ลิ้งค์เชื่อมต่อ

อดีตนักการทูตเผย โสมแดงหวังฟื้นเจรจานิวเคลียร์ หากทรัมป์ได้เป็นปธน.


แฟ้ม - ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนื คิม จอง อึน จับมือกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เขตปลอดทหาร หมู่บ้านปันมุนจอม เกาหลีใต้ 30 มิ.ย. 2019 (AP Photo/Susan Walsh, File)
แฟ้ม - ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนื คิม จอง อึน จับมือกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เขตปลอดทหาร หมู่บ้านปันมุนจอม เกาหลีใต้ 30 มิ.ย. 2019 (AP Photo/Susan Walsh, File)

อดีตนักการทูตระดับสูงของเกาหลีเหนือผู้แปรพักตร์ เผยว่าโสมแดงต้องการกลับมาเปิดการเจรจานิวเคลียร์กับสหรัฐฯ หากโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง และอยู่ระหว่างเตรียมการสำหรับยุทธศาสตร์การหารือไว้แล้ว ตามรายงานของรอยเตอร์

รี อิล กยู นักการทูตระดับสูงของเกาหลีเหนือประจำคิวบา ผู้สร้างประเด็นใหญ่ระดับโลกเมื่อเดือนก่อนจากการเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของโสมแดมผู้แปรพักตร์คนล่าสุดในรอบ 8 ปี ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างชาติเป็นครั้งแรก โดยกล่าวว่าเกาหลีเหนือได้กำหนดให้รัสเซีย สหรัฐฯ และญี่ปุ่นเป็นประเทศสำคัญในเชิงนโยบายต่างประเทศเป็นอันดับต้น ๆ ในปีนี้และในปีต่อ ๆ ไป

รี เสริมว่า ระหว่างที่เกาหลีเหนือเสริมสร้างสัมพันธ์กับรัสเซียในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลเปียงยางสนใจที่จะกลับมาเปิดการเจรจานิวเคลียร์กับสหรัฐฯ หากทรัมป์ ซึ่งเคยเดินหน้าสัมพันธ์การทูตกับโสมแดงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในยุคที่เขาดำรงตำแหน่ง ได้รับเลือกเป็นผู้นำสหรัฐฯ อีกครั้งในการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนนี้

ยิ่งไปกว่านั้น ทีมนักการทูตเกาหลีเหนือเตรียมการสำหรับสถานการณ์ดังกล่าวไว้ด้วย เพื่อเป้าหมายในการผ่อนคลายมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจจากโครงการพัฒนาอาวุธ ลบล้างภาพของเกาหลีเหนือในฐานะรัฐสนับสนุนการก่อการร้าย และผลักดันความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจอื่น ๆ ให้กับเกาหลีเหนือ

ความเห็นของนักการทูตรายนี้ สะท้อนเปลี่ยนแปลงจุดยืนของเกาหลีเหนือที่ปฏิเสธการหารือกับสหรัฐฯ และเตือนถึงการเผชิญหน้าระหว่างกันหลายต่อหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา

เมื่อถามถึงการหารือระหว่างทรัมป์และคิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือที่ล้มเหลวเมื่อปี 2019 อดีตนักการทูตโสมแดงรายนี้ กล่าวโทษการตัดสินใจของคิมที่ไว้ใจผู้บัญชาการทหารที่ "ไม่มีประสบการณ์และไม่มีความรู้" กับการทูตด้านนิวเคลียร์ และว่า “คิม จอง อึน ไม่รู้อะไรมากมายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการทูต หรือการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์”

อย่างไรก็ตาม รี กล่าวว่า “ในตอนนี้ กระทรวงต่างประเทศได้รับอำนาจและกลับมามีบทบาทแล้ว และทางกระทรวงจะไม่ปล่อยให้ทรัมป์บีบบังคับเกาหลีเหนือได้อีกในระยะ 4 ปี โดยที่ไม่ยอมมอบอะไรกลับคืนมาได้อีกต่อไป”

ทั้งนี้ เกาหลีเหนือกระชับสัมพันธ์กับรัสเซีย และได้รับความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์และด้านเศรษฐกิจ ซึ่งรีเห็นว่าเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับเกาหลีเหนือกับทางรัฐบาลวอชิงตัน ในแง่ที่ว่ามาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจจะไม่สามารถเป็นข้อต่อรองสำคัญของฝั่งสหรัฐฯ ได้มากนัก

ขณะที่นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ แห่งญี่ปุ่น เคยกล่าวว่าต้องการพบหารือกับคิม จอง อึน ในประเด็นชาวญี่ปุ่นที่ถูกลักพาตัวเมื่อคริสต์ทศวรรษที่ 1970 และ 1980 ขณะที่คิมต้องการใช้ประเด็นดังกล่าวเพื่อแลกเปลี่ยนกับความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจจากญี่ปุ่นเช่นกัน

  • ที่มา: รอยเตอร์

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG