การค้นพบของทีมนักวิทยาศาสตร์ในอังกฤษอาจจะกลายเป็นความหวังที่ดีที่สุดของโลก ในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกที่กำลังเพิ่มขึ้น เเละอาจล้นโลกในเวลาไม่ช้า
ที่สถาบันวิจัยไดอามอน ไลท์ ซอร์ซ (Diamond Light Source) ในเมืองอ็อกฟอร์ดเชียร์ (Oxfordshire) ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพอร์ทสมัธ เเละจากสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งอื่นๆ กำลังพยายามวิเคราะห์ลักษณะทางเคมีของเอ็นไซม์ชนิดหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของแบคทีเรียบางชนิดในการย่อยสลายพลาสติกที่ใช้กันทั่วไป เเละรู้จักกันในชื่ออักษรย่อว่า พีอีที (PET)
ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้ลำเเสงที่มีความแรงสูงมากอย่างเหลือเชื่อ เปลี่ยนแปลงลักษณะทางโครงสร้างของเอ็นไซม์ เเละนำไปใส่กลับคืนสู่เชื้อเเบคทีเรียอีกครั้ง เพื่อดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น
จอห์น แม็คกีฮัน (JOHN MCGEEHAN) แห่งมหาวิทยาลัยพอร์ทสมัธ กล่าวว่า ตอนเเรกทีมงานคิดว่ากำลังทำให้เอ็นไซม์ทำงานช้าลงด้วยการปรับเปลี่ยนกรดอะมีโนบางตัว เเต่ปรากฏว่ากลับทำให้เอ็นไซม์ทำงานเร็วขึ้น เเละทีมงานได้สร้างเอ็นไซม์ที่มีประสิทธิภาพดีขึ้นกว่าเอ็นไซม์ตามธรรมชาติ
เมื่อทีมนักวิจัยใช้กล้องส่องจุลภาค พวกเขาสามารถมองเห็นเชื้อเเบคทีเรียกำลังย่อยสลายพลาสติกได้รวดเร็วมากขึ้นกว่าเดิม
ขั้นตอนนี้มีความคล้ายคลึงกับการพัฒนาน้ำยาซักผ้าในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1950 ที่เอ็นไซม์ถูกพัฒนาให้มีความเสถียรมากขึ้น ช่วยให้สามารถย่อยสลายโปรตีนเเละไขมันได้อย่างรวดเร็วกว่าเดิมอย่างมาก เเต่การเพิ่มความเร็วของการย่อยสลายพลาสติก PET พิสูจน์เเล้วว่าเป็นงานที่ยากมากกว่า
จอห์น แม็คกีฮัน นักวิจัย กล่าวว่ามาถึงตอนนี้ ทีมงานสามารถย่อยสลายพลาสติก พีอีที ได้ภายในเวลาไม่กี่วันเท่านั้น เร็วขึ้นกว่าที่เกิดขึ้นในสภาพธรรมชาติ เเละทีมนักวิจัยมีแนวคิดที่จะผลิตเอ็นไซม์ในระดับอุตสาหกรรม
ทีมนักวิทยาศาสตร์ในอังกฤษ กล่าวว่า พวกเขายังสามารถสร้างเอ็นไซม์ตัวใหม่นี้ได้เพียงไม่กี่กรัมเท่านั้น เเละหากร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม พวกเขาหวังว่าจะสามารถผลิตเอ็นไซม์ได้ในปริมาณมากขึ้นกว่าเดิม
นอกจากนี้ พวกเขายังหวังว่าการทดลองเพิ่มเติมจะนำไปสู่การพัฒนาเอ็นไซม์ที่ย่อยสลายพลาสติกได้เร็วขึ้นกว่าเดิมอีก
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)