Your browser doesn’t support HTML5
‘ไมโครพลาสติก’ (Microplastics) เป็นเศษพลาสติกขนาดจิ๋วที่มาจากถุงพลาสติก บรรจุภัณฑ์พลาสติกอาหารปรุงสำเร็จ เเละหลอดดูดพลาสติก ซึ่งขยะพลาสติกเหล่านี้เเยกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แต่ไม่ย่อยสลายและพบในทะเลและมหาสมุทรทั่วโลก
ทีมนักวิจัยที่ศึกษาปัญหาขยะพลาสติกในทะเลเปิดเผยว่า พบ ‘ไมโครพลาสติก’ ใน 3 ใน 4 ของปลาทะเลชนิดต่างๆ รวมทั้ง ปลาหมึก และปลากระโทงดาบ ที่ขายในตลาดทั่วโลก
อะลีน่า ไวซ์โซเรค หัวหน้าทีมนักวิจัยที่ร่างรายงานผลการศึกษาชื่อ Frontiers study กล่าวว่า ปลาเหล่านี้อาศัยในจุดที่ลึกมากของทะเลเเละมหาสมุทร เเละโดยทางทฤษฎีเเล้วไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ อย่าง ‘ไมโครพลาสติก’
อย่างไรก็ตาม ปลาเหล่านี้จะว่ายขึ้นมาบริเวณผิวหน้าทะเลเป็นประจำ ทางทีมงานคาดว่าปลาเหล่านี้ได้กิน ‘ไมโครพลาสติก’ เข้าไปขณะขึ้นมาหากินบนผิวหน้าทะเล
ผู้บริโภคในปัจจุบันกำลังได้รับมลพิษเข้าไปในร่างกายผ่านทางห่วงโซ่อาหาร เเละบรรดานักวิทยาศาสตร์กำลังร่วมมือกับผู้บริโภคในการสร้างความตื่นตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้และปัญหาอื่นๆ เช่น การประมงเกินพอดี
เมื่อเร็วๆ นี้ มีคนหลายพันคนเดินชุมนุมในสหรัฐฯ เเละในอีก 25ชาติทั่วโลกเพื่อรำลึกวันมหาสมุทรโลก หรือ World Oceans Day
ไบรอัน ยูราสิทส์ ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาเเห่งหน่วยงานไม่หวังผลกำไร TerraMar Project ซึ่งให้การศึกษาและสร้างความตื่นตัวเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับทะเล เขาสวมชุดปลาฉลามมาร่วมในงานเดินขบวนร่วมกับประชาชนอีกราว 3,000 คน ที่อนุสาวรีย์วอชิงตัน
ยูราสิทส์ถือป้ายที่เขียนว่า "ปลาฉลามเป็นเพื่อน ไม่ใช่อาหาร" เขาย้ำว่าปัญหาที่ทำลายความอุดมสมบูรณ์ของทะเลมีมากมายหลายประเด็น นอกจากปัญหาพลาสติก ไม่ว่าจะเป็นการประมงเกินพอดี การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศโลก สัตว์ทะเลต่างถิ่นที่รุกรานสัตว์ทะเลท้องถิ่น เเละการสูญเสียแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเล
Sea Youth Rise Up เป็นหน่วยงานที่นำโดยเยาวชนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ทะเลเเละเพื่อลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวเเล้วทิ้ง อาทิ หลอดดูด ขวดน้ำ เเละถุงพลาสติก ซึ่งหากลงไปในทะเลเเล้วจะมีการแยกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย กลายเป็นไมโครพลาสติก
ขยะพลาสติกที่คนเราใช้กันในชีวิตประจำวันลงไปอยู่ทะเลถูกทิ้งลงในเเม่น้ำหรืออาจถูกลมพัดลงไปในเเม่น้ำเพราะถูกทิ้งเกลื่อนกลาดทั่วไป
สมาคมครูด้านธรณีศาสตร์แห่งชาติในสหรัฐฯ ชี้ว่าไมโครพลาสติกเป็นเศษพลาสติกขนาดจิ๋วเเละเล็กกว่าเเพลงตอน เเละทำมาจากไฮโดรคาร์บอน ซึ่งเป็นส่วนประกอบในปิโตรเลียมกับแก๊สธรรมชาติเเละยังเป็นตัวดึงดูดมลพิษชนิดอื่นๆ อีกด้วย และเนื่องจากไมโครพลาสติกไม่สามารถย่อยในระบบย่อยอาหารได้ มันจะไปสะสมอยู่ในตัวปลาที่กินไมโครพลาสติกเข้าไป
แคทธี่ ฟาร์นเวิร์ธ อาจารย์และนักธรณีวิทยาทางทะเลที่ศึกษาชั้นดินที่สั่งสมในชายฝั่งทะเล ที่มหาวิทยาลัยอินเดียนน่า ในรัฐเพนซิลเวเนียกล่าวว่า ผลกระทบที่ร้ายเเรงที่สุดเป็นผลกระทบที่เรามองไม่ออกว่าพลาสติกจะปล่อยสารพิษออกมา เพราะทำมาจากไฮโดรคาร์บอน ซึ่งไฮโดรคาร์บอนเป็นตัวที่ดึงดูดมลพิษตัวอื่นๆ ที่อยู่ในทะเลเข้าด้วยกัน
เเละสัตว์ที่อยู่ในห่วงโซ่อาหารระดับต้นๆ กินไมโครพลาสติกเข้าไปแล้วถูกสัตว์ทะเลขนาดใหญ่กว่ากินเป็นอาหารต่อกันเป็นทอดๆ จนมาถึงมนุษย์ และนั่นทำให้อาหารทะเลที่คนเรารับประทานกับทั่วไปมีพลาสติกตกค้างอยู่ด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)