ้ เขาจะรัฐประหารไหม? ดังนั้นอำนาจต่อรองในทางการเมืองของบ้านเรามันไม่เคยเท่าเทียมกัน มันไม่ได้ต่อรองกันว่าใครที่ประชาชนเลือกเยอะ ใครที่มีเก้าอี้นั่งในสภาเยอะ แต่มันต่อรองโดยมันรู้สึกว่า ฝ่ายทหารมีอำนาจพิเศษในมืออยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ทุกอย่างมันไม่ได้เดินไปตามหลักคณิตศาสตร์ตามปกติ ที่ 251 ต้องมากกว่า 200” ยิ่งชีพ หรือ "เป๋า" กล่าว
ไม่นานมานี้ ผู้สื่อข่าวไทยได้เคยถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประวิทย์ วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดการรัฐประหารหลังเลือกตั้ง ซึ่งทั้งคู่กล่าวว่าจะไม่มีการยึดอำนาจโดยทหารเกิดขึ้น หากบ้านเมืองเป็นหนึ่งเดียวและไม่เกิดความขัดแย้ง
การมาเยือนของกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนครั้งนี้ เกิดขึ้นในสัปดาห์เดียวกับที่วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ได้ออกมาเรียกร้องให้ รัฐบาลไทย “สร้างเงื่อนไขสำหรับการเลือกตั้งให้น่าเชื่อถือและยุติธรรม” และ “ให้แน่ใจว่าการนับคะแนนเสียงจะเป็นไปอย่างยุติธรรมและโปร่งใส”
โดยเมื่อวันที่ 20 มี.ค. ส.ว.เอ็ดเวิร์ด มาร์คีย์ (Edward Markey) จากรัฐแมสซาชูเซตส์ และ ส.ว.ริชาร์ด เดอร์บิน (Richard Durbin) จากรัฐอิลลินอยส์ ออกแถลงการณ์ว่า “ประชาชนไทยสมควรมีการเลือกตั้งที่ยุติธรรมและโปร่งใส”
และยังกล่าวว่า “สหรัฐอเมริกาต้องสนับสนุนสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย เพื่อให้อำนาจทางการเมืองกลับมาอยู่ในมือของประชาชนชาวไทย ไม่ใช่ผู้นำทหาร”
วีโอเอไทยได้สอบถามไปยังกระทรวงการต่างประเทศ ว่าสหรัฐฯ หรือประเทศอื่น ๆ ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการเลือกตั้งของไทยบ้างหรือไม่ นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวผ่านข้อความว่า ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งตามกรอบรัฐธรรมนูญไทย และทราบมาว่าทาง กกต.จะจัดบรรยายสรุปให้คณะทูตและสื่อมวลชนต่างประเทศต่อไป
“ในการหารือกับฝ่ายต่างๆ เราก็แจ้งกรอบเวลาการดำเนินงาน ขั้นตอนต่างๆ ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด ในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศ ก็เล่าให้ฟังถึงการดำเนินการเตรียมการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร โดยประสานงานใกล้ชิดกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง” นางกาญจนากล่าวผ่านข้อความ
เด็ก-เยาวชนถูกดำเนินคดีมากขึ้น
ศิริกาญจน์ ผู้ได้รับรางวัล “ผู้หญิงกล้าหาสากล” หรือ International Women of Courage Award จากกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เมื่อ 5 ปีก่อน กล่าวว่าการละเมิดสิทธิโดยรัฐในไทย เกิดขึ้นมาตลอด ไม่ได้เพิ่งมาเกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร 2557 ภายใต้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น
“การละเมิดสิทธิโดยรัฐมันเกิดอยู่เสมอ แต่จะเกิดมากเกิดน้อย เกิดเยอะเกิดใหญ่ เกิดเป็นระบบ มันดูที่ระบบกฎหมาย ระบบการถ่วงดุล ตรวจสอบ ระบบที่เอาคนผิดที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือมีความเกี่ยวข้องกับรัฐมาลงโทษ ซึ่งเราก็เห็นชัดว่า ประเทศเรามันมีปัญหาในเรื่องของพื้นฐานเรื่องพวกนี้อยู่เยอะมาก ตั้งแต่สูงสุด รัฐธรรมนูญ ลงมาถึงคนบังคับใช้กฎหมาย”
อย่างไรก็ตาม ทนายจูนแสดงความกังวลว่า ตั้งแต่ปี 2563 มีการดำเนินคดีประชาชนที่แสดงออกหรือชุมนุมทางการเมืองกว่า 1,800 คน ฐานฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พรก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำมาใช้เป็นเวลา 2 ปีครึ่ง โดยเป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปีเกือบ 300 คน ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นเยาวชนที่ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และถูกดำเนินคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ประมาณ 230 คน โดยคนที่มีอายุน้อยที่สุดคือ 14 ปี
