Your browser doesn’t support HTML5
เครือข่ายช่วยเหลือเหยื่อการประทุษร้ายทางเพศแห่งชาติสหรัฐฯ (Rape Abuse and Incest National Network) หรือ RAINN รายงานว่า ผู้หญิงอายุ 18-24 ปีในสหรัฐฯ เป็นกลุ่มอายุที่เสี่ยงต่อความรุนแรงทางเพศมากกว่าหญิงกลุ่มอื่นๆ ในประเทศ
นักศึกษาหญิงในมหาวิทยาลัยสหรัฐฯ ที่อยู่ในกลุ่มอายุนี้ มีความเป็นไปได้สูงกว่าหญิงอเมริกันทั่วไปถึงสามเท่าที่จะประสบกับความรุนแรงทางเพศ ส่วนหญิงสาวอเมริกันที่อยู่ในกลุ่มอายุนี้ที่ไม่เรียนในมหาวิทยาลัย มีความเป็นไปได้ถึงสี่เท่าตัวที่จะเจอกับการถูกทำร้ายทางเพศเมื่อเทียบกับหญิงอเมริกันทั่วไป
จากรายงานของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 2014 ราว 80 เปอร์เซ็นต์ของเหยื่อความรุนเเรงทางเพศรู้จักผู้กระทำผิด เเละไม่ว่าความรุนเเรงทางเพศจะเกิดขึ้นที่ใด ทั้งในเขตรั้วมหาวิทยาลัยหรือภายนอกรั้วก็ตาม มักไม่มีการรายงานเหตุการณ์เหล่านี้เเก่ตำรวจ
เกือบครึ่งหนึ่งของเหยื่อทั้งหมด กล่าวว่าตนเองคิดว่าผู้กระทำผิดตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของยาหรือสุราตอนก่อเหตุ และราว 20 เปอร์เซ็นต์ของหญิงสาวทั้งสองกลุ่มชี้ว่า ที่ไม่รายงานว่าถูกทำร้ายหรือเอาเปรียบทางเพศ เพราะกลัวว่าจะถูกแก้เเค้น
หลังจากข้อกล่าวต่อนาย Harvey Weinstein โปรดิวเซอร์ชื่อดังเเห่งฮอลลีวู้ด มีคนหลายล้านคนหันไปใช้สื่อสังคมออนไลน์ ทั้ง ทวิทเตอร์ อินสตาเเกรม เฟสบุ๊ค เเละสื่ออื่นๆ เพื่อเผยเเพร่เหตุการณ์ทำร้ายทางเพศที่เกิดขึ้นกับตน โดยใช้ hashtag #MeToo
การโพสต์ข้อความเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์สร้างความตื่นตัวที่มุ่งเปิดเผยวัฒนธรรมการเอาเปรียบทางเพศ การทำร้ายทางเพศ เเละการข่มขืนในสหรัฐฯ
Sofie Karasek อายุ 22 ปี กล่าวกับ MTV เมื่อเร็วๆ นี้ว่า มีคนจำนวนมากที่เเสดงปฏิกิริยาต่อการโพสต์ข้อความใน #MeToo โดยตั้งคำถามว่า ทำไมเหยื่อของการทำร้ายทางเพศจึงต้องเป็นฝ่ายที่ออกมาเเสดงตนเพื่อเเสดงให้คนรู้ว่าโลกนี้มีปัญหานี้อยู่จริง
Karasek เป็นผู้จัดงานจุดเทียนรำลึกเเก่เหยื่อที่ถูกทำร้ายทางเพศในมหาวิทยาลัยที่เรียกว่า End Rape on Campus ในกรุงวอชิงตัน เธอกล่าวว่า จำเป็นมากที่ต้องเน้นว่าคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดไม่ได้ออกไปจากมหาวิทยาลัย เเล้วจะหายตัวไปจากโลก เเต่อาจกลายเป็นคนที่มีอำนาจมากขึ้นเพราะเป็นเจ้าของบริษัทต่างๆ ยกตัวอย่าง โปรดิวเซอร์ฮอลลีวู้ด Harvey Weinstein
ในช่วงหลายสัปดาห์ มีข้อกล่าวหาออกมามากมายต่อชายที่มีชื่อเสียงเเละมีอิทธิพลอีกหลายคน บรรดานักกฏหมายหญิงเเละเจ้าหน้าที่หญิงในหน่วยงานระดับรัฐต่างออกมาเปิดเผยถึงพฤติกรรมไม่เหมาะสมเเละการคุกคามทางเพศของเพื่อนร่วมงานชาย ในรัฐเเคลิฟอร์เนีย รัฐเเมสสาชูเซ็ทส์ เเละในอีกหลายรัฐ
เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เริ่มมีการสอบสวนทางอาญาต่ออาจารย์มหาวิทยาลัย 3 คน ที่ถูกกล่าวหาว่าประพฤติตัวไม่เหมาะสมทางเพศ เเละฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งถูกวิจารณ์อย่างหนักเพราะอนุญาตให้อาจารย์คนหนึ่งออกจากงานในมหาวิทยาลัยอย่างเงียบๆ หลังจากนักศึกษาหญิงคนหนึ่งกล่าวหาเขาว่ากระทำผิดทางเพศต่อเธอ
Shivani Desai ผู้ประสานงานมหาวิทยาลัยในระดับทั่วประเทศเเห่ง Feminist Majority Foundation หรือ มูลนิธิ FMF กล่าวว่า เเทนที่นักศึกษาหญิงจะสามารถใส่ใจอย่างเต็มที่กับการเรียน เเต่กลับต้องมาวิตกกังวลตลอดเวลาเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงทางเพศในรั้วมหาวิทยาลัย
เธอกล่าวว่า การรณรงค์ทางสื่อสังคมออนไลน์ #MeToo นี้ช่วยให้คนทั่วไปได้รับรู้ถึงปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศที่ผู้หญิง กลุ่มคนรักเพศเดียวกัน เเละคนข้ามเพศ ต้องประสบทุกวัน
ผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนล่าสุดโดยสำนักข่าว ABC News กับ Washington Post พบว่า 54 เปอร์เซ็นต์ของหญิงอเมริกัน เคยเจอกับการถูกล่วงเกินทางเพศโดยไม่เต็มใจในที่ทำงาน เเละมีหญิงอีก 30 เปอร์เซ็นต์บอกว่าเพื่อนร่วมงานชายเป็นผู้กระทำผิดเเละ 25 เปอร์เซ็นต์บอกว่าเพื่อนร่วมงานชายเหล่านี้ที่ล่วงเกินทางเพศต่อพวกเธอ เป็นคนที่มีอิทธิพลต่อความก้าวหน้าทางการงานของพวกเธอ
Shivani Desai ผู้ประสานงานมหาวิทยาลัยในระดับทั่วประเทศเเห่งมูลนิธิ FMF กล่าวว่าบรรดานักศึกษามหาวิทยาลัยได้เรียกร้องต่อต้านความรุนแรงทางเพศมานานหลายปีนับไม่ถ้วน เเละจะยังต้องต่อสู่กันต่อไปอีกเพื่อปกป้องสิทธิ์ของตนเองเเละนักศึกษาคนอื่นๆ
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)