ชาวอเมริกันสุดประทับใจ คอนเสิร์ตนาฏศิลป์ไทยร่วมสมัย ที่หอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ

คณะนาฎศิลป์โสมาภา คณะนาฏศิลป์และดนตรีไทยมืออาชีพ ได้รับเชิญจากAmerican Folklife Center จัดแสดงคอนเสิร์ตรอบพิเศษที่ หอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ กรุงวอชิงตัน

หอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ(The Library of Congress)จัดคอนเสิร์ตกิจกรรมฉลองเดือนแห่งมรดกวัฒนธรรมชาวเชื้อสายชาวเอเชียในอเมริกาด้วยการเชิญคณะนาฎศิลป์โสมาภากลุ่มศิลปินชาวไทยในอเมริกา เปิดการแสดงรอบพิเศษ ด้วยการนำแนวดนตรีไทยประยุกต์ และการฟ้อนรำไทยร่วมสมัย ไปสร้างความประทับใจของผู้ชมในกรุงวอชิงตัน

ผู้ชมหลายร้อยชีวิต ภายในโรงละคร คูลลิจจ์ ออร์ดิทอเลียม (Coolidge Auditorium) ของ อาคารหอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ(The Library of Congress) ในกรุงวอชิงตัน ลุกขึ้นขยับตัว ตามจังหวะดนตรีในเกือบจะทันที ที่ศิลปินจากคณะนาฎศิลป์ โสมาภา ชักชวนให้ทุกลุกขึ้นมาร่วมสนุกสนาน ฟ้อนรำ ปรบมือตามจังหวะเพลง ที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะของความประทับใจ

ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคอนเสิร์ต จาก คณะนาฎศิลป์โสมาภา คณะนาฏศิลป์และดนตรีไทยมืออาชีพ ที่ได้รับเชิญจากศูนย์ดนตรีพื้นบ้านอเมริกัน หรือ American Folklife Center องค์กรส่งเสริมวัฒนธรรมพื้นถิ่นแห่ง Library of Congress เพื่อให้เป็นตัวแทนวัฒนธรรมไทย เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรมการเฉลิมฉลองเดือนแห่งมรดกวัฒนธรรมชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย และเกาะแปซิฟิค ที่จัดเป็นคอนเสิร์ตรอบพิเศษให้ชาวอเมริกันในแถบนครหลวงของสหรัฐฯ ได้ชมนาฎลีลาชั้นสูงของนาฎศิลป์ดนตรีไทยอย่างเต็มอิ่มเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

Somapa Thai Dance and Music Company in Concert at Live! At the Library

เหมือนได้กลับไปเมืองไทยอีกครั้ง

บาร์บี ฮอลสเตด วอล์เรล (Baby Halstead Worrell) ชาวกรุงวอชิงตัน ที่เคยเดินทางไปเมืองไทยและเก็บความประทับใจมายาวนาน บอกว่า เธอมีโอกาสได้หวนรำลึกถึงความงาม ความมีน้ำใจ และความสนุกสนานของผู้คน

"การได้ชมคอนเสิร์ตนั้น ทำให้ฉันรู้สึกเหมือนได้กลับไปเมืองไทยอีกครั้ง ดนตรีไพเราะ การแสดงบนเวทีที่กระชับ ทำให้รู้สึกอิ่มเอิบในความสุนทรีย์ทางดนตรี และมีความสุขมาก โดยเฉพาะการได้เห็นผู้คนทั้งหมดเต้นรำ ร้องเพลง ปรบมือร้องตาม .. ฝีมือนักดนตรีก็ยอดเยี่ยม นางรำก็งดงามและเต็มไปด้วยจิตวิญญาณ เป็นประสบการณ์ที่น่ามหัศจรรย์.." บาร์บี ฮอลสเตด วอล์เรล กล่าวกับ วีโอเอ ไทย

ด้าน ฮอลลี คูเกลอร์ (Holly Koogler) ชาวอเมริกันในกรุงวอชิงตัน บอกว่า เธอประทับใจมากๆ ทั้งดนตรีและการฟ้อนรำ ที่ยอดเยี่ยม โดยเฉพาะในช่วงที่ได้เห็นการประชัน ระหว่างระนาดเอก 2 ชิ้น และในบทเพลงลาวแพนน้อย รูปแบบของคณะโสมาภา ที่น่าตื่นตาตื่นใจและทรงพลัง ถือเป็นช่วงที่เธอชื่นชอบที่สุด

Somapa Thai Dance and Music Company in Concert at Live! At the Library

คุณ จุลีพจน์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อุปทูต สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน บอกว่า ประทับใจอย่างมากที่ได้เห็นผู้คนชาวอเมริกันและชาวต่างชาติได้มีความสุข ชื่นชม กับความงามความไพเราะของดนตรีนาฎศิลป์ไทย

“ มีประโยชน์มากนะคะการแสดงวันนี้ เพราะว่าสามารถทำให้คนอเมริกัน ได้ทราบว่าดนตรีและนาฏศิลป์ไทย มีความไพเราะพิเศษแตกต่างจากของชาติอื่นๆนะคะ แล้วก็วันนี้รู้สึกว่าจะได้รับความสนใจอย่างมาก และผู้ชมก็ได้ร่วมแสดงไปกับทางนักดนตรีศิลปินของเราด้วยนะคะ ในเพลงที่สนุกสนานก็มีการปรบมือมีการรำฟ้อนด้วยค่ะ” อุปทูต สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน กล่าว

เพลงทุกเพลงเราไม่ได้เล่นดิบๆ เราต้องมาปรุงแต่ง ทำให้มีอารมณ์เข้าถึงศิลปะจริงๆตรงนี้ สำคัญที่สุดเพื่อทุกคนได้ฟังแล้วเกิดความสุนทรียภาพขึ้นมา ..ผมเชื่อว่าถ้าเราได้ทำให้ดนตรีไทยเป็นที่ยอมรับกันได้ ผมว่าก็อยากจะให้กลับมาอีก..กลับมาอย่างภาคภูมิใจ
ครู วรยศ ศุขสายชล ศิลปินอาวุโส

ทำนองเพลงดนตรีไทยที่ใช้ในการแสดงของคณะนาฎศิลป์โสมภา ทั้งหมดได้รับการเรียบเรียงขึ้นใหม่ โดยครู วรยศ ศุขสายชล ศิลปินอาวุโส ครูเพลงและนักประพันธ์ดนตรีไทย ระดับแนวหน้าที่ เลือกคัดสรร ประยุกต์เพลงและดนตรี ปรับจังหวะแนวทางการเล่นให้ร่วมสมัย แต่ก็ยังคงเอกลักษณ์ และจุดเด่นความไพเราะของเครื่องดนตรีไทยแต่ละชนิด บรรเลงส่งผ่านความรู้สึกทางดนตรีให้ผู้คนสัมผัส เพื่อหวังว่าจะช่วยสานต่อลมหายใจมรดกดนตรีไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

ครู วรยศ ศุขสายชล ศิลปินอาวุโส บรรเลงซอสามสาย ในคอนเสริ์ทรอบพิเศษ คณะนาฎศิลป์ โสมาภา ที่ หอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ

ปรุงเพลงให้เข้าถึงหัวใจ

“ (ดนตรีที่เล่น) เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงได้ง่ายๆ ผมไม่ได้ว่าจะปรับให้เหมือนกับเป็นเสียงสากลหรือว่าให้เข้าไปมีการใช้เครื่องดนตรีสากลเข้ามาใส่ เพราะเราไม่ได้ใช้ แต่ว่าเราใช้เหมือนกับการปรุง เพลงทุกเพลงเราไม่ได้เล่นดิบๆ เราต้องมาปรุงแต่ง ทำให้มีอารมณ์เข้าถึงศิลปะจริงๆตรงนี้ สำคัญที่สุดเพื่อทุกคนได้ฟังแล้วเกิดความสุนทรียภาพขึ้นมา.." ครู วรยศ เจ้าของทฤษฏีดนตรีไทย 17 เสียง กล่าว และย้ำว่า