นี่เป็นประเด็นที่เธอได้เน้นย้ำกับพันธมิตรเก่าแก่ของไทย และกล่าวว่าการเลือกตั้ง 14 พ.ค. มีอนาคตของเยาวชนคนรุ่นใหม่เป็นเดิมพัน
“คือจะมีประชาชนคนรุ่นใหม่เดินเข้าคุกอีกเยอะนะ ถ้าเกิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ หรือว่าเจตจำนงในการที่จะผลักดัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือว่าการเสนอแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ที่มันละเมิดสิทธิไม่สามารถไปต่อได้ เราจะมีคนรุ่นใหม่เข้าคุก เพราะว่าคดี 112 คดี พรก.ฉุกเฉิน ทั้งหมดยังดำเนินอยู่ในศาลทุกวัน”
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อต้นสัปดาห์ว่า ที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ การบังคับใช้กฎหมายไม่ได้รุนแรงอย่างที่หลายคนพูด รัฐบาลมีการระมัดระวังผ่อนผัน ป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน นอกจากนั้นการบริหารประเทศของตนยังได้ช่วยทำให้ความขัดแย้งของคนในประเทศลดความรุนแรงลงอีกด้วย
ทิศทางสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยหลังเลือกตั้ง
ในการจัดอันดับ Democracy Index หรือดัชนีประชาธิปไตยปี 2565 ของ Economist Intelligence Unit (EIU) ไทยเป็นประเทศที่ได้คะแนนเพิ่มขึ้นมากที่สุดในการพัฒนาประชาธิปไตย โดยเพิ่มจาก 6.04 เป็น 6.67 คะแนน ทำให้ไทยเลื่อนขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 55 จากทั้งหมด 167 ประเทศ เมื่อเทียบกับอันดับที่ 72 ในปี 2564
EIU กล่าวในรายงานว่า คะแนนที่เพิ่มขึ้นของไทยเกิดจากการเปิดพื้นที่ให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลมากขึ้น และมีภัยของการก่อความไม่สงบน้อยลง แต่ไทยยังถูกจัดเป็น flawed democracy หรือ "ประเทศที่ประชาธิปไตยมีตำหนิ" และเป็นประเทศที่มีกระบวนการทางประชาธิปไตยที่บอบบางและชั่วครั้งชั่วคราว EIU มองว่า “รัฐบาลยังคงมีอำนาจในด้านความมั่นคงและระบบตุลาการ” และยังมีข้อได้เปรียบจากกฎหมายรัฐธรรมนูญในการเลือกตั้งอีกด้วย
นักเคลื่อนไหวไทยมองว่า การพัฒนาส่งเสริมสถานการณ์สิทธิ เสรีภาพในการแสดงออกในไทยนั้น ยังต้องเดินไปบนเส้นทางอีกยาวไกล
“การพัฒนาเรื่องสิทธิมนุษยชน คิดว่ามันเหมือนกระบวนการพัฒนาด้านประชาธิปไตยนั่นแหละค่ะ การเลือกตั้งครั้งสองครั้งมันไม่ได้พลิกทุกอย่างจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ทันที มันเป็นกระบวนการจริง ๆ แต่ว่าเราต้องการให้กระบวนการมันดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงคิดว่ากระบวนการประชาธิปไตยที่มันสามารถอนุญาตให้ประชาชนส่วนใหญ่มีสิทธิ์มีเสียง แล้วก็สามารถเข้ามาร่วมได้ เป็นสิ่งที่เราจะต้องปกป้องและส่งเสริม มากกว่าที่จะไปส่งเสริมระบอบที่มีคนอยู่ไม่กี่คนที่จะมีอำนาจในการควบคุม” ศิริกาญจน์กล่าว
ยิ่งชีพหวังว่าหลังการเลือกตั้ง จะได้เห็นการลดลงของจำนวนคดีที่คั่งค้างอยู่ ที่เป็นการเอาผิดกับประชาชนที่ออกมาเสนอความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งเป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
“ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน คุณค่าของมันบางทีก็จับต้องไม่ได้ มันไม่สำคัญว่ารัฐธรรมนูญจะรับรองไหม กฎหมายมันเขียนว่าอะไร แต่มันสำคัญว่าคนมันรู้สึกถึงสิ่งนี้หรือเปล่า มันเป็นเรื่องบรรยากาศ เป็นเรื่องที่เป็นนามธรรม จับต้องไม่ได้ ซึ่งสิ่งนี้ ไม่สามารถเกิดลำพังได้จากการแก้ไขกฎหมายให้สำเร็จมาตราใดมาตราหนึ่ง หรือฉบับใดฉบับหนึ่ง แต่เป็นสิ่งที่ค่อยสร้างกัน” เขากล่าว
“เรื่องที่เราพยายามสื่อสาร เรื่องที่เราพยายามบอกโลก จริง ๆ เราพยายามบอกคนไทยตลอดเวลา เป้าหมายหลักของเราไม่ได้มาอเมริกาเพื่อจะบอกว่าอเมริกาเป็นเจ้าโลก และอเมริกาจะกลับไปสั่งประเทศไทยให้ทำตาม แล้วประเทศไทยต้องทำตามอเมริกา ไม่ใช่ แต่ (สิทธิมนุษยชน) เป็นเรื่องที่ต้องทำไปพร้อมกัน...เราต้องเข้าใจด้วยว่า มันกำลังเกิดอะไรขึ้นกับโลก โลกก็ต้องเข้าใจด้วยว่ามันกำลังเกิดอะไรขึ้นกับเรา”