เปิดใจบุคลากรการแพทย์ชาวไทยในแผนกผู้ป่วยโควิด-19 ที่รัฐแมรีแลนด์

นีรนันท์ ธรรมศิริ ผู้ช่วยแพทย์ผ่าตัด และ สิรภพ ไชยพันธุ์ ผู้ช่วยพยาบาลชาวไทย สวมชุดป้องกันในแผนกผู้ป่วยโควิด-19 ในศูนย์การแพทย์ที่ มอนต์กอเมอรี (Montgomery) ในรัฐแมรีแลนด์

เปิดใจภารกิจสุดเสี่ยงของสองบุคลากรทางการแพทย์ชาวไทย ที่ทำงานในแผนกดูแลผู้ป่วยโควิด-19 อย่างน้อยวันละ 12 ชั่วโมงที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่รัฐแมรีแลนด์

Your browser doesn’t support HTML5

Thai Covid Nurses

“คือตอนนี้ทุกอย่างเขาก็เปลี่ยน คือเขารวมคนไข้หมดแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะเปลี่ยนเป็น Covid19 Unit (แผนกผู้ป่วยโควิด-19) กันหมด ส่วน Regular Unit หรือแผนกผู้ป่วยธรรมดา ก็จะเป็นส่วนที่คนไข้ไม่ได้ติดเชื้อ”

สิรภพ ไชยพันธุ์ ผู้ช่วยพยาบาลชาวไทย ที่ทำงานในแผนกดูแลผู้ป่วย ในศูนย์การแพทย์แห่งหนึ่งของเขต มอนต์กอเมอรี (Montgomery) ในรัฐแมรีแลนด์ ไม่ไกลจากกรุงวอชิงตัน ให้สัมภาษณ์กับ “วีโอเอ ภาคภาษาไทย” ถึงแนวทางการปรับเปลี่ยนและการระดมบุคลากรทางแพทย์ ของโรงพยาบาลที่จัดตั้งแผนกรับมือผู้ป่วยโควิด19 เพื่อรับมือกับการระบาดโดยเฉพาะ

สิรภพ ไชยพันธุ์ ผู้ช่วยพยาบาลชาวไทย ขณะทำงานในแผนกผู้ป่วยโควิด-19 ในศูนย์การแพทย์ที่ มอนต์กอเมอรี (Montgomery) ในรัฐแมรีแลนด์

ยกเลิกเคสผ่าตัดไม่จำเป็น เพื่อรับมือ โควิด-19

นีรนันท์ ธรรมศิริ ผู้ช่วยแพทย์ผ่าตัดชาวไทยในโรงพยาบาลเดียวกัน ซึ่งปกติจะมีหน้าที่รับผิดชอบในแผนกผ่าตัด แต่ตอนนี้ต้องปรับเปลี่ยนหน้าที่มาช่วยงานใน แผนกผู้ป่วยโควิด-19 เป็นการชั่วคราว โดยทำงานในแผนกเดียวกันกับ 'สิรภพ' เพื่อรับมือกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

“ที่ห้องผ่าตัดตอนนี้ ต้องยกเลิกเคสผ่าตัดทุกเคสที่ไม่จำเป็น แต่ทางโรงพยาบาลเราเป็นศูนย์อุบัติเหตุ (Trauma Center) ก็คือถ้ามีเคสอุบัติเหตุเรารับคนไข้ตลอดทุกเคส(กรณี) แต่ถ้าเป็นเคสผ่าตัดปกติที่ไม่จำเป็นก็จะยกเลิกทั้งหมด เพราะว่าต้องเก็บพวกอุปกรณ์ หรือยา ซัพพลาย (เวชภัณฑ์) ต่างๆ ให้กลุ่มที่เขาต้องการ ก็คือกลุ่มที่อยู่ที่แผนกโควิด” นิรนันท์ บอกกับวีโอเอ

" สมมุติว่าทุกครั้งที่ผ่าตัด ก็จะมีการใช้หน้ากาก มีการใช้ชุดป้องกัน เพราะฉะนั้นการผ่าตัดที่เรียกว่า Electric Surgery ก็จะยกเลิกหมด เพราะเป็นการผ่าตัดที่ไม่จำเป็น"

ทั้งสิรภพและนิชานันท์​ มีหน้าที่หลักในการดูแลผู้ป่วยในแผนกผู้ติดเชื้อโควิด-19 ร่วมกับเจ้าหน้าที่และทีมบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ดังนั้นการสัมผัสและติดต่อกับผู้ป่วยโดยตรงจึงเป็นเรื่องที่ต้องเผชิญทุกวัน

ดูแลผู้ป่วยในแผนกโควิด19 ชุดป้องกันสำคัญที่สุด

“ตอนนี้คือทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยพยาบาล ที่โรงพยาบาลก็คือช่วยเกี่ยวกับแบบรายวัน คือช่วยแบบว่าช่วยพลิกตัวคนไข้ ทำความสะอาดคนไข้ ดูแลคนไข้แบบนั้น คือช่วยพยาบาล ปกติคือเขาจะให้พยาบาลทำเกือบทุกอย่าง แต่เราจะคอยสนับสนุนเขา แต่ว่าถ้าต้องการการช่วยเหลือ เราก็จะเข้าไป เพราะว่าต้องการเก็บชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal protective equipment - PPE) หน้ากากต่างๆ ไว้ใช้ได้นานขึ้น หรือสมมุติว่าหากเรามีคนไข้เรียกแล้วเราเข้าไปในแผนกใส่ชุดป้องกันไปแล้ว ก็จะออกมาเลยไม่ได้ เพราะในเมื่อเข้าไปแล้ว เราก็ต้องทำทุกอย่างให้เสร็จ ไม่ต้องออกมาเปลี่ยนชุดป้องกันแล้วกลับเข้าไปอีก (ชุดที่ต้องใช้แล้วทิ้ง) จะได้ไม่ต้องเปลี่ยนหลายรอบใช้หลายรอบ" สิรภพ บอกถึงการทำงานในแผนกผู้ป่วยโควิด19 ที่ต้องรัดกุมเป็นพิเศษ

ชีวิตที่เปลี่ยนไป เมื่อต้องอยู่ใกล้ 'โควิด' วันละ 12 ชั่วโมง

ภารกิจที่ต้องบนความเสี่ยงที่ต้องดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19อย่างใกล้ชิด อย่างน้อย 12 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้ทั้งคู่ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการปฏิบัติงานและจำกัดการใช้ชีวิตส่วนตัว เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่รับเชื้อจากผู้ป่วยเข้าสู่ร่างกาย ขณะเดียวกันก็ไม่เป็นผู้ที่นำเชื้อโรคแพร่กระจายออกไปเช่นกัน

“ คือเวลาทำงานแต่ละช่วงที่โรงพยาบาลนี้ ก็คือ 12 ชั่วโมง ตั้งแต่ 7.00 น. ถึง 19.00 น. หรือไม่ก็กลางคืนตั้งแต่ 19.00 น. – 7.00 น. คือตอนนี้เราก็ทำในช่วงกลางคืน คือวันละ 12 ชั่วโมง ที่เราต้องอยู่ในโซนนี้ แต่ที่มันหนักกว่าสภาวะปกติ คือเราต้องมีอุปกรณ์ป้องกันตลอดเวลา เลยยากที่จะทำอะไรหลายๆอย่าง" สิรภพ กล่าว และ บอกเพิ่มเติมถึงการระมัดระวังการติดเชื้อ

"ตอนแรกๆ ก่อนจะเข้ามารับสถานการณ์นี้ เราก็ต้องทำใจเยอะหน่อย เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่คือพอทำมาสักพักก็เริ่มชิน แต่คือเราก็ป้องกันตัวเอง ล้างมือ กลับบ้านเอาชุดมาเปลี่ยน อาบน้ำ พยายามเอาของเข้าบ้านให้น้อยที่สุด คือถึงบ้านก็ต้องเอาของทุกอย่างเข้าเครื่องซักผ้า ซักเลย" สิรภพ บอกกับวีโอเอ ไทย

นีรนันท์ ธรรมศิริ ผู้ช่วยแพทย์ผ่าตัด ขณะทำงานในแผนกผู้ป่วยโควิด-19 ในศูนย์การแพทย์ที่ มอนต์กอเมอรี (Montgomery) ในรัฐแมรีแลนด์

งดไปตลาด ไม่พบปะผู้คนเพื่อความปลอดภัย

ด้านนีรนันท์ ผู้ช่วยแพทย์ในห้องผ่าตัดที่ต้องมาทำหน้าที่ในแผนกโควิด บอกว่า เพราะความไม่แน่ใจจึงต้องระวังตัวเองและจำกัดการพบปะกับคนอืื่น

"ขนาดจะไปตลาดเราก็คิดหนักเลยนะ ว่าจะไปดีไหม เพราะถึงเราจะล้างมือ หรือ ใส่ถุงมือ อะไรก็ตาม แต่เราก็ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ก็เลยคิดว่าไม่ไปไหนดีกว่า เป็นการป้องกันอย่างหนึ่ง เพราะว่าเราอยู่ที่นี่ อยู่ในโควิดยูนิท ทุกวัน เราก็ไม่แน่ใจ แม้จะเจอกับเพื่อนร่วมงานยังไม่อยากจะกอดทักทายกันตามปกติเลย"

ขณะที่ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลโคโรนาไวรัส ของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ พบว่า สถานการณ์การระบาดในรัฐแมรีแลนด์ยังคงพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นราว 800 คนต่อวัน ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมอยู่ที่ 33,000 คน รักษาหายจนออกจากโรงพยาบาลแล้ว ราว 2,200 ราย มีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลประมาณ 1,500 คน ส่วนยอดผู้เสียชีวิต ที่ 1,500 คน แล้วเฉพาะในรัฐแมรีแลนด์