เมินม็อบไล่! ผู้นำศรีลังกายืนกรานไม่ลาออก แม้ส.ส.แห่เทรัฐบาล

Sri Lanka President

ประธานาธิบดีศรีลังกา ประกาศชัดจะดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ และจะเผชิญหน้ากับวิกฤตการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศต่อไป ท่ามกลางการประท้วงใหญ่กดดันให้ผู้นำศรีลังกาลาออกจากตำแหน่ง

ศรีลังกากำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนเชื้อเพลิงและสินค้าจำเป็นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และการประท้วงต่อต้านรัฐบาลจากปัญหาเศรษฐกิจได้ขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ และลามไปถึงบทบาทของประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา และตระกูลที่ทรงอิทธิพลทางการเมืองของเขา

ล่าสุด ประธานาธิบดีราชปักษาเมินเสียงเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่ง แม้ว่าสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลของเขาจะพยายามกดดันให้ลาออกในสัปดาห์นี้ โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคร่วมรัฐบาลศรีลังกา ระบุว่า ควรมีการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นมาแทน

แต่ทางจอห์นสตัน เฟอร์นันโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทางหลวงและส่งเสริมการลงทุนของศรีลังกา ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล กล่าวต่อที่ประชุมสภาในวันพุธว่า ประธานาธิบดีราชปักษา “จะไม่ลาออก” และพร้อมจะเผชิญหน้ากับวิกฤตต่างๆ นี้

ไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านั้น ประธานาธิบดีราชปักษา ได้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่เขาบังคับใช้เมื่อสัปดาห์ก่อน หลังจากมีกลุ่มผู้ชุมนุมประชิดใกล้กับบ้านพักประธานาธิบดีในกรุงโคลัมโบของศรีลังกา ซึ่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของผู้นำศรีลังกาได้หยิบยื่นอำนาจหน้าที่ในการปกป้องความมั่นคงปลอดภัย รวมถึงการระงับการบังคับใช้กฎหมาย การจับกุมคุมขัง และเข้ายึดทรัพย์สินต่างๆ เป็นต้น

ประท้วงขับไล่ประธานาธิบดี

ภาพถ่ายที่เผยแพร่ผ่านทางสถานีโทรทัศน์และสื่อสังคมออนไลน์เมื่อวันจันทร์ เผยให้เห็นผู้ประท้วงศรีลังกาบุกเข้าไปทำลายข้าวของในอาคารสำนักงานและทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนฯ จำนวนหนึ่งเรียกร้องให้มีการเพิ่มความปลอดภัยให้กับสมาชิกทุกคน และทางรัฐมนตรีเฟอร์นันโดกล่าวต่อที่ประชุมสภาว่า บรรดาส.ส.ทั้งหลายต่างเตรียมการรับเหตุวุ่นวายไว้หมดแล้ว และพร้อมที่จะเผชิญหน้าหากมีใครเข้ามาโจมตี

People hold placards as they demand Sri Lanka's President Gotabaya Rajapaksa to resign after his government lost its majority in the parliament, amid the country's economic crisis, during a protest near to a road leading to the parliament building in Colo

การประท้วงในศรีลังกายังดำเนินไปต่อเนื่องในหลายพื้นที่ทั่วประเทศเมื่อวันพุธ และเรียกร้องให้ประธานาธิบดีราชปักษาลาออกจากตำแหน่ง อย่างที่กรุงโคลัมโบ แพทย์ศรีลังกาจำนวนมากออกมาเดินขบวนประท้วง เรียกร้องให้รัฐบาลศรีลังกาแก้ปัญหาการขาดแคลนยาและเวชภัณฑ์ในโรงพยาบาลรัฐ ขณะที่ส.ส.ฝ่ายค้าน ประท้วงกลางสภาในวันเดียวกันเพื่อกดดันให้ปธน.ราชปักษาลาออก จนต้องพักประชุมไปร่วม 10 นาที

ส่วนพิกัดอื่นๆ ในศรีลังกา มีนักศึกษา นักกฎหมาย และกลุ่มสาขาอาชีพต่างๆ รวมตัวประท้วงต่อต้านรัฐบาลด้วยเช่นกัน

แผนรัฐบาลแห่งชาติล่ม-ส.ส.พรรคทยอยลาออก

ก่อนหน้านี้ ปธน.ราชปักษา ได้เสนอการจัดตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ เพื่อรับมือกับวิกฤตต่างๆ ในประเทศ แต่พรรคฝ่ายค้านปฏิเสธแนวคิดดังกล่าว และเมื่อค่ำวันอาทิตย์คณะรัฐมนตรีจำนวนมากได้ประกาศลาออก ตามมาด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคร่วมรัฐบาลเกือบ 40 คนก็ประกาศลาออกเช่นกัน ซึ่งทำให้รัฐบาลสูญเสียเสียงข้างมากอย่างมีนัยสำคัญ

อิทธิพลทางการเมืองของตระกูลราชปักษา

Sri Lanka’s former President Mahinda Rajapaksa, center, leaves with his younger brother, President Gotabaya Rajapaksa, right, after being sworn in as the prime minister at Kelaniya Royal Buddhist temple in Colombo, Sri Lanka, Sunday, Aug. 9, 2020. …

แม้ว่าตระกูลราชปักษาผู้ทรงอำนาจทางการเมืองจะกลายเป็นจุดที่สร้างความเดือดดาลให้ประชาชนในขณะนี้ แต่ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา และนายกรัฐมนตรีมหินทรา ราชปักษา ซึ่งเป็นพี่ชายของปธน. ยังเดินหน้ากุมอำนาจปกครองศรีลังกาต่อไป

ขณะที่ก่อนหน้านี้มีสมาชิกครอบครัวอีก 5 คนในตระกูลราชปักษาที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ รวมทั้ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บาซิล ราชปักษา น้องชายของปธน. ซึ่งต่อมาถูกปลดจากตำแหน่ง และนามาล ราชปักษา ผู้เป็นหลานชายปธน. ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกีฬาศรีลังกา

อิทธิพลทางการเมืองของตระกูลราชปักษา ส่วนหนึ่งมาจากบทบาทของนายกรัฐมนตรีมหินทรา ราชปักษา เมื่อครั้งที่เขาเคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีศรีลังกา ช่วงปี 2009 จากผลงานที่เขายุติสงครามกลางเมืองจากความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์ที่กินเวลานานถึง 25 ปีได้

แต่ในตอนนี้ หลายฝ่ายเริ่มแสดงความกังวลว่า การกุมอำนาจทางการเมืองของตระกูลราชปักษาในกระทรวงสำคัญต่างๆ อาจกระทบกับความเป็นอิสระในการบริหารประเทศ และทำให้รัฐบาลไม่สามารถจัดการกับวิกฤตต่างๆ ที่ถาโถมศรีลังกาในเวลานี้ได้

สารพัดวิกฤตถาโถมศรีลังกา

รัฐบาลศรีลังกา ประเมินว่า ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจศรีลังกา 14,000 ล้านดอลลาร์ ในช่วงระยะ 2 ปีที่ผ่านมา ผู้ประท้วงศรีลังกา กล่าวโจมตีว่าเป็นการบริหารจัดงานงบประมาณที่ผิดพลาด

อีกด้านหนึ่ง ศรีลังกากำลังจมอยู่กับทะเลหนี้ต่างประเทศมหาศาล ที่ระดมกู้ยืมเพื่อโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการอื่นๆ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดรายได้กับศรีลังกา ถึงขั้นว่าระดับหนี้ต่างประเทศที่ครบกำหนดชำระหนี้ของศรีลังกาในปีนี้ สูงถึง 7,000 ล้านดอลลาร์ทีเดียว

ด้วยภาระหนี้ต่างประเทศก้อนใหญ่ที่มีอยู่ บวกกับเงินทุนสำรองต่างประเทศที่ร่อยหรอ ทำให้รัฐบาลศรีลังกาไม่สามารถชำระค่าสินค้านำเข้าที่จำเป็นต่างๆ ได้แล้ว

ในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ ชาวศรีลังกา ต้องต่อแถวรอคิวเพื่อซื้อน้ำมัน อาหาร และยารักษาโรค ซึ่งส่วนใหญ่นั้นมาจากต่างประเทศ และต้องชำระด้วยสกุลเงินต่างประเทศที่มีเสถียรภาพสูง และด้วยภาวะขาดแคลนพลังงานในศรีลังกา พร้อมกับกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำที่ลดลงในช่วงหน้าแล้ง ทำให้ศรีลังกาต้องสั่งตัดกระแสไฟฟ้าร่วมหลายชั่วโมงต่อวัน

ท่ามกลางวิกฤตการเมืองและเศรษฐกิจที่ถาโถมศรีลังกา ประธานาธิบดีราชปักษา ได้กล่าวเมื่อเดือนก่อนว่า รัฐบาลของเขากำลังหารือกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ รวมทั้งหารือกับจีนและอินเดียเกี่ยวกับเงินกู้ยืมเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งในระหว่างนี้เขาได้ขอความร่วมมือจากประชาชนในการจำกัดการใช้เชื้อเพลิงและไฟฟ้าในระยะนี้ไปก่อน

  • ที่มา: เอพี