สหรัฐฯ ปัดฝุ่นระบบป้องกันการโจมตีแบบ “Star Wars” รับมือเกาหลีเหนือ !?

NUCLEAR

Space Defense Initiative หรือโครงการป้องกันตนเองในอวกาศแบบ “Star Wars” นี้ต้องใช้ดาวเทียมตรวจจับอย่างน้อย 1,600 ดวง

Your browser doesn’t support HTML5

ปัดฝุ่นระบบป้องกันการโจมตีแบบ “Star Wars” เพื่อรับมือกับเกาหลีเหนือ

โครงการ Star Wars หรือ Space Defense Initiative เป็นโครงการป้องกันตนเองของสหรัฐฯ ที่มีจุดเริ่มต้นในสมัยประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน

โดยเป็นแนวคิดของนักวิทยาศาสตร์กับองค์การนาซ่าในช่วงทศวรรษที่ 1980 หรือในยุคสงครามเย็น เพื่อป้องกันการโจมตีด้วยขีปนาวุธจากสหภาพโซเวียต ด้วยการส่งดาวเทียมเพื่อตรวจจับขีปนาวุธขึ้นสู่อวกาศ

แต่โครงการนี้ต้องล้มเลิกไปเพราะตัวเลขค่าใช้จ่ายที่สูงมากรวมทั้งจากการที่มีผู้ตั้งคำถามเกี่ยวกับประสิทธิผลของโครงการนี้ และเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายลง ความจำเป็นของโครงการดังกล่าวเพื่อรับมือกับการโจมตีด้วยจรวดขีปนาวุธจากสหภาพโซเวียตก็ลดน้อยลงไป

อย่างไรก็ตาม ภัยคุกคามครั้งใหม่เรื่องการโจมตีด้วยจรวดขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือในขณะนี้ ทำให้มีการหยิบยกแนวคิดดังกล่าวขึ้นมาพูดกันอีกครั้งหนึ่ง

นาย Robert Scheder นักวิเคราะห์ระบบของ RAND Corporation ซึ่งเป็นองค์กรที่ออกแบบยกร่างแผนการ Star Wars นี้ตั้งแต่แรก บอกว่าโครงการนี้สามารถนำมาใช้ได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน

และให้คำอธิบายเกี่ยวกับองค์ประกอบของแนวคิดการป้องกันตนเองในอวกาศหรือที่เรียกกันว่าโครงการ Star Wars นี้ว่า จะต้องมีการส่งระบบดาวเทียมเพื่อตรวจจับการยิงโจมตีด้วยขีปนาวุธขึ้นไปโคจรอยู่ในอวกาศให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วโลกอย่างน้อย 1,600 ดวง

ซึ่งดาวเทียมเหล่านี้จะทำหน้าที่สอดส่องตรวจจับและทำลายขีปนาวุธที่มีทิศทางมุ่งเข้ามาโจมตีสหรัฐฯ แต่เงินลงทุนเพื่อส่งเครือข่ายดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศทั่วโลกนี้สูงถึงหนึ่งแสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเกินกว่างบประมาณของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ในขณะนั้น และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้โครงการนี้ไม่ได้ผ่านโต๊ะยกร่างออกไปถึงขั้นทำการทดลอง

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สนับสนุนเรื่องนี้ก็ยังไม่ล้มเลิกความตั้งใจและชี้ว่า ในช่วงนั้นสหภาพโซเวียตซึ่งเป็นประเทศมหาอํานาจสามารถยิงจรวดติดขีปนาวุธนิวเคลียร์ได้ครั้งละนับพันลูก แต่ตอนนี้เกาหลีเหนือซึ่งมีขีดความสามารถต่ำกว่า อาจจะยิงจรวดได้ครั้งละ 3-4 ลูกเท่านั้น และเชื่อว่าระบบดังกล่าวมีขีดความสามารถในการสกัดกั้นและป้องกันการโจมตีได้

แต่ผู้ที่คัดค้านก็แย้งว่า เกาหลีเหนืออาจใช้วิธีส่งจรวดลวง หรือที่เรียกว่า decoy เพื่อให้ระบบ Star Wars ที่ตรวจจับ เกิดช่องโหว่ขึ้นก่อนที่จะยิงซ้ำด้วยหัวรบจริง

และถึงแม้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นอาจทำให้ต้องใช้ประมาณน้อยลง คือระหว่างสองหมื่นถึงเจ็ดหมื่นล้านดอลลาร์ก็ตาม แต่ในยุคของการโจมตีแบบ Cyber Warfare เกาหลีเหนือหรือรัฐอันธพาลต่างๆ รวมทั้งกลุ่มที่มีขีดความสามารถทางคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นพันธมิตรกับประเทศที่ไม่เป็นมิตรกับสหรัฐฯ อาจใช้วิธีโจมตีต่อระบบคอมพิวเตอร์ที่ควบคุมดาวเทียมในโครงการ Star Wars นี้ เพื่อให้ระบบควบคุมใช้การไม่ได้ เป็นต้น