ประธานาธิบดี มูน แจ-อิน กล่าวว่า รัฐบาลกรุงโซลกำลังเพิ่มความพยายามที่จะถอนตัวออกจากการบังคับบัญชาของกองทัพสหรัฐฯ ภายใต้ภาวะสงคราม หรือ Wartime Operation Control (OPCON) ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่าเป็นการส่งสัญญาณว่าเกาหลีใต้ไม่สนับสนุนแนวทางแข็งกร้าวและคำขู่ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีต่อเกาหลีเหนือ
ประธานาธิบดี มูน แจ-อิน กล่าวในโอกาสครบรอบ 69 ปี วันกองทัพของเกาหลีใต้ ว่า เกาหลีใต้กำลังพิจารณาถอนตัวออกจากการบังคับบัญชาของกองทัพสหรัฐฯ ภายใต้ภาวะสงคราม หรือ Wartime Operation Control (OPCON) โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพในการป้องกันประเทศ และลดการพึ่งพากองทัพอเมริกัน
ปธน.มูน กล่าวว่า เมื่อเกาหลีใต้สามารถควบคุมกองทัพของตัวเองภายใต้ภาวะสงครามได้ กองทัพเกาหลีใต้จะมีความเชื่อมั่นมากขึ้น และเกาหลีเหนือก็จะเกิดความหวั่นเกรงมากขึ้นด้วย
นักวิเคราะห์เชื่อว่า คำประกาศครั้งนี้ซึ่งมีขึ้นในช่วงเวลาที่เกาหลีใต้และสหรัฐฯ กำลังเผชิญภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ เป็นการส่งสัญญาณว่ารัฐบาลกรุงโซลไม่สนับสนุนแนวทางแข็งกร้าวของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีต่อเกาหลีเหนือ ดังที่ผู้นำสหรัฐฯ ใช้คำว่า “ไฟและความเดือดดาล” รวมทั้งการที่ ปธน.ทรัมป์ ขู่ว่าจะทำลายเกาหลีเหนือให้ราบคาบ
ตั้งแต่เกาหลีใต้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยเมื่อคริสต์ทศวรรษ 1990 รัฐบาลเกาหลีใต้มีอำนาจสั่งการกองทัพของตนเองในภาวะปกติสุขเท่านั้น แต่ภายใต้ภาวะสงคราม กองทัพเกาหลีใต้จะอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม การถ่ายโอนอำนาจการควบคุมกองทัพดังกล่าว ต้องได้รับความเห็นชอบจากประธานาธิบดีของเกาหลีใต้เสียก่อน นอกจากนี้ ปธน.เกาหลีใต้ยังมีอำนาจวีโต้การควบคุมของผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐฯ
ที่ผ่านมา ปธน. มูน และรัฐบาลเกาหลีใต้ซึ่งมีแนวคิดเสรีนิยม แสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าไม่ยอบรับการควบคุมของกองทัพสหรัฐฯ ภายใต้ภาวะสงคราม โดยระบุว่าเป็นสิทธิในการปกป้องอธิปไตยของเกาหลีใต้ ซึ่งสอดคล้องกับกระแสต่อต้านอเมริกาที่กำลังขยายตัวมากขึ้น
แต่ทางผู้สนับสนุนแนวคิดอนุรักษ์นิยมต่างต่อต้านแนวคิดที่ให้เกาหลีใต้ควบคุมกองทัพตัวเอง โดยเชื่อว่าอาจทำให้สหรัฐฯ มีบทบาทน้อยลงในการปกป้องเกาหลีใต้ในช่วงเวลาที่เกิดสงครามจริงๆ
คุณฮอง ยุน-เปียว หัวหน้าพรรคแนวทางอนุรักษ์นิยม Liberty Korea กล่าวว่า การดึงอำนาจนั้นกลับสู่มือของเกาหลีใต้จะถือเป็นการทำลายความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ อย่างสิ้นเชิง และอาจเป็นการส่งสัญญาณให้ศัตรูของสหรัฐฯ รับรู้ถึงความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับพันธมิตรสำคัญอย่างเกาหลีใต้ด้วย
เมื่อปี ค.ศ. 2014 กรุงโซลและกรุงวอชิงตันเคยตกลงเลื่อนการถ่ายโอนอำนาจการควบคุมกองทัพเกาหลีใต้ในภาวะสงครามไปเป็นปี ค.ศ. 2020 โดยระบุว่าให้ขึ้นอยู่กับศักยภาพของกองทัพเกาหลีใต้ว่าจะสามารถบัญชาการรบด้วยตัวเองได้หรือไม่ มากน้อยแค่ไหน ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่าจะเกิดผลดีต่อกองทัพเกาหลีใต้เอง ในการยกระดับศักยภาพของกองทัพ
ซึ่งในเรื่องนี้ ปธน.มูน แจ-อิน ให้สัญญาว่าจะปฏิรูปกองทัพ และเพิ่มงบประมาณทางการทหาร เพื่อให้เกาหลีใต้สามารถพัฒนาระบบป้องกันขีปนาวุธของตนเอง รวมทั้งเพิ่มความสามารถของอาวุธยุทโธปกรณ์และบุคลากรทางทหารได้มากขึ้นเช่นกัน
(ผู้สื่อข่าว Brian Padden รายงานจากกรุงโซล / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)