"..เป็นที่น่าเสียดายว่าปัจจุบันมีคนไทยก็แทบจะไม่สนใจดนตรีไทยแล้ว ตามวิทยุโทรทัศน์ก็ไม่เห็นแล้วครับ เพราะฉะนั้นผมก็เลยคิดข้อนี้ว่า ..ถ้าเกิดเรามีโอกาสได้ทำอย่างนี้ได้ ..ผมเชื่อว่าถ้าเราได้ทำให้ดนตรีไทยเป็นที่ยอมรับกันได้ ผมว่าก็อยากจะให้กลับมาอีกทีนึง กลับมาอย่างภาคภูมิใจครับ” วรยศ ศุขสายชล ศิลปินอาวุโส กล่าวกับ วีโอเอ ไทย

Somapa Thai Dance and Music Company in Concert at Live! At the Library

โอกาสครั้งใหญ่ โชว์เคส วัฒนธรรมไทย

สุธีรา นาควัชระ ผู้ร่วมก่อตั้งคณะนาฎศิลป์โสมาภา ซึ่งเป็นกลุ่มศิลปินที่รวมตัว ตระเวนแสดง เผยแพร่ศิลปะวัฒนธรรมไทย ทั้งการฟ้อนรำ และดนตรีไทย ในอเมริกา บอกว่า การได้รเป็นตัวแทนวัฒนธรรมไทยมาเปิดการแสดงที่ The Library of Congress แห่งนี้ ถือเป็นโอกาสครั้งพิเศษครั้งใหญ่ที่เธอภาคภูมิใจ

ภูมิใจนะคะว่าทำให้คนอเมริกันซึ่งไม่มี แบ็คกราวด์ เรื่องวัฒนธรรมไทยเลย สามารถที่จะเข้าถึง สามารถที่จะสนุกสนานการแสดงของเราได้
สุธีรา นาควัชระ ผู้ร่วมก่อตั้งคณะนาฎศิลป์โสมาภา

“ รู้สึกภูมิใจอย่างมากๆ เลยนะคะ เพราะว่ามันเป็นโอกาสที่แบบว่า ไม่ได้มาง่ายๆเลยใช่ไหมคะ..จุดมุ่งหมายของเราคืออยากจะให้ดนตรีไทยหรือนาฏศิลป์ไทยเนี่ยให้คนทั่วไปประชาชนทั่วไป สามารถที่จะเข้าถึง คืออย่างที่วันนี้เราแสดงใช่ไหมเห็นไหมคะ แบบว่า..คนดูเนี่ยเขาแบบจ้องไม่ยอมกลับบ้านเลยคือ ปกติเราเวลาเราดูดนตรีไทยที่เมืองไทย หรือดูนาฏศิลป์ที่เมืองไทยมันอาจจะเป็นไม่เป็นอย่างนี้นะคะ คือเรานำเสนออีกแบบหนึ่ง คือ ..ก็ภูมิใจนะคะว่าทำให้คนอเมริกันซึ่งไม่มี แบ็คกราวน์ (ที่มาที่ไป) เรื่องวัฒนธรรมไทยเลย สามารถที่จะเข้าถึง สามารถที่จะเอนจอย(สนุกสนาน) การแสดงของเราได้ค่ะ" ผู้ร่วมก่อตั้งคณะนาฎศิลป์โสมาภา กล่าว

“..เราอยากจะให้เขาเห็นความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความหลากหลายของทางวัฒนธรรมในประเทศไทย คือเรานำเสนอทั้งเพลงที่เป็นเพลงที่ใช้ในพระราชพิธี เพลงในพิธีสงฆ์ เพลงชาวบ้าน ในเวลาเขามีบวชนาค เพลงที่ใช้ใน ทุกๆวันของชาวบ้านน่ะค่ะ แล้วก็เป็นถึงเป็นเพลงพวก เป็นโฟล์ค เพลงพวกพื้นบ้านของภาคต่างๆของประเทศไทย” สุธีรา บอกกับ วีโอเอ ไทย ถึงการเตรียมการแสดงในคอนเสิร์ตครั้งนี้

โอกาสครั้งประวัติศาสตร์ในสถานที่อันทรงเกียรติ

อาจารย์ อานันท์ นาคคง นักมานุษยดุริยางควิทยา คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ใช้โอกาสในการเดินทางมาทำวิจัย และบันทึกข้อมูลด้านดนตรีไทยในต่างประเทศ โดยได้รับเชิญให้ร่วมแสดงในครั้งนี้ด้วย บอกถึงความสำคัญของการแสดงครั้งประวัติศาสตร์เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมไทยในโอกาสนี้

อ.อานันท์ นาคคง นักมานุษยดุริยางควิทยา คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

“ผมคิดว่ามันเป็นประวัติศาสตร์ ที่สำคัญมากๆในเรื่องของการเผยแพร่วัฒนธรรมไม่ว่าจะเป็นชาติไหนก็ตามในอเมริกาแล้วก็ในสถานที่ที่ถือว่ามีเกียรติมากๆคือ ที่หอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ (The Library of Congress) นอกจากจะเป็นเรื่องของการแสดงสดแล้ว ภารกิจของการเก็บข้อมูลที่เป็นงานหอสมุด (Library) งานที่เป็น อาไคร์ฟ (เก็บเอกสารสำคัญ) ของเขาคือก็ได้ติดตามพัฒนาการของหอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ มาพอสมควรเกี่ยวกับเรื่องภารกิจของการที่จะเก็บความรู้ต่างๆนะครับเกี่ยวกับผู้คนที่เข้ามาในสหรัฐอเมริกา แล้วก็รู้สึกดีใจมากๆที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่ศิลปะวัฒนธรรมดนตรีและนาฏศิลป์ไทยครั้งนี้ครับ”

ภารกิจของศูนย์อเมริกันโฟล์คไลฟ์ ที่มุ่งอนุรักษ์และนำเสนอ ความงามแห่งวิถี ประเพณี พื้นบ้านของผู้คนหลายวัฒนธรรม หลากเชื้อชาติบนแผ่นดินอเมริกา
ดักลาส พีช (Douglas Peach) ผู้เชี่ยวชาญแห่ง American Folklife Center แห่งหอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ

ด้าน ดักลาส พีช (Douglas Peach) ผู้เชี่ยวชาญแห่ง American Folklife Center แห่งหอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ บอกว่า ดนตรีนาฎศิลป์ไทยที่งดงาม ตอบโจทย์ ภารกิจของศูนย์อเมริกันโฟล์คไลฟ์ ที่มุ่งอนุรักษ์และนำเสนอ ความงามใน วิถี ประเพณี พื้นบ้านของผู้คนหลายวัฒนธรรม หลากเชื้อชาติบนแผ่นดินอเมริกา และสร้างความประทับใจอย่างมากต่อผู้ชม

Douglas D. Peach (Doug), Folklife Specialist at the American Folklife Center.

คณะนาฎศิลป์โสมภา เริ่มก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.1999 โดยกลุ่มศิลปินที่ฝึกฝนและร่ำเรียนด้านการฟ้อนรำไทย รวมตัวเปิดการสอน และรับแสดงนาฏศิลป์ เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมไทยในอเมริกา ก่อนจะเริ่มผสมผสานการเล่นดนตรีไทยแบบร่วมสมัยควบคู่ไปกับการฟ้อนรำเพื่อความหลากหลายมากขึ้น โดยชื่อ "โสมาภา" แปลว่า ผู้ซึ่งดื่มน้ำโสม จนบังเกิดความอิ่มเอมใจ เปรียบกับผู้ที่มาเรียนรู้ศิลปะ นาฎศิลป์ ดนตรีวัฒนธรรมไทยแล้วได้เข้าใจและรับรู้ถึงคุณค่าในมรดกที่สืบทอดมายาวนาน