ในวันแรกที่ Spoon Eastside ร้านอาหารไทยในเมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย กลับมาเปิดให้บริการ หลังจากที่ปิดประตูร้านไปสองสัปดาห์ท่ามกลางการระบาดหนักของโควิด-19 ลูกค้าคนหนึ่งเขียนข้อความสั้น ๆ ลงบนใบเสร็จรับเงินว่า “hang in there” หรือ “อดทนไว้นะ” พร้อมกับให้ทิปที่มีมูลค่ามากกว่าราคาอาหารเกือบสองเท่า
"ลูกค้าแฮปปี้มาก เขียนเข้ามาในใบเสร็จว่าขอบคุณมากที่กลับมาเปิด ลูกค้าแต่ละคนที่มา ทำให้เรารู้สึกดีมากว่า เขาเห็นว่าเราเป็นเหมือนครอบครัว เขาก็ห่วงเรา เขาก็ยังอยากจะ support (สนับสนุน) เราอยู่ ก็รู้สึกดี"
สุจารี ฮิววิตต์ หุ้นส่วนของ Spoon Eastside เล่าว่าจอร์เจียได้เริ่มผ่อนปรนมาตรการล็อคดาวน์ อนุญาตให้ธุรกิจบางประเภทเปิดทำการอีกครั้ง ลูกค้าสามารถรับประทานอาหารในร้านได้ ภายใต้เงื่อนไขใหม่ของการรักษาระยะห่างทางสังคม แต่ร้านอาหารไทยขนาด 85 ที่นั่งของเธอ ยังจำกัดการให้บริการเป็นแบบ take out หรือสั่งซื้ออาหารกลับบ้านเท่านั้น และเข้มงวดเรื่องความสะอาดและสุขอนามัยมากขึ้น
"ร้านอาหารเปิดแค่ take out อย่างเดียว น่าจะพอก่อนช่วงนี้ ยังไม่ควรให้ลูกค้าเข้ามาเสี่ยง หรือพนักงานเราเสี่ยงมากขึ้น...พนักงานทุกคนใส่หน้ากาก พยายามให้ห่างกันหกฟุต ทุกคนเช็คอุณหภูมิตอนก่อนเข้างานทุกครั้ง ยังไม่เคยมีใครเป็นไข้ แต่คิดว่าถ้ามีใครเป็นไข้ก็คงต้องให้กลับบ้าน ตอนนี้ปิดหน้าร้าน ให้ลูกค้าเข้าได้แค่ครั้งละหนึ่งคน"
อเมริกากำลัง "เปิดประเทศ" เร็วเกินไปหรือไม่?
สุจารี ผู้มีประสบการณ์ทำร้านอาหารกว่า 10 ปีในจอร์เจีย มองว่านี่เป็นเพียงก้าวแรกบนเส้นทางที่ยากจะคาดเดา ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่บอบช้ำ พร้อมกับคำถามและความกังวลว่ารัฐเหล่านี้ “เปิดเมือง” เร็วเกินไปหรือไม่ ในเมื่อยอดผู้ป่วยโควิด-19 ยังไม่ลดลงเท่าที่ควร
"ก็ดีใจที่รัฐพยายามให้ business กลับมา หรือว่ากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ตัวพี่เองคิดว่าไม่พร้อม และจริง ๆ ก็เร็วเกินไปที่จะเปิดเมือง อยากจะให้จำนวนคนติดน้อยกว่านี้ เรทต่ำกว่านี้ ถึงจะมาเปิด"
รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกมาตรการ Paycheck Protection Program หรือ PPP ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก และสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการยังคงจ้างพนักงานต่อไป
ร้าน Spoon Eastside ที่เปิดมาได้ 11 ปี ได้รับเงิน “กู้” ภายใต้โครงการ PPP ประมาณ 150,000 ดอลล่าร์ หรือประมาณ 4,800,000 บาท เงินกู้ก้อนนี้ จะกลายเป็นเงินให้เปล่า หากร้านนำไปใช้จ่ายเงินเดือนพนักงาน ชำระค่าสาธารณูปโภค และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์
สุจารีมองว่าเงินก้อนนี้มีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระของร้าน แต่เธอเองก็อดกังวลไม่ได้หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ในอีกหลายเดือนข้างหน้า
"เรายังไม่รู้ว่าเรายังปิดแบบนี้ได้นานแค่ไหน ค่าเช่าทางพี่ไม่ได้เลย ทาง landlord (ผู้ให้เช่า) ไม่ได้ลดให้เลย ก็ยังต้องจ่ายเต็มอยู่ ถ้าถามตอนนี้เราก็ยังอยู่ได้ซักพัก แต่มองไปอนาคตถ้าต้องถึงสิงหาคม ก็ลำบาก ที่จะต้องจ่ายพนักงาน อาจจะต้องมีการให้บางคนออก พี่ก็ไม่อยากทำเพราะว่าเราอยู่กันมานาน แล้วก็เป็นพนักงานที่เหมือน family (ครอบครัว) เราก็ดูแลเขา เขาก็ดูแลเรา ถ้ามาถึงตอนลำบากเราให้เขาออก ตอนนี้เขาคงจะไปหางานลำบากหมือนกัน"
พร้อมเปลี่ยน: บทเรียนการเอาตัวรอดของธุรกิจขนาดเล็ก
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ใหม่ที่ต้องเผชิญ ไม่ได้ทำให้สุจารีและหุ้นส่วนท้อถอย หรือนั่งรอคอยความช่วยเหลือจากรัฐเพียงอย่างเดียว เธอมองเห็นโอกาสที่ร้านจะกลับมาทำยอดขายได้ดีอีกครั้ง หากปรับรูปแบบและเมนูอาหารให้เข้ากับการสั่งกลับบ้านมากขึ้น
“ตอนนี้คือต้องเตรียมเรื่อง pack (การบรรจุห่อ) ให้ดี อาจจะมีเมนูบางอย่างที่ ทำยังไงให้ take out ลูกค้าเอากลับไปแล้วยังอร่อยเหมือนเดิม เมนูอะไรที่เอากลับไปแล้วไม่อร่อยเราก็ไม่ขาย”
หลังจากที่นายกเทศมนตรีเมืองแอตแลนตาลงนามในคำสั่งชั่วคราว อนุญาตให้ผู้บริโภคซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากร้านอาหารไปดื่มที่บ้านได้ ณพล สุธีลักษณาพร น้องชายของสุจารีและผู้จัดการบาร์ของร้าน จึงใช้โอกาสนี้เปลี่ยนรูปแบบการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากการขายเป็นแก้วมาเป็นขวด และลงมือทำวีดีโอสอนการผสมเครื่องดื่มค็อกเทล เพื่อให้ลูกค้าสามารถทำเองได้ที่บ้าน
"ผมเริ่มทำวีดีโอว่าให้เขาดูว่าเวลาทำเหล้าที่บ้านง่าย ๆ ทุกคนอยู่ปลอดภัย ทำยังไง เราออกไปหาส่วนผสมไม่ยากอยู่แล้วครับ แค่ว่ามันต้องใส่อะไรเท่าไหร่ ก็เหมือนทำ cooking show แต่ว่าเป็นเหล้า"
ถึงแม้ว่าการปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงจะเป็นหัวใจสำคัญของการเอาตัวรอดของธุรกิจขนาดเล็ก แต่สุจารีทิ้งท้ายว่า ธุรกิจจะดำเนินไปอย่างยั่งยืนไม่ได้ หากไม่ใส่ใจสุขภาพ
"ถ้าไม่ป่วยแล้ว ทุกอย่างก็กลับมาได้ เงินกลับมาได้ ยอดขายกลับมาได้ ก็พยายามให้พนักงาน ลูกค้าของเรา และตัวเราอย่าป่วย ดูแลตัวเองให้ดีที่สุด"
ในขณะที่หลายรัฐในอเมริกาหันมา “เปิดเมือง” สวนกระแสคำเตือนของผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข สุจารี ฮิววิตต์มองว่าการรักษาสมดุลระหว่างธุรกิจ สุขภาพ และความปลอดภัยของสังคม จะยังเป็นความท้าทายอันยิ่งใหญ่ ตราบใดที่การระบาดของโควิด-19 ยังไม่หมดไปจากประเทศ