โสมขาวพยายามหาทางดึงโสมแดงกลับคืนโต๊ะเจรจารวมชาติ

ปธน.ยูน ซุก ยอล แห่งเกาหลีใต้ ขณะขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในงานฉลอง 79 ปีวันอิสรภาพ ที่กรุงโซล เมื่อ 15 ส.ค. 2567

ประธานาธิบดียูน ซุก ยอล ของเกาหลีใต้ออกมาเสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานให้คำปรึกษากับเกาหลีเหนือเพื่อหารือการลดระดับความตึงเครียดระหว่างทั้งสอง รวมทั้งการรื้อฟื้นแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้วย

ในระหว่างการขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในงานฉลองครบรอบ 79 ปีวันอิสรภาพจากการปกครองของญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงปี 1910-1945 ซึ่งจัดขึ้นในวันพฤหัสบดี ปธน.ยูน กล่าวว่า ตนนั้นพร้อมที่จะเริ่มต้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเมือง หากเกาหลีเหนือ “เดินหน้าออกมาสักก้าว” ไปยังจุดของการปลดอาวุธนิวเคลียร์

ผู้นำเกาหลีใต้ใช้โอกาสการขึ้นกล่าวสุนทรพจน์นี้เพื่อเปิดตัวพิมพ์เขียวแผนงานรวมชาติและเพื่อเปิดทางเข้าหากรุงเปียงยาง หลังจากที่รัฐบาลกรุงโซลเพิ่งเสนอมอบเสบียงความช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้กับเหยื่อเหตุการณ์น้ำท่วมในเกาหลีเหนือเมื่อเร็ว ๆ นี้ แต่ก็ถูกปฏิเสธกลับมา

ทั้งนี้ แนวคิดการรวมชาติของสองเกาหลีนั้นดูเป็นความฝันอันห่างไกลในช่วงที่ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ตกต่ำถึงระดับต่ำสุดในรอบหลายทศวรรษ ขณะที่ กรุงเปียงยางเร่งพัฒนาเทคโนโลยีและความสามารถด้านขีปนาวุธและนิวเคลียร์ พร้อม ๆ กับการหาทางตัดสัมพันธ์กับกรุงโซลอยู่

Your browser doesn’t support HTML5

โสมแดงรุก "ปฏิบัติการชวนขมคอ" ส่ง ‘บอลลูนอุจจาระ’ ข้ามเกาหลีใต้

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือเรียกเกาหลีใต้ว่าเป็น “ศัตรูหลัก” และกล่าวว่า การรวมชาตินั้นไม่มีทางจะเป็นไปได้เลย

อย่างไรก็ดี ปธน.ยูนกล่าวว่า การเปิดตัว “คณะทำงานระหว่างเกาหลี” จะช่วยลดความตึงเครียดและทำหน้าที่รับมือประเด็นต่าง ๆ ตั้งแต่เรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจไปจนถึงการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน รวมทั้ง การทำให้ครอบครัวที่แยกจากกันในช่วงสงครามเกาหลีปี 1930-1953 ได้กลับมาอยู่ด้วยกัน

นอกจากนั้น ผู้นำกรุงโซลยังหยิบยกประเด็นการจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือและการเปิดตัวกองทุนส่งเสริมความตระหนักรู้ทั่วโลกเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว พร้อมกับการสนับสนุนนักเคลื่อนไหวต่าง ๆ และการขยายช่องทางให้เกาหลีเหนือได้รับรู้ข่าวสารจากภายนอกด้วย

แต่ ยาง มู-จิน อธิการบดีของมหาวิทยาลัยการศึกษาเกาหลีเหนือ (University of North Korean Studies) ในกรุงโซล ให้ความเห็นว่า กรุงเปียงยางอาจมองแผนงานการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและการรับรู้ข่าวสารภายนอกของกรุงโซล ร่วมกับข้อเสนอความช่วยเหลือและการเจรจา ว่าเป็นความย้อนแย้งและเป็นภัยต่อตนได้

  • ที่มา: รอยเตอร